พาณิชย์เผย การส่งออกเดือนกรกฎาคม 2563 ติดลบ 11.37% ได้ทองคำช่วยพยุงและตลาดสหรัฐฯ ที่โตต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้าติดลบ 26.38% เกินดุลการค้า 3,343.2 ล้านดอลลาร์ ย้ำจากนี้เข้าโหมดฟื้นตัว หลังผ่านจุดต่ำสุดแล้วในเดือนมิถุนายน ส่วนทั้งปีคาดติดลบ 8-9%
พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกรกฎาคมว่า การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 18,819.5 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 11.37% ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี (มกราคม-กรกฎาคม) มีมูลค่า 133,162.4 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.72%
ด้านการนำเข้า เดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 15,476.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 26.38% ขณะที่ 7 เดือนแรกมีมูลค่า 119,118.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 14.69% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคมเกินดุล 3,343.2 ล้านดอลลาร์ และ 7 เดือนแรกเกินดุล 14,044.2 ล้านดอลลาร์
โดยการส่งออกในเดือนกรกฎาคมมีการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า และคาดว่าจะทำให้การส่งออกของทั้งปีติดลบไม่ถึง 2 หลัก โดยปีนี้คาดว่าการส่งออกจะติดลบเพียง 8-9% เท่านั้น หรือมีมูลค่าประมาณกว่า 2.2 แสนล้านดอลลาร์
“การส่งออกในเดือนกรกฎาคม ภาพรวมพบว่าสินค้าหลายรายการอยู่ในช่วงการฟื้นตัว โดยเฉพาะทองคำที่กลับมาขยายตัวตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้ามีทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า” พิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับการส่งออกรายตลาด มูลค่าการส่งออกเกือบทุกตลาดหดตัวในอัตราที่น้อยลง สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
รวมถึงการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 17.8% ขณะที่การส่งออกไปจีนกลับมาหดตัวเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ รวมทั้งปัญหาอุทกภัยในแหล่งการผลิตสำคัญอย่างอู่ฮั่น
พิมพ์ชนกกล่าวว่าสำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ภาพรวมการส่งออกยังหดตัวจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในตลาดสำคัญ พบว่าสินค้าไทยหลายรายการมีศักยภาพที่จะสามารถผลักดันการส่งออกของไทยให้กลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งไทยมีความสามารถในการผลิต
นอกจากนี้ยังมีความได้เปรียบในด้านความปลอดภัยของอาหารสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้สินค้าอาหารของไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว การหดตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในระยะต่อไป
รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์
เรียบเรียง: สุรเมธี มณีสุโข
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์