เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้ทำพรีวิวผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของ บมจ. ปตท. (PTT) ซึ่งคาดว่าจะประกาศวันที่ 11 สิงหาคม 2563 โดย PTT เป็นผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีครบวงจร ทั้งดำเนินธุรกิจเองและดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทที่ลงทุนในเครือ ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมสำรวจและผลิต จัดหาและจัดจำหน่าย ขนส่ง แยกก๊าซธรรมชาติ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ PTT ยังเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาด (Market cap.) มากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น PTT ปรับเพิ่มขึ้น 7.1% จากระดับ 35.25 บาท สู่ระดับ 37.75 บาท ขานรับความคาดหวังต่อแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น (ข้อมูลราคาล่าสุด ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 ของ PTT จะมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมามีกำไรสุทธิจำนวน 1 หมื่นล้านบาท เทียบกับมีผลขาดทุน 1.6 พันล้านบาทในไตรมาส 1/63 โดยได้ปัจจัยหนุนจากผลขาดทุนสต๊อกที่ลดลงของบริษัทร่วมที่ดำเนินธุรกิจปลายน้ำ (ปิโตรเคมีและโรงกลั่น) จากระดับ 3.5 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 1/63 สู่ระดับ 3 พันล้านบาท ในไตรมาส 2/63 ถึงแม้ Market GRM จะยังคงอ่อนแอ แต่ได้รับการชดเชยจากค่าพรีเมียมที่ลดลงของต้นทุนน้ำมันดิบ ซึ่งจะช่วยเอื้อต่อผลประกอบการของธุรกิจโรงกลั่นได้ ขณะที่ธุรกิจปิโตรเลียมได้ปัจจัยหนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์สูงขึ้น โดยบริษัทได้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบจาก 10% ในไตรมาส 1/63 สู่ระดับ 20% ในไตรมาส 2/63 เพื่อให้ได้ประโยชน์จากต้นทุนแนฟทาที่ปรับตัวลง
ธุรกิจต้นน้ำคาดว่า ผลประกอบการจะอ่อนแอ QoQ เนื่องจากอุปสงค์ก๊าซที่หดตัวตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงในช่วงล็อกดาวน์ โดยเบื้องต้นบริษัทกล่าวว่า ปริมาณขายก๊าซไตรมาส 2/63 ลดลง 15%YoY และลดลง 8%QoQ ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2554 รวมถึงโรงแยกก๊าซมีการใช้ก๊าซน้อยลง เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน GSP#1 ซึ่งคิดเป็น 13% ของกำลังการผลิตโรงงาน GSP ทั้งหมด
สำหรับธุรกิจน้ำมันได้รับผลกระทบจากปริมาณการขายและอัตรากำไรที่ลดลงโดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเบนซินที่ได้รับผลกระทบจากการเดินทางที่ลดลงในช่วงล็อกดาวน์ แต่ล่าสุดเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นของยอดขายน้ำมันเบนซินในเดือน มิถุนายน หลังจากรัฐเริ่มผ่อนปรนล็อกดาวน์ โดย SCBS คาดว่า ปริมาณการขายของธุรกิจน้ำมันจะลดลง 7%YoY และลดลง 11%QoQ และยังได้รับผลกระทบจากค่าการตลาดที่ลดลงด้วยโดยมีสาเหตุจากปริมาณจราจรที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนคงบางอย่างไม่สามารถปรับลดลงได้
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่า แนวโน้มของปีหลังของปี 2563 ของ PTT จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ปริมาณการขายก๊าซเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ด้านธุรกิจน้ำมันเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของปริมาณการขายน้ำมันเบนซิน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนของปริมาณการขายน้ำมันอากาศยานที่ถูกยังกดดันการระงับเที่ยวบิน สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2563 เช่นกัน จากทิศทางราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปและผลิตปิโตรเคมีจะปรับตัวดีขึ้น
ในระยะถัดไปยังคงต้องติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่เห็นท่าทีที่ผ่อนคลายอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันต่อทิศทางราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งอาจกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ช้ากว่าที่คาด
ข้อมูลเพิ่มเติม:
%QoQ คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
%YoY คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า