×

Grab ประเทศไทย เผยความคืบหน้ากรณีพาร์ตเนอร์คนขับประท้วง เตรียมเปลี่ยนข้อกำหนด พัฒนาการให้บริการ

โดย THE STANDARD TEAM
18.08.2020
  • LOADING...

จากกรณีที่พาร์ตเนอร์คนขับ GrabBike (ให้บริการด้วยรถจักรยานยนต์) ในเขตกรุงเทพฯ ได้รวมตัวกัน ณ อาคารธนภูมิ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ Grab ประเทศไทย โดยได้ขอเข้าพบผู้บริหารเพื่อยื่นข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับงานเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 Grab ประเทศไทย ได้ออกจดหมายเพื่อชี้แจงกับพาร์ตเนอร์คนขับถึงประเด็นต่างๆ โดยระบุว่าบริษัทรับทราบและเข้าใจถึงประเด็นปัญหาหรือข้อจำกัดบางประการที่เกิดขึ้น จึงได้พิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนข้อกำหนดหรือหลักปฏิบัติบางประการ โดยยังคงยึดถือความปลอดภัยและคุณภาพเป็นสำคัญ โดยการปรับเปลี่ยนมีใจความสำคัญดังนี้

 

ประเด็นการแบ่งพื้นที่และการรับงานของพาร์ตเนอร์คนขับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล – ได้ประกาศยกเลิกการแบ่งเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี โดยได้รวมทั้ง 3 จังหวัดให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันเหมือนเดิม พร้อมย้ำว่าจะไม่มีการแบ่งเขตอีกหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงเทคนิคได้ ขณะเดียวกัน Grab ได้เริ่มปรับปรุงระบบเพื่อให้พาร์ตเนอร์คนขับในเขตกรุงเทพฯ ที่ให้บริการอยู่ในพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐม และพัทยา สามารถเลือกเปิด-ปิดการรับงาน หรือเลือกประเภทของการให้บริการได้ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

ประเด็นการปรับรูปแบบการจัดส่งพัสดุผ่านบริการ ‘GrabExpress’ – ปรับรูปแบบของบริการดังกล่าวโดยเสนอ 2 ทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการคือ 1. จัดส่งพัสดุแบบต้องการกระเป๋า และ 2. จัดส่งพัสดุแบบไม่ต้องการกระเป๋า โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมเป็นต้นไป ทั้งนี้ Grab ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ก่อนหน้านี้ได้กำหนดให้พาร์ตเนอร์คนขับต้องมีกระเป๋าเพื่อบรรจุและจัดเก็บพัสดุให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและส่งเสริมความปลอดภัยในระหว่างการขับรถ

 

ประเด็นด้านความคุ้มครองระหว่างการรับงาน – ย้ำว่าเป็นผู้ให้บริการที่ให้สิทธิประโยชน์ในด้านประกันอุบัติเหตุสูงที่สุดและครอบคลุมจำนวนคนขับมากที่สุดเมื่อเทียบกับแอปพลิเคชันอื่น โดยคุ้มครองพาร์ตเนอร์คนขับทุกคน ไม่มีการจำกัดระดับ ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาทเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และสูงสุด 200,000 บาทเมื่อเสียชีวิต

 

ประเด็นด้านระบบรับงานจัดส่งอาหารแบบจัดส่งหลายจุด หรือ ‘งานแบช’ – อธิบายถึงที่มาของระบบดังกล่าวซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเวลาที่มีจำนวนผู้สั่งอาหารมากกว่าจำนวนคนขับ โดยเปิดให้พาร์ตเนอร์คนขับส่งอาหารได้หลายงานในเส้นทางเดียวกัน แต่จากข้อกังวลที่เกิดขึ้น Grab จึงได้ริเริ่มโครงการประสานงานให้ร้านอาหารเริ่มเตรียมอาหารก่อนที่พาร์ตเนอร์คนขับจะเดินทางไปถึง เพื่อย่นระยะเวลาในการรอและจัดส่งไปถึงมือลูกค้า และพร้อมพัฒนาระบบงานในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง

 

ประเด็นด้านการระงับสัญญาณการให้บริการ (หรือการแบน) และศูนย์บริการลูกค้า – ชี้แจงถึงนโยบายด้านคุณภาพและความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีการแบนพาร์ตเนอร์คนขับ หากได้รับข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม หรือกระทำผิดหลักปฏิบัติและจรรยาบรรณของคนขับ แต่พาร์ตเนอร์คนขับสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตลอดเวลา โดยบริษัทจะเร่งขั้นตอนการตรวจสอบให้เร็วขึ้น ส่วนในด้านศูนย์บริการลูกค้า (Call Center) Grab ได้จัดให้มีช่องทางติดต่อนอกเวลาทำการ เช่น สายด่วน (0 2021 2530) ในกรณีฉุกเฉินหรือมีอุบัติเหตุ หรือผ่านทางศูนย์ช่วยเหลือในแอปพลิเคชันคนขับ

 

นอกจาก 5 ประเด็นข้างต้น Grab ยังได้วางแผนที่จะปรับปรุงการติดต่อสื่อสารกับพาร์ตเนอร์คนขับ อาทิ การใช้กลุ่ม Facebook และการจัดประชุมเพื่อพบปะพูดคุยกับกลุ่มพาร์ตเนอร์คนขับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X