สำนักข่าว BBC Sport ของประเทศอังกฤษ เผยผลสำรวจนักกีฬาหญิงชั้นนำของอังกฤษ ที่สอบถามถึงผลกระทบที่ได้รับจาก Social Media Troll หรือการคอมเมนต์กลั่นแกล้งโจมตีหลากหลายรูปแบบในโลกออนไลน์
จากผลสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของนักกีฬาหญิงที่ทำผลสำรวจยอมรับว่า พวกเธอได้รับผลกระทบจากการโจมตีด้วยคำพูดผ่านโซเชียลมีเดีย ที่มีทั้งการเหยียดรูปลักษ์ จนถึงการเหยียดเพศด้วยการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมที่พวกเธอควรมีสิทธิ์ได้เล่นกีฬาหรือไม่
โดยการสำรวจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของนักกีฬาหญิง BBC Sport พบว่า ตัวเลขผู้หญิงที่โดน Troll ในโลกออนไลน์สูงขึ้นเกือบเท่าตัวจากการสำรวจครั้งที่แล้วเมื่อปี 2015 ซึ่งนักกีฬาบางคนถึงกับยอมรับว่า พวกเขาได้รับข้อความ รูปภาพ และอธิบายการโดนโจมตีในบางครั้งว่ารู้สึกหวาดกลัวมาก
หนึ่งในนักกีฬาหญิงที่ทำบทสำรวจได้เปิดเผยว่า เธอถูกโจมตีว่า “อ้วนเกินไป” ขณะที่บางคนมีกล้ามขาใหญ่เกินไป บางคนมีไหล่ที่ใหญ่เกินไป พร้อมกับคำพูดว่า “ผู้หญิงไม่ควรมีลักษณะแบบนี้”
หนึ่งในนักกีฬาหญิงกีฬาขี่ม้าพบเจอกับคำถามจากผู้ชายหลังจากตกม้าว่า “หวังว่าม้าจะไม่เป็นไร ไม่ใช่คุณนะ” และ “ควรจะเป็นผู้ชายขี่ม้ามากกว่า”
จากผลสำรวจส่งผลให้ BBC Sport ตัดสินใจต่อต้านการเหยียด หรือ Hate Speech ทุกรูปแบบในโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง ด้วยการบล็อกผู้คนที่คอมเมนต์อะไรก็ตามที่เข้าข่าย Hate Speech ภายในพื้นที่คอมเมนต์ ซึ่งหากกรณีไหนมีความร้ายแรงมาก ทาง BBC Sport จะเอาเรื่องนี้ไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยทั้งหมดนี้เพื่อสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและมีความเคารพต่อกันในพื้นที่การนำเสนอข่าวกีฬาของทาง BBC Sport
นอกจากนี้ด้าน ไนเจล ฮัดเดิลสตัน รัฐมนตรีกีฬาของอังกฤษ เปิดเผยว่า
“หลายปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่นักกีฬาผู้หญิงมีการเติบโตขึ้นและได้รับความสนใจแบบที่พวกเขาคู่ควรได้รับ แต่ยังมีสิ่งที่เรารับไม่ได้ที่พวกเขาต้องพบเจอกับการเติบโตของการโจมตีนักกีฬาหญิงทางโลกออนไลน์
“เราต้องเป็นผู้นำในการวางแผนให้แพลตฟอร์มออนไลน์ของเราปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน และเราจะเดินหน้าร่วมงานกับผู้ให้บริการ เพื่อให้เห็นว่าอะไรที่เราสามารถทำได้บ้าง”
โดยผลสำรวจของนักกีฬาหญิงชั้นนำของอังกฤษจากการสำรวจนักกีฬาทั้งหมด 1,068 คน 39 ชนิดกีฬา และได้รับการตอบกลับทั้งหมด 537 ครั้ง พบว่า นักกีฬา 160 คน หรือประมาณ 30% ของผู้ที่ตอบกลับมา เผยว่า พวกเขาเคยถูกกลั่นแกล้งในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นกว่า 14% จากผลสำรวจเมื่อปี 2015 ซึ่งผลตอบรับส่วนใหญ่ นักกีฬาหญิงได้รับการโจมตีหลายรูปแบบในแต่ละวัน ตั้งแต่การเหยียดเพศ การเหยียดสีผิว การไม่ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหลายๆ อย่างที่โค้ชนักกีฬาชายไม่เคยต้องพบเจอ เช่น ช่วงมีประจำเดือน หรือการต้องกินยาคุมกำเนิด
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า 36% ของนักกีฬาหญิง (ประมาณ 191 คน) รู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากสโมสรหรือองค์กรบริหารกีฬา ในการตัดสินใจที่มีลูกและการแข่งขันต่อ
โดย 4% (22 คน) ได้ตัดสินใจทำแท้ง เพราะพวกเขารู้สึกว่าการมีบุตรจะส่งผลกระทบต่ออาชีพกีฬา 60% (321 คน) ยอมรับว่าผลงานในสนามแข่งขันได้รับผลกระทบจากช่วงมีประจำเดือนหรือพวกเธอพลาดการฝึกซ้อมและการแข่งขัน เนื่องจากช่วงเวลาที่มีประจำเดือน ขณะที่ 40% (214 คน) ยอมรับว่ารู้สึกไม่สบายใจที่จะปรึกษาเรื่องการมีประจำเดือนกับโค้ช 65% (347 คน) มีประสบการณ์การถูกเหยียดเพศในชนิดกีฬาของตนเอง มีเพียง 10% (51 คน) ที่ตัดสินใจทำรายงานเหตุการณ์เหยียดเพศ และ 85% (456 คน) ไม่คิดว่าสื่อมวลชนโปรโมตกีฬาหญิงอย่างเพียงพอ แต่ 93% (498 คน) รู้สึกว่ากีฬาหญิงได้รับพื้นที่สื่อมากขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: