เมื่อวานนี้ (5 สิงหาคม) ศาลสูงบราซิลมีมติให้ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู และรัฐบาลบราซิล จะต้องดำเนินมาตรการปกป้องชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ จากโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมีคำสั่งให้ระยะเวลารัฐบาล 30 วัน ออกมาตรการที่จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคระบาดดังกล่าวของบรรดาชนเผ่าในบราซิล
โดยมาตรการรับมือโควิด-19 นั้นจะต้องรวมถึงการห้ามบุคคลจากภายนอกพื้นที่เข้าไปยังที่ดินของชนเผ่าต่างๆ รวมถึงขับไล่กลุ่มผู้บุกรุก รวมถึงกลุ่มที่ลักลอบตัดไม้ในผืนป่าแอมะซอนและขุดเหมืองแร่ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่อาจจะนำเชื้อเข้าไปแพร่กระจายให้กับบรรดาชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความเปราะบางสูงมาก
องค์กรที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองในบราซิลอย่าง APIB ระบุว่า มีชาวเผ่าพื้นเมืองอย่างน้อย 631 รายเสียชีวิตจากโควิด-19 ขณะที่พบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 22,325 ราย จากจำนวนประชากรชาวเผ่าพื้นเมืองราว 8.5 แสนรายทั่วประเทศ กว่า 150 จากราว 300 ชนเผ่าต่างพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว
ล่าสุด อริตานา ยาวาลาปิติ หนึ่งในหัวหน้าชนเผ่าพื้นเมืองคนสำคัญของบราซิล เสียชีวิตแล้วเนื่องจากโควิด-19 เมื่อวานที่ผ่านมา โดยเขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาชนเผ่าของเขาอย่างภาษายาวาลาปิติ (Yawalapiti) ได้ในขณะนี้
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านมาแล้วกว่า 7 เดือน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสมแตะ 18.9 ล้านรายแล้ว (18,956,630 ราย) รักษาหายกว่า 12 ล้านราย (12,141,748 ราย) หรือคิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด เสียชีวิตแล้ว 710,038 อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 3.8% โดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเกินวันละ 1 แสนราย ติดต่อกันนานถึง 71 วันหรือนานกว่า 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลก (4,973,314 ราย) ตามมาด้วยบราซิล (2,859,073 ราย), อินเดีย (1,963,239 ราย), รัสเซีย (866,627 ราย) และแอฟริกาใต้ (529,877 ราย) พบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 181 จาก 193 ประเทศทั่วโลก
ภาพ: Pedro Vilela / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: