“ก็ไม่ผิดค่ะ แต่พี่สั่งได้ดีกว่านี้”
“มันก็ 30 ปีแล้วนะพี่ ไม่เบื่อเหรอ”
“น้องตาลอยแล้วแม่ แม่ต้องปลูกฝังจินตนาการให้น้องด่วน”
ประโยคกึ่งจริงกึ่งเล่นที่ทั้งตลก ทรงพลัง และสอดแทรกประเด็นสำคัญที่มากกว่าการโฆษณา เมื่อออกจากปากของ ปัญ, เนย, เจนนิษฐ์ และมิวสิค BNK48 ผ่านฝีมือการกำกับของ เต๋อ-นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์
“เนื่องจากมากำกับทีหลังชาวบ้าน และอยากปลดปล่อยตัวเองจาก ฮาวทูทิ้งฯ เลยขอนำพาน้องมาสู่โหมดติงต๊องวอทดะฟักอิสดิสที่ตัวเองไม่ได้ทำซะนาน”
เต๋อโพสต์สเตตัสบอกความรู้สึกที่ได้กำกับโฆษณา ‘GrabFood อิสรภาพทางการกิน’ ตัวนี้เอาไว้แบบติดตลก และแสดงให้เห็นผ่านภาพของปัญในบทพนักงานที่จะไม่ยอมกินเมนูเดิมๆ ตามที่หัวหน้าสั่ง โดยมีเนยเป็นคู่หูจอมเปิ่นที่พูดผิดคิวตลอดเวลา
เจนนิษฐ์ในบทรุ่นน้องผู้ปฏิวัติประเพณีในห้องเชียร์ เพราะเชื่อว่าทุกคนต้องได้กินอาหารที่ดีกว่าขาไก่ร่วมสาบานที่สืบทอดกันมา 30 ปี, มิวสิคที่ไม่อยากให้น้องกลายเป็นเด็กขาดจินตนาการ เพราะกินเมนูคู่คนไทยที่แม่เตรียมให้ทุกวัน รวมทั้งเฌอปรางในบท ‘ไรเดอร์’ ที่เอาอาหารมาส่งในตอนท้าย
ถึงแม้จะทิ้งช่วงจากงาน Girls Don’t Cry นานถึง 2 ปี และเจ้าตัวมักจะปฏิเสธ แต่เต๋อก็แสดงให้เห็นว่าเขาคือหนึ่งในผู้กำกับที่รู้จักธรรมชาติและดึงศักยภาพของสมาชิกวง BNK48 ออกมาได้ดีที่สุด
โดยเฉพาะฉากที่เราชอบมากๆ คือตอนที่ปัญบอกว่า “การ์ดอย่าตก” แล้วเนยพูดผิดคิวขึ้นมา, การตอบโต้กับรุ่นพี่ “แบบนี้เข็มรุ่นไม่รู้จะเอาไปทำไม” ที่ตรงกับคาแรกเตอร์ของ ‘ลูกพี่เจนนิษฐ์’ แบบสุดๆ, พลังพิเศษเรียกโทรศัพท์กลับมาที่มือ แอ็กติ้งแบบซีเรียสแก๊กของมิวสิค และโมเมนต์หลุดๆ ที่เฌอปรางท่องบทผิดในตอนท้าย
ทำให้ ‘GrabFood อิสรภาพทางการกิน’ ทำหน้าที่ของงาน ‘โฆษณา’ ที่สนุก เข้าใจง่าย มีเอกลักษณ์ สร้างการจดจำให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดีไปพร้อมๆ กับ ‘ข้อความ’ บางอย่างที่เรารู้สึกว่าโฆษณาตัวนี้พยายามสื่อสารไปไกลกว่านั้น ไม่ว่าผู้กำกับจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
นั่นคือบทสนทนาระหว่างหัวหน้า-ลูกน้อง, รุ่นพี่-รุ่นน้อง และแม่-ลูก ที่ฝ่าย ‘ผู้ใหญ่’ เปิดใจยอมรับฟังข้อเสนอของอีกฝ่าย และรับรู้ถึงปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานานทันทีโดยไม่มีความโกรธแค้น
“นี่เราสั่งข้าวเที่ยงน่าเบื่อจนน้องต้องเตือนสติแล้วเหรอเนี่ย”
“เออ จริงด้วยว่ะ เพิ่งคิดได้”
“ฉันหลงลืมที่จะฟังเสียงของลูก นี่ฉันเป็นแม่ที่ไม่ดีใช่ไหม”
ในช่วงแรกทั้งหัวหน้า รุ่นพี่ และแม่ ยังสั่งอาหารตามแบบเดิมๆ เพราะการเปิดใจเปลี่ยนแปลงจากความคิดที่ยึดเอาไว้เป็นเวลานานไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ และทุกคนก็ยินดีที่จะรอให้ฝ่ายผู้ใหญ่ค้นพบทางเลือกใหม่ๆ (ยกเว้นฝั่งแม่ ผู้ใหญ่สูงสุดที่อาจต้องยัด ‘ตัวช่วย’ เข้าไปบ้าง) ได้ในที่สุด
โฆษณาตัวนี้มี ‘อาหาร’ เป็นจุดศูนย์กลาง ใช้สมาชิก BNK48 เป็นตัวส่งสารถึงหลายๆ ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่เรื่องการกินของซ้ำๆ ที่อาจขยายไปได้ถึงความขัดแย้งในที่ทำงาน, กิจกรรมรับน้องที่สืบทอดต่อกันมา ไปจนถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันในครอบครัวระหว่างคนสองเจเนอเรชัน และความขัดแย้งอีกมากมายที่เกิดขึ้นในสังคม
แต่อย่างน้อยที่สุด ความขัดแย้งทุกอย่างจะเริ่มคลี่คลายไปได้ ถ้าทุกฝ่ายเริ่มต้นจากการ ‘รับฟัง’
รับชมโฆษณา ‘GrabFood อิสรภาพทางการกิน’ ได้ที่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์