กองกำลังทหารมาลีที่ก่อรัฐประหาร โค่นอำนาจประธานาธิบดี อิบราฮิม บูบาการ์ คีตา ประกาศคำมั่น เตรียมจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนชุดเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะจัดการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศ
โดยการก่อรัฐประหารดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางกระแสประณามจากนานาชาติ ขณะที่ประธานาธิบดีคีตายอมประกาศลาออกและยุบสภาฯ เพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือด หลังถูกกองทัพควบคุมตัวเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา (18 สิงหาคม)
“หากวันนี้กองทัพต้องการให้สิ่งนี้ยุติลงด้วยการแทรกแซงของพวกเขา ผมมีทางเลือกจริงๆ หรือ ผมไม่เกลียดชังใคร ความรักที่มีต่อประเทศของผมไม่อนุญาตให้ผมทำเช่นนั้น ขอพระเจ้าคุ้มครองพวกเรา” ประธานาธิบดีคีตากล่าว
พันเอก อิสมาเอล วากี รองเสนาธิการกองทัพอากาศ และโฆษกคณะรัฐประหาร ซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อความอยู่รอดของประชาชน’ แถลงผ่านทางโทรทัศน์วานนี้ (19 สิงหาคม) ให้เหตุผลในการก่อรัฐประหารว่า เพื่อป้องกันประเทศเข้าสู่วิกฤต และยืนยันว่ากองทัพไม่ต้องการอยู่ในอำนาจ
“เราสนใจในเสถียรภาพของประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่เปิดทางให้มาลีมีความเข้มแข็งได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม” พันเอก วากี กล่าว
พร้อมกันนี้เขายังเชิญภาคประชาสังคมและกลุ่มการเมืองเข้าร่วมสร้างเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ก่อนจะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ที่น่าเชื่อถือตามระบอบประชาธิปไตย ผ่านโรดแมปที่จะเป็นรากฐานสำหรับมาลียุคใหม่
“ความตึงเครียดทางสังคมและการเมืองได้บ่อนทำลายการทำงานอย่างเหมาะสมของประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว มาลีต้องตกอยู่ในความสับสนวุ่นวายในแต่ละวัน ด้วยความโกลาหลและความไม่มั่นคง เพราะความผิดของผู้ที่รับผิดชอบชะตากรรมของชาติ ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ได้ดำเนินไปด้วยความพึงพอใจหรือความอ่อนแอของผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งต้องรับประกันเสรีภาพและความมั่นคงของประชาชน” พันเอก วากี ระบุ พร้อมประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 21.00-05.00 น. และสั่งปิดน่านฟ้าและพรมแดนทางบกทั้งหมด
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานชะตากรรมของประธานาธิบดีคีตาวัย 75 ปี โดยสหภาพแอฟริกา (AU) มีมติให้ระงับสมาชิกภาพของมาลี และเรียกร้องให้ฟื้นฟูการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและปล่อยตัวประธานาธิบดีคีตา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด
ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประณามการก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นว่าเป็นการก่อกบฏและเรียกร้องให้กองทัพมาลีปล่อยตัวประธานาธิบดีคีตาและเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกควบคุมตัวในทันที พร้อมชี้ว่าทหารทั้งหมดควรกลับเข้ากรมกองโดยเร็ว
สำหรับประธานาธิบดีคีตานั้นชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในปี 2018 ที่ผ่านมา แต่นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเขาต้องเผชิญการประท้วงใหญ่จากประชาชนที่ออกมาเดินขบวนต่อต้านและกล่าวหาว่ารัฐบาลมีการคอร์รัปชันและบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด ขณะที่ปัญหาด้านงบประมาณและความขัดแย้งกับกลุ่มก่อการร้ายชาวมุสลิมก็เป็นชนวนให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในกองทัพ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: