เรื่องราวความประทับใจจาก Money Coach ที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 จนยกให้พระองค์เป็นครูทางการเงิน พร้อมเล่าเคสตัวอย่างของการปรับใช้หลักคิดจากพระบรมราโชวาทและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงหยิบยกพระราชดำรัสที่สอนเรื่องการเงินให้กับคนไทยอย่างเฉียบแหลมและเรียบง่าย
ครูทางการเงินของ Money Coach
ตั้งแต่โตขึ้นมาและจำความได้ ช่วงประมาณ 2 ทุ่มจะมีข่าวในพระราชสำนักเป็นประจำทุกวัน เห็นพระองค์ทรงงานเป็นประจำทุกวันแทบจะไม่เคยพัก จนโตขึ้น Money Coach เองได้เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโอกาสใกล้พระองค์ที่สุดก็คือเมื่อเรียนปี 1 ได้อยู่ในซองของขบวนรับเสด็จ พระองค์เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรให้กับรุ่นพี่ เราเป็นเด็กรุ่นน้องที่เข้าแถวอยู่ในซอง พอรถยนต์พระที่นั่งของพระองค์เคลื่อนผ่านก็ก้มลงกราบ ถือว่าเป็นความภูมิใจเล็กๆ ครั้งหนึ่งซึ่งเราในฐานะคนไทยได้ทำ
ในตอนที่รับเสด็จก็ดีใจระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่คาดหวังก็คือพอเรียนจบ เรามีโอกาสรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระองค์ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าใครเรียนมหาวิทยาลัยในยุคนั้นก็มีความคาดหวังด้วยกันทั้งสิ้นว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จทางการเรียนแล้วก็อยากรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระองค์ด้วย
เรื่องพลิกผันนิดหนึ่งตรงที่ Money Coach เป็นคนที่ไม่ตั้งใจเรียน เลยเรียนนานกว่าเพื่อน เพื่อนๆ ที่ใช้เวลา 4 ปี Money Coach เองจบภายใน 6 ปี แต่สิ่งที่ทำให้ตกใจมากคือปีก่อนหน้าที่จะเรียนจบก็มีข่าวว่าพระองค์ทรงพระประชวรและอาจไม่เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรให้รุ่นต่อไป ตอนนั้นรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะโอกาสอยู่ในมือเราแล้ว แค่เรียนให้จบ 4 ปีตามคนอื่น แต่เราทำพลาดเอง เพราะเรียนจบช้า ทำให้ไม่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระองค์
เมื่อถึงช่วงที่ใกล้รับปริญญาจริงๆ ก็มีข่าวดีว่าพระองค์จะเสด็จฯ มาพระราชทานให้ จำได้ว่าตื่นเต้นและดีใจมาก เมื่อถึงช่วงพิธีซึ่งจะได้ใกล้ชิดพระองค์ วันนั้นพระองค์พระราชทานพระบรมราโชวาท จำได้ว่าคือวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 Money Coach ตั้งใจฟังมาก เพราะเป็นเหมือนพรที่พระองค์พระราชทานให้กับเรา ไม่ใช่เพียงแค่แสดงความยินดีที่เราเรียนจบ แต่เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต เป็นหลักในการทำงาน ดูแลชีวิตของตนเอง
ใจความสำคัญของพระบรมราโชวาทวันนั้นคือ
“การรู้จักประมาณตน ได้แก่การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านใด เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวาย ศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้สูงยิ่งขึ้น”
Money Coach จำพระบรมราโชวาทนี้ได้ขึ้นใจ เพราะรู้สึกดีใจที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร และทุกครั้งที่พบกับความวุ่นวาย พระบรมราโชวาทนี้ก็จะย้อนกลับมาเตือนใจตลอด
การไม่ประมาณตน หยิบจับหลายสิ่งอย่างพร้อมกัน มักจะทำให้ชีวิต Money Coach เกิดปัญหาแทบทุกครั้ง ทุกวันนี้เวลาทำอะไรจะเริ่มทำเท่าที่รู้ เท่าที่ภูมิปัญญาจะไปถึง แต่เมื่อทำแล้วก็ไม่หยุดที่จะขวนขวายหาความรู้ให้เก่งขึ้น มีภูมิปัญญามากขึ้น เพื่อให้ทำในสิ่งที่ตั้งใจให้ดีขึ้นด้วย
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการดำรงชีวิต
ตอนแรกเมื่อแนวคิดการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ถูกเผยแพร่ออกมา สื่อหรือสำนักพิมพ์บางแห่งยังเข้าใจเรื่องนี้ผิด เคยมีสำนักพิมพ์หนึ่งมาสัมภาษณ์ Money Coach ลักษณะเป็นโพล ถามว่าถ้าเกิดเราซื้อมือถือเครื่องละ 8,000 บาท ถือว่าพอเพียงหรือไม่ ทั้งที่จริงๆ แล้วคำว่าพอเพียงไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาข้าวของที่ใช้ หรือไม่ก็แทบทุกครั้งที่เราเห็นสื่อของภาครัฐในยุคหนึ่ง และอาจรวมถึงยุคปัจจุบัน เมื่อจะสื่อสารคำว่าพอเพียงก็จะมีภาพสวน ไร่ นา ทั้งที่จริงคำว่าพอเพียงไม่ได้หมายถึงชีวิตเกษตรกรเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงคนไทยทั้งประเทศ
เมื่อ Money Coach เข้ามาศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังถึงได้รู้ว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครอบคลุมได้ทั้งลึกและกว้าง ลึกซึ้งเกินกว่าคำว่าจนหรือรวย และกว้างขวางครอบคลุมคนไทยได้ทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย
3 ห่วง 2 เงื่อนไขตามหลักแนวคิดนี้คือการดำรงชีวิตบนหลักของความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ภายใต้สองเงื่อนไขสำคัญคือความรู้คู่คุณธรรม
Money Coach สอนเรื่องการเงินผู้คนมากมาย ยังไม่เห็นอะไรที่ดี ที่เจริญงอกงามจะหลุดไปจาก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ได้เลย
ทุกครั้งที่คนเราต้องตัดสินใจเรื่องราวทางการเงินหรือเรื่องของชีวิต เราสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารการตัดสินใจได้แทบทั้งหมด
เคสตัวอย่างการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการดำรงชีวิต
ตัวอย่างแรก เจนอยากเป็นเจ้าของรถคันหนึ่งเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางไปทำงานหรือใช้สอยตามอเนกประสงค์ แต่ติดที่ไม่สามารถซื้อรถได้ด้วยเงินสด จึงคิดถึงการผ่อนรถเพื่อให้ได้มาซึ่งรถที่เธอต้องการใช้ ถ้าเราตั้ง 3 คำถามง่ายๆ ก็จะทำให้การตัดสินใจของเจนดีขึ้น และทำให้การตัดสินใจไม่เป็นภาระต่อชีวิต
คำถามที่ 1 รถยนต์มีความจำเป็นสำหรับเจนจริงหรือเปล่า ทำไมต้องมีรถยนต์เป็นของตัวเอง นี่คือหลักของ ความมีเหตุผล
คำถามที่ 2 ถ้ารถยนต์มีความจำเป็นจริงๆ รถรุ่นไหน ไซส์ไหน ที่จะทำให้การเงินของเจนไม่เป็นภาระจนเกินไป และพร้อมสำหรับการผ่อนรถในระดับไหน นี่คือหลักคิดเรื่อง พอประมาณ
คำถามที่ 3 รายได้หายไปหรือมีรายจ่ายอื่นๆ เพิ่มเข้ามาจากในปัจจุบัน เจนมีแผนรับมือกับสภาวะดังกล่าวเพื่อให้สามารถยังผ่อนรถได้ตามปกติ เช่น มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้บ้างหรือไม่ นี่คือแนวคิด การมีภูมิคุ้มกัน
ถ้าตอบได้ทั้ง 3 ข้อ ต่อให้ต้องผ่อน การซื้อรถของเจนก็ถือว่าเพียงพอได้
ตัวอย่างที่ 2 จอมมีเงินก้อนหนึ่ง อยากเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนให้งอกเงย มีคนแนะนำจอมให้ลงทุนในหุ้น โดยให้เหตุผลว่าหุ้นให้ผลตอบแทนในระยะยาวสูงที่สุด จอมควรลงทุนตามที่เพื่อนแนะนำหรือไม่ ถ้าตั้ง 3 คำถามเหมือนเดิม
คำถามที่ 1 เป้าหมายการลงทุนของจอมคืออะไร ที่ต้องการให้เงินงอกเงยนั้นแค่ไหน ระดับใด เพราะอะไร นี่คือหลักของความ มีเหตุผล
คำถามที่ 2 กับเป้าหมายการลงทุนที่ต้องการ จอมควรลงทุนผ่านเครื่องมือใด และเขามีความรู้ในสิ่งที่เลือกลงทุนแค่ไหน อย่างไร ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มหรือไม่ นี่คือหลักคิดเรื่องของ พอประมาณ
คำถามที่ 3 จอมควรจัดสรรเงินลงทุนอย่างไร ความเสี่ยงที่จะต้องเจอมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากการลงทุนเกิดผิดพลาดหรือไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ จอมมีแผนรับมืออย่างไร นี่คือหลักคิดเรื่องของ การมีภูมิคุ้มกัน
มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน ทั้ง 3 ข้อนี้ ถ้าเราหาคำตอบให้กับตัวเองได้ก่อนเริ่มต้นหรือก่อนการลงทุน มันจะทำให้การตัดสินใจของเราพอเหมาะพอสมกับตัวเอง หรืออยากเอาไปประยุกต์ใช้กับการตั้งเป้าหมายของชีวิตก็ได้ เช่น จุกตั้งใจอยากจะศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จึงเริ่มต้นวางแผนและลงมือทำตามความใฝ่ฝันของตัวเอง
คำถามที่ 1 ทำไมจุกถึงอยากเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เรียนด้านนี้ดีอย่างไร ถ้าได้เป็นแล้วจะทำอะไร นี่คือหลักคิดของความ มีเหตุผล
คำถามที่ 2 รู้หรือยังว่าถ้าสอบเข้าและได้เป็นวิศวกรจะต้องมีความรู้อะไรบ้าง ระดับไหน รู้หรือยังว่าตัวเองมีความรู้แค่ไหน เพียงพอหรือไม่ ต้องเรียนเสริมอะไรและด้านอื่นๆ อย่างค่าใช้จ่าย ต้องเตรียมพร้อมแค่ไหน นี่คือหลักคิดเรื่องของ พอประมาณ
คำถามที่ 3 อัตราแข่งขันของสาขานี้เป็นอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร หากสอบตรงไม่ได้ มีทางเลือกอื่นๆ ที่จะได้เรียนเป็นวิศวกรได้หรือเปล่า ถ้าพลาดปีนี้ มีแผนในปีหน้าอย่างไร อันนี้คือหลักคิดเรื่องของการ มีภูมิคุ้มกัน
จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 คำถามเป็นหลักในการสร้างความสำเร็จ เมื่อเปรียบเทียบกับตำราฝรั่งหลายเล่ม คนเราถ้าเริ่มต้นด้วยการมีเหตุผล หรือตรงกับภาษาอังกฤษว่า Strong Why คือถ้าเรามีเหตุผลที่เข้มข้นหรือทรงพลังมากพอ ก็จะเป็นแรงผลักทำให้เรามุมานะและมุ่งมั่นในสิ่งที่เราต้องการ
หลักความพอประมาณจะเป็นเรื่องทักษะความรู้ความสามารถ ตำราฝรั่งพูดกันเป็นประจำว่าคนเราไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เกินขีดความสามารถของตัวเอง หลักพอประมาณของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเรียบง่าย ใช้ภาษาง่ายๆ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังห่างไกลจากจุดที่เรียกว่าความสำเร็จ เราก็ต้องเพิ่มเติมให้กับตนเอง และสุดท้าย เรื่องของการบริหารความเสี่ยง การบริหารความผิดหวัง หากเราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ เรามีแผนหรือวิธีการจัดการอย่างไร ใช้ได้หมดเลยไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายบริหารชีวิต หรือแม้กระทั่งเรื่องการเงิน
คำถามที่ถามในแต่ละข้อยังแตกออกมาได้อีกมากมาย เพียงเรายกหลักคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งเป็นโจทย์ง่ายๆ ก็สามารถทำให้เรื่องเงินๆ ทองๆ หรือแผนการในชีวิตที่เรากำลังตัดสินใจมีหลักคิด หลักปฏิบัติที่ปลอดภัยต่อสถานะทางการเงินและความต้องการของเราได้อย่างมากมาย เพราะฉะนั้นแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้จึงเป็นหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งและทรงคุณค่ามากกว่าที่หลายคนเข้าใจ และควรที่จะยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อทำให้ชีวิตเรามีสุขภาพชีวิตที่ดี ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพการเงิน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับเรื่องการเงิน
เรื่องของการเงินกับพระองค์มีอีกเรื่องที่ประทับใจมาก แต่เป็นเรื่อง Money Coach มาทราบภายหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคต และกลับมาไล่เรียงศึกษาเรื่องที่พระองค์เคยตรัส เคยพระราชทานพระบรมราโชวาทให้กับคนไทย พบว่ามีเรื่องราวดีๆ ซ่อนอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ซึ่ง Money Coach ก็เพิ่งได้มาเข้าใจมันเมื่อไม่นานมานี้เอง
มีความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทของพระองค์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เชื่อว่าปีนี้เป็นปีที่หลายคนจำได้ชัดเจน เพราะเป็นปีที่ประเทศไทยประสบวิกฤตทางการเงินอย่างหนักหน่วง เมื่อได้มาย้อนอ่านพระราชดำรัส พบว่าพระราชดำรัสวันนั้นเป็นเรื่องการเงินล้วนๆ เป็นเรื่องที่แม้กระทั่งโค้ชการเงินอ่านครั้งแรกก็คร่าวๆ เกินไป จึงเข้าใจได้ไม่ลึกซึ้ง มีข้อความตอนหนึ่งซึ่งประทับใจมาก และรู้สึกผิดอย่างมหันต์ที่อ่านข้อความนี้ข้ามๆ ไป ความว่า
“เมื่อ 40 กว่าปี มีผู้หนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมาขอเงิน ที่จริงก็เคยได้ให้เงินเขาเล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่อยๆ เขาบอกไม่พอ เขาก็ขอยืมเงิน เขากู้เงิน เมื่อเขาขอกู้เงินก็บอกว่า เอ้า ให้ แต่ขอให้เขาทำบัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย รายรับก็คือเงินเดือนของเขา ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย และเงินที่อุดหนุนเขา ส่วนรายจ่ายก็เป็นของที่ใช้ในครอบครัว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ครั้งนั้นไม่เข้าใจ ไม่เคยเห็น คือไม่เคยทราบ มีรายการหนึ่งบอกว่าค่าแชร์ แล้วอีกตอนหนึ่งก็มีค่าแชร์อีก ถามเขาว่าแชร์คืออะไร เขาก็อธิบายว่าเป็นเงินที่จ่ายให้กับเจ้ามือ จ่ายให้เขาทุกเดือน เมื่อเดือดร้อนก็ขอประมูลแชร์ได้ แต่การประมูลนี้ก็หมายความว่า สมมติว่าแชร์หนึ่งต้องเสียเดือนละ 100 บาท เขาก็จะได้รับคล้ายๆ เงินกู้ ควรจะได้เงิน 1,200 บาทต่อปีหนึ่ง โดยให้ 100 บาทต่อเดือน ก็ควรจะดี แต่เขาไม่ได้รับ 1,200 บาท เขารับราวๆ 800 บาท หรือ 700 บาทเท่านั้น แล้วแต่จะประมูลได้ คนที่มีเงินเขาจะไม่ประมูล เขาทิ้งไว้ในแชร์นั้น ถึงเวลาเขาก็จะได้เงินกลับคืนมาเต็มเม็ดเต็มหน่วยบวกดอกเบี้ย ถามเขาว่าทำอย่างนี้สามารถที่จะหมุนเงินได้หรือเปล่า แล้วก็ถามเขาว่าทำไมจ่ายค่าแชร์แล้วยังจ่ายแชร์ซ้ำอีกทีหนึ่ง เขาบอกว่าสำหรับจ่ายแชร์เดือนนั้น เขาต้องออกมาทำแชร์สัปดาห์คือ 7 วัน 7 วันนี้เขาก็เปียแชร์มาสำหรับไปใช้ค่าแชร์เดือน เขาก็นึกว่าเขาฉลาด ความจริงแชร์นี่ไม่ใช่เฉพาะคนนี้เท่านั้น แต่มีไปทั่วทุกแห่ง ทั้งทางราชการ ทุกกระทรวงทบวงกรมก็มี ทุกบริษัท ทุกส่วน แม้จะเอกชนเขาก็มีแชร์ได้ บอกให้เขาเลิกแชร์ เลิกแล้วให้ทำบัญชีต่อไป ทีหลังเขาทำบัญชีมา เขาไม่ขาดทุนแล้ว เขาสามารถที่จะมีเงินพอใช้ เพราะบอกให้เขาทราบว่ามีเงินเดือนเท่าไร จะต้องใช้ภายในเงินเดือนของเขา การทำแชร์นี้เท่ากับเป็นการกู้เงิน การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ทำไม่รายได้นั้น ไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงิน และทำให้มีรายได้ได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”
นี่เป็นข้อความบางส่วนจากพระราชดำรัสในวันนั้น ที่อ่านแล้วรู้สึกสะดุดก็คือข้อความสุดท้าย ‘การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ’ ที่บอกว่าสะดุดใจเพราะ Money Coach เป็นคนแปลหนังสือดังเล่มหนึ่งชื่อ Rich Dad Poor Dad หรือ พ่อรวยสอนลูก ซึ่งหลักคิดที่โด่งดังของเขาก็คือการนำเสนอแนวคิดการแยกแยะทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมกับสอนด้วยว่าคนเราไม่ควรกลัวการเป็นหนี้ เพราะในโลกนี้ก็ยังมีหนี้ที่ดีและหนี้ที่ไม่ดี คนสมัยก่อนมักเตือนกันว่าการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในโลกการเงินยุคใหม่ การเป็นหนี้อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ถ้าเราสร้างหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เหมือนประโยคสุดท้ายในพระราชดำรัสเมื่อสักครู่ ที่สะดุดใจก็เพราะว่าหนังสือ พ่อรวยสอนลูก โรเบิร์ต คิโยซากิ เขียนขึ้นใน ค.ศ. 1997 ตรงกับ พ.ศ. 2540 แต่เขียนและพิมพ์จำหน่ายเอง จึงยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จนได้ออกรายการของโอปราห์ วินฟรีย์ ใน ค.ศ. 1999 จึงดังเป็นพลุแตก และเซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์ใหญ่อย่างวอร์นเนอร์บุ๊กจนเผยแพร่ไปทั่วโลก และหนังสือเล่มนี้ก็เข้ามาในเมืองไทยประมาณ ค.ศ. 2001 หรือ พ.ศ. 2544 และเป็นหลักคิดที่คนไทยนำมาสอนกันต่อเนื่องยาวนาน เวลาสอนก็จะอ้างอิงถึงหนังสือ พ่อรวยสอนลูก ที่รู้สึกเสียใจก็คือพระองค์ทรงสอนเรื่องนี้ให้กับคนไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2540 แล้ว พูดก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะเข้ามาในเมืองไทยเสียอีก แต่เพราะค่อยมีใครหยิบหรือนำแนวคิดของพระองค์มาปรับใช้ ทำให้ปัจจุบันหนี้จนก็ยังเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทยเสมอมา
หากย้อนกลับไปอ่านพระราชดำรัสใน พ.ศ. 2540 กันอีกสักครั้ง พระองค์สอนเรื่องการเงินส่วนบุคคลเยอะมาก ตัวอย่างที่หยิบมาเป็นเพียงหนึ่งกรณีศึกษาจากกรณีจริงที่มีอยู่ถึง 5 กรณีศึกษา อาจจะด้วยเหตุว่าปีนั้นเป็นปีที่ประเทศไทยกำลังมุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นเสือเศรษฐกิจ แต่พลาดจนเศรษฐกิจต้องล้มระเนระนาด เนื้อความในพระราชดำรัสจึงมุ่งเน้นในเรื่องนี้เป็นพิเศษ และพระราชดำรัสในปีนี้พระองค์ยังทรงอธิบายเรื่องความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจการค้ากับเศรษฐกิจพอเพียงไว้อย่างแยบคาย สั้น แต่ชัดเจนและได้ใจความมาก
สำหรับ Money Coach เอง เมื่ออ่านพระราชดำรัสในปีนี้จบ พบว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้เกิดในแผ่นดินของพระองค์ รู้แล้วว่าใครคือพ่อที่สอนให้ลูกรวยได้อย่างเรียบง่าย และผลักดันเรื่องนี้ให้กับลูกทุกคนได้รับรู้อย่างแท้จริง
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Music Westonemusic.com และณัฐวัฒน์ แสงวิจิตร