×

บทเรียนที่ดีที่สุดที่ ‘บาร์เซโลนา’ จะเรียนรู้ได้จากความปราชัยสุดอัปยศ

15.08.2020
  • LOADING...

ถึงแม้ว่าในความรู้สึกแล้วจะมีบางอย่างที่ชวนให้คล้ายกับโศกนาฏกรรมลูกหนัง ‘มิไนราโซ’ (Mineirazo) ในวันที่ชาวบราซิลทั้งชาติถูกฆาตกรรมทางจิตวิญญาณพร้อมกัน เมื่อต้องทนเห็นเหล่าขุนพล ‘กานารินญา’ ถูกกองทัพอินทรีเหล็กปูพรมยิงถล่มจนย่อยยับคาสนามถึง 7-1 ในเกมรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกเมื่อปี 2014

 

แต่ความปราชัยของบาร์เซโลนาที่โดนบาเยิร์น มิวนิก ถล่มไปถึง 8-2 ไม่ได้ชวนให้รู้สึกเศร้าหรือสะท้อนใจอะไรขนาดนั้นครับ 

 

ในทางตรงกันข้าม มันดูคล้ายเป็นสิ่งที่เรา – ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอลทั่วไปหรือต่อให้เป็นเหล่าบาร์เซโลนิสตา – ต่างพอจะคาดเดากันได้อยู่แล้วว่าแทบไม่มีหนทางเลยที่บาร์ซาจะหยุดทีมที่เล่นฟุตบอลกันได้ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบอย่างบาเยิร์นในเวลานี้ได้

 

นอกจากบาเยิร์นจะมีเกมเพรสซิงที่รวดเร็วดุดันปานพยัคฆ์หนุ่มที่หิวกระหายเลือด เขี้ยวเล็บของพวกเขาก็คมกริบ ตะปบครั้งใด คู่แข่งก็มีอันได้เลือด ได้แผล และแทบทุกรายต้องตายคากรงเล็บนี้เท่านั้น

 

พวกเขาสอนไล่ต้อนบาร์ซา หนึ่งในทีมที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นทีมที่ครองบอลเก่งที่สุดในโลก เทคนิคสูง ชั้นเชิงไม่ต้องพูดถึง ให้กลายเป็นทีมที่ดูกระจอกงอกง่อย ยิ่งเล่นก็ยิ่งเห็นชัดว่าเป็นฟุตบอลที่อยู่กันคนละระดับ

 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบาร์ซา ณ เข็มนาฬิกาเดินไปนี้เป็นทีมที่แย่และเลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปีของสโมสร

 

แม้กระทั่ง ลิโอเนล เมสซี ยังเคยหลุดปากว่าทีมชุดนี้ ‘อ่อนแอ’ หลังพ่ายต่อโอซาซูนา

 

‘เบลากรานา’ ไม่ได้ย่ำแย่เพียงแค่เรื่องของขุนพลที่ลงสนาม แต่แย่ไปทุกจุด ตั้งแต่โค้ชอย่าง กิเก้ เซเตียน ซึ่งกลายเป็นการแต่งตั้งโค้ชที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษของสโมสร ไปจนถึงเหล่าผู้บริหารและประธานสโมสร

 

โดยที่ฝ่ายบริหารกับนักฟุตบอลในทีมเองก็แตกคอกันอย่างชัดเจน จากกรณีเรื่องการปลด เอร์เนสโต บัลเบร์เด ออกจากตำแหน่งเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว ก่อนจะแต่งตั้ง กิเก้ เซเตียน โค้ชที่ไม่มีประสบการณ์ในการคุมทีมใหญ่ แต่ได้โอกาสเพราะชื่นชอบสไตล์ฟุตบอลของบาร์ซามาตั้งแต่ยุคของ โยฮัน ครัฟฟ์ 

 

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีการ ‘โบ้ย’ จากฝ่ายบริหารว่าเป็นความผิดของทีม จนเกิดการปะทะคารมอย่างรุนแรงของเมสซีและเอริก อบิดัล ผู้อำนวยการสโมสรที่เคยเล่นเคียงข้างกัน ก่อนจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองภายในสโมสรที่ทำให้แม้กระทั่งแฟนบอลบาร์เซโลนาเองก็เหนื่อยใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น 

 

มันนำไปสู่ความตกต่ำอย่างรวดเร็วของบาร์ซา ปัญหาต่างๆ ที่เคยถูกซุกอยู่ใต้พรมที่ชื่อว่าความสำเร็จและถ้วยแชมป์เริ่มปรากฏชัด และทำให้ได้เห็นว่าพวกเขาย่ำแย่ในทุกภาคส่วน 

 

บาร์ซาแย่ตรงไหนบ้าง และมีอะไรที่พวกเขาจะได้เรียนรู้จากความปราชัยสุดอัปยศที่บาเยิร์นมอบให้ในคราวนี้

 

บทเรียนใหญ่คือเรื่องของการบริหารทีม ซึ่งเป็นหนึ่งในความแตกต่างที่ชัดเจนของสองสโมสร

 

ความจริงแล้วหากย้อนกลับไปเมื่อราว 1 ปีที่แล้ว สถานการณ์ระหว่างบาร์ซาและบาเยิร์นนั้นคล้ายคลึงกัน คือแม้ทีมจะคว้าแชมป์ลีกได้ในฤดูกาลก่อนหน้า (2018-19) แต่พวกเขาล้มเหลวในฟุตบอลยุโรป และทีมนั้นดูขาดเสถียรภาพ

 

บาเยิร์นนั้นดูย่ำแย่กว่าด้วยซ้ำในช่วงของการเริ่มต้นฤดูกาล พวกเขาตามหลังทีมอย่างโบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และแอร์เบ ไลป์ซิก ซึ่งสุดท้ายแล้วฝ่ายบริหารของสโมสรตัดสินใจที่จะปลด นิโก โควัช โค้ชที่พาทีมเป็นดับเบิลแชมป์ออกไปหลังพ่ายแพ้ต่อไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต อย่างหมดรูป 1-5 ในวันที่ 4 พฤศจิกายนปีที่แล้ว

 

ในเวลานั้นบาเยิร์นก็มองหาตัวเลือกมากมายที่มีอยู่ ซึ่งก็มีข่าวกับกุนซือฝีมือดีหลายคน เช่น อาร์เซน เวนเกอร์ หรือเมาริซิโอ โปเชตติโน แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาให้โอกาส ‘คนใน’ อย่าง ฮันซี ฟลิก ที่เป็นมือขวาของโควัชขึ้นมาคุมทีมชุดใหญ่อย่างเป็นทางการ

 

โธมัส มุลเลอร์ (กลางภาพ) และแซร์จ นาบรี คือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างสายเลือดเก่าและสายเลือดใหม่ของบาเยิร์นที่ทดแทนกันได้พอดี

 

ความคิดแรกคือให้ประคองทีมไปเรื่อยๆ ก่อนเพื่อรอเวลาว่าจะมีโค้ชชั้นนำคนไหนว่างอีกหรือไม่ แต่ฟลิกกลับทำได้ดีกว่าที่ใครหลายคนคิด นอกจากจะค่อยๆ ประกอบชิ้นส่วนของบาเยิร์นที่แตกสลายให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกัน ยังทำทีมให้ก้าวต่อได้ไกลด้วยความเร็วฝีเท้าที่เหลือเชื่อ

 

จากที่แพ้แฟรงค์เฟิร์ตหมดสภาพ วันนี้บาเยิร์นกลายเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลก (น่าจะพูดได้เกือบเต็มปาก) ได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี ทั้งๆ ที่พวกเขาก็ใช้ทีมชุดเดิมที่โควัชเคยใช้นั่นแล

 

เรื่องนี้ตรงกันข้ามกับบาร์ซาที่พวกเขาตัดสินใจปลดบัลเบร์เดจากตำแหน่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังทีมเริ่มสะดุดและมีกระแสกดดันจากแฟนบอลที่ไม่ชื่นชอบสไตล์การทำทีมของกุนซือรายนี้ ทั้งๆ ที่เป็นคนพาทีมคว้าแชมป์ลาลีกาได้ 2 สมัยติด และทีมยังนำเป็นจ่าฝูงในเวลานั้น

 

ฝ่ายบริหารของบาร์ซาไม่มีแผนการที่รอบคอบ พวกเขาเชื่อว่าด้วยสถานะของทีมแล้วใครก็อยากมา แต่สิ่งที่คิดนั้นผิด เมื่อ โรนัลด์ คูมัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาบี เอร์นานเดซ ปฏิเสธที่จะกลับมาบาร์ซาในเวลานี้

 

เพราะทุกคนรู้ว่าทีมมีปัญหาหมักหมมมากเกินกว่าจะแก้ไขได้ อย่างน้อยภายใต้การทำงานร่วมกับผู้บริหารและผู้เล่นชุดนี้

 

สุดท้ายทำให้บาร์ซาไปเลือกเอาเซเตียนที่ไม่เคยผ่านการคุมทีมชุดใหญ่ ไม่เคยประสบความสำเร็จใดๆ เลือกมาเพราะเชื่อว่าเขารู้ซึ้งถึงสไตล์ของบาร์ซาจากการเป็นแฟนคลับตัวยงของ โยฮัน ครัฟฟ์ ซึ่งมันทำให้เราได้รู้ว่าการรักหรือชอบอะไรอย่างสุดหัวใจบางครั้งมันไม่พอ

 

เซเตียนไม่ใช่โค้ชที่เลวร้าย แค่งานที่บาร์ซามันยากเกินกว่าที่เขาเคยเจอมาทั้งชีวิต ซึ่งพูดตามตรง การจะกอบกู้ทีมชุดนี้อีกครั้งต้องใช้คนที่พิเศษจริงๆ เท่านั้น เหมือนที่บาเยิร์นได้ฟลิก, เรอัล มาดริดได้ซีเนดีน ซีดาน หรือลิเวอร์พูลได้เจอร์เกน คล็อปป์

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกคนผิดไม่ใช่เรื่องใหม่ของบาร์ซา เพราะพวกเขาใช้จ่ายเงินกับนักเตะผิดพลาดมาโดยตลอด

 

นับตั้งแต่วันที่เสีย เนย์มาร์ ไปให้กับปารีส แซงต์ แชร์กแมง แบบเสียหน้าสุดๆ เพราะไม่สามารถหยุดยั้งการย้ายทีมได้ ปล่อยให้ตัวแทนของสตาร์ชาวบราซิลเอาเช็คเงินสดไปปลดระวางตัวเองจากสัญญา ณ ที่ทำการของลาลีกา บาร์ซาก็ไม่เคยกลับมายอดเยี่ยมได้อีกเลย

 

พวกเขาเผาเงินไปกับการซื้อที่ผิดทุกข้อ โดยเฉพาะ 3 รายที่ค่าตัวมหาศาลอย่าง อุสมาน เดมเบเล, ฟิลิปป์ คูตินโญ และรายล่าสุดคือ อองตวน กรีซมันน์

 

ทั้งสามคือรอยด่างพร้อยของผู้บริหารชุดนี้ ซึ่งแม้บางคนอาจจะมองว่าการซื้อผู้เล่นนั้นไม่ใช่ทุกครั้งเสมอไปที่จะประสบความสำเร็จ แต่การซื้อทั้ง 3 รายนี้ บาร์ซาไม่ได้พลาดแค่การตัดสินใจ แต่พลาดยันกระบวนการเจรจาที่ทำให้ทีมต้องจ่ายแพงเป็นพิเศษเพื่อจะได้ตัวนักเตะมา

 

ได้มาแล้วก็ใช้ไม่คุ้มค่า โดยในเกมที่แพ้บาเยิร์น เดมเบเลไม่มีชื่อในทีม, กรีซมันน์เป็นแค่ตัวสำรอง

 

ส่วนคูตินโญลงเล่นให้บาเยิร์น และถ่มน้ำลายรดหน้าต้นสังกัดที่พยายามทำลายคุณค่าในตัวของเขาด้วยการทำ 2 ประตูกับ 1 แอสซิสต์ และยังแสดงอาการดีใจแบบชัดเจน ไม่มีคำว่าเกรงใจหลงเหลืออยู่

 

ฝ่ายบริหารของบาร์ซายังไม่มีการวางแผนในการถ่ายเลือดที่ดี ทุกวันนี้พวกเขาอาศัยผู้เล่นอย่างเมสซี, หลุยส์ ซัวเรซ, เซร์คิโอ บุสเกตส์, เคราร์ด ปิเก้, จอร์ดี อัลบา และมาร์ค อังเดร-เตร์ สเตเกน ประคับประคองทีม 

 

บาร์ซาในวันนี้จึงกลายเป็นทีมคนแก่ที่เหลือแค่ ‘ลวดลาย’ แต่ไม่เหลือ ‘เรี่ยวแรง’ 

 

ที่สำคัญคือบาร์ซาต้องจ่ายเงินค่าเหนื่อยมหาศาลถึงปีละ 671 ล้านยูโร หรือคิดเป็น 69% ของรายรับสโมสร ซึ่งกลายเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่ขวางไม่ให้บาร์ซาหมดโอกาสในการปรับปรุงทีมได้

 

สายเลือด ‘ลา มาเซีย’ ที่น่าภาคภูมิใจก็กลายเป็นเรื่องเล่าเก่าๆ ไม่มีนักเตะอย่าง การ์เลส ปูโยล, ชาบี, อันเดรส อิเนียสตา มานานแล้ว ที่พอจะยิ้มได้ก็มีเพียงแค่ อันซู ฟาติ และเซร์จี โรแบร์โต เท่านั้น

 

ขณะที่เมสซีเอง ต่อให้ยังเหลือความมหัศจรรย์ แต่ใครก็ดูรู้ว่าวันเวลาของเขาเหลือน้อยลงไปทุกที โดยที่บาร์ซายังไม่สามารถหาคำตอบหรือไม่คิดหาคำตอบด้วยซ้ำว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรเมื่อไม่มีราชาลูกหนังคนนี้

 

ขณะที่บาเยิร์นนั้น พวกเขามีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างคลื่นลูกใหม่อย่าง แซร์จ นาบรี, ลีออน กอเร็ตซ์กา, โจชัว คิมมิช และที่มาแรงสุดๆ อย่าง อัลฟอนโซ เดวีส์ กับนักเตะท็อปคลาสประสบการณ์สูงอย่าง โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี, เฌอโรม บัวเต็ง, ติอาโก อัลกันตารา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โธมัส มุลเลอร์ ที่กลับมาคืนชีพอีกครั้ง ซึ่งต้องให้เครดิตกับฟลิกที่ไม่มองข้ามนักเตะมากประสบการณ์อย่างเขา

 

ตรงนี้ต้องให้เครดิตการบริหารทีมแบบมีทิศทาง ที่อย่างน้อยมีการปรับทัพเสริมทีมกันต่อเนื่องไม่ขาดตอน

 

เสือใต้วันนี้จึงครบเครื่องต้มยำ มีทุกรสชาติ แม้อาจจะพอเห็นจุดอ่อนบ้างกับเกมรับที่เดิมพันสูงแบบกล้าได้กล้าเสีย แต่ด้วยสไตล์การเล่นของพวกเขาแล้ว โอกาสจะได้ประตูมีมากกว่าโอกาสจะเสียประตูเยอะ

 

โดยส่วนตัวแล้ว บาเยิร์นวันนี้ดีใกล้ๆ วันที่ จุ๊ปป์ ไฮย์เกส พาทีมเป็นเจ้ายุโรปด้วยการเอาชนะดอร์ทมุนด์ 2-1 ได้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว และอาจจะเท่าเทียมกับบาร์เซโลนาในยุคที่ดีที่สุดภายใต้การคุมทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ได้เลย

 

สำหรับบาร์ซา พวกเขารู้ตัวแล้วว่าช่วงเวลาดีๆ ที่เคยมีตลอด 15 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่โลกได้รู้จักเมสซีกำลังจะถึงจุดจบ

 

สิ่งที่พวกเขาต้องทำมีมากมายมหาศาลครับเพื่อจะกลับไปยืนอยู่ ณ จุดเดิมให้ได้อีกครั้ง ซึ่งอาจหมายถึงการผ่าตัดทีมทั้งทีมโดยต้องยอมแลกกับช่วงเวลาของความเจ็บปวด

 

การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งการแยกทางกับเมสซีที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ของสโมสร จากรายรับปีละ 106 ล้านยูโรที่ยังเหลือสัญญาอีกถึงปีหน้า

 

พวกเขาต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าบาร์เซโลนานั้นเป็นมากกว่าแค่สโมสร เหมือนดังสโลแกน Més que un club เหมือนที่บาเยิร์นแสดงให้เห็นแล้วว่า Mia san Mia หรือ We are who we are นั้นมีความหมายอย่างไร

 

ดังนั้นแม้จะเจ็บปวดจนไม่รู้จะพูดอย่างไร อีกด้านหนึ่งของความรวดร้าวนั้นคือการเรียนรู้บทเรียนที่ดีที่สุด

 

ฟุตบอลคือกีฬาที่เล่นเป็นทีม และทีมที่ดีนั้นไม่ได้ดีเพราะผู้เล่นที่เก่งที่สุดแค่คนเดียว

 

มากกว่านั้นคือไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ต่อให้เป็นดวงดาว วันใดวันหนึ่งก็แตกดับและเป็นฝุ่นผงไม่แตกต่างกัน

 

และที่สำคัญที่สุดคือ ในทุกจุดจบคือการเริ่มต้นของสิ่งใหม่ที่ต้องดีกว่าเดิมเสมอ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X