×

ผ่าอาณาจักรกระทิงแดงในไทย ทำไมจึงบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับ ‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’

30.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • ‘อาณาจักรกระทิงแดง’ ก่อร่างสร้างตัวโดย ‘เฉลียว อยู่วิทยา’ เมื่อ 60 กว่าปีก่อน จากเซลส์ขายยาจนก้าวมาสู่ธุรกิจที่โด่งดังไปทั่วโลกและมีรายได้นับแสนล้านบาท
  • ตามประวัติ เฉลียวมีภรรยา 2 คน และบุตร 11 คน โดยหลังจากเฉลียวถึงแก่กรรมในปี 2555 มีรายงานว่าธุรกิจที่อยู่ในต่างประเทศได้ถูกรับช่วงต่อโดย ‘เฉลิม อยู่วิทยา’ บุตรชายคนโต ส่วนธุรกิจในไทยนั้นมี ‘สราวุฒิ อยู่วิทยา’ รั้งตำแหน่งแม่ทัพ
  • หลังจากที่มีรายงานว่าคดีที่ ‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’ ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตในปี 2555 สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่สั่งฟ้องทุกข้อกล่าวหา ได้ก่อให้เกิดกระแสรณรงค์ให้ยุติการสนับสนุนสินค้าที่อยู่ในเครือกระทิงแดง ร้อนถึงบริษัทที่ทำธุรกิจในไทยต้องออกมาแก้ข่าวกันยกใหญ่

หลังจากมีรายงานข่าวว่าคดีที่ ‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’ ขับรถชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ซึ่งล่าสุดสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่สั่งฟ้องทุกข้อกล่าวหา ทำให้ชื่อของ ‘ตระกูลอยู่วิทยา’ กลับมาเป็นที่สนใจของคนในสังคมอีกครั้งหนึ่ง

 

ข่าวที่เกิดขึ้นได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากคนในสังคม เพราะบอส วรยุทธ ไม่ได้เป็นบุคคลทั่วไปในสังคม แต่มีนามสกุลห้อยท้ายว่าเป็น ‘ทายาทกระทิงแดง’ เพราะตระกูลอยู่วิทยานั้นเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง ‘กระทิงแดง’ หรือในต่างประเทศมักจะรู้จักในนาม ‘Red Bull’ ซึ่งมีรายได้นับแสนล้านบาท 

 

ผลที่ตามมาคือก่อให้เกิดกระแสรณรงค์ให้ยุติการสนับสนุนสินค้าที่อยู่ในเครือกระทิงแดงบนโลกออนไลน์เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อเรื่องดังกล่าว หลังจากนั้นทางเครือกระทิงแดง หรือภายใต้ชื่อใหม่ ‘กลุ่มธุรกิจ TCP’ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าบอส วรยุทธ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับอาณาจักรกระทิงแดงในไทย 

 

เพื่อค้นหาต้นตอของเรื่องดังกล่าวว่าเหตุใดบอส วรยุทธ จึงไม่มีชื่ออยู่ในทำเนียบของอาณาจักรกระทิงแดง ทั้งๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ทายาทกระทิงแดง’ แท้ๆ THE STANDARD จึงชวนมาเปิดประวัติศาสตร์ของอาณาจักรนี้กัน

 

 

จุดเริ่มต้นของ ‘อาณาจักรกระทิงแดง’

สำหรับ ‘อาณาจักรกระทิงแดง’ นั้นก่อร่างสร้างตัวโดย ‘เฉลียว อยู่วิทยา’ เมื่อ 60 กว่าปีก่อน โดยเริ่มต้นทำงานด้วยอาชีพเป็นเซลส์ขายยา และต่อมามีแนวความคิดที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง จึงตัดสินใจตั้งบริษัทขายยาขึ้นในวันที่ 27 มีนาคม 2499 ในชื่อว่า หจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล 

 

หลังจากนั้นได้มีการตั้งโรงงานเกิดขึ้น เฉลียวจึงตัดสินใจขยายธุรกิจจากสินค้าประเภทกลุ่มยาไปสู่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอื่นๆ โดยเริ่มต้นจากสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางยี่ห้อ ‘แท็ตทู’ ขณะเดียวกันเฉลียวก็ได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจของตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทย จึงได้คิดค้นพัฒนาสูตรสินค้าประเภทเครื่องดื่มให้พลังงาน ซึ่งต่อมาได้เรียกติดปากว่า ‘เครื่องดื่มกระทิงแดง’ ซึ่งการใช้เกมการตลาดแบบถึงลูกถึงคน ลดแลกแจกแถม ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว 

 

จากความสำเร็จในไทย เฉลียวจึงขยายกระทิงแดงออกไปสู่ต่างประเทศ โดยเริ่มส่งออกครั้งแรกไปยังประเทศสิงคโปร์ภายใต้ยี่ห้อ Red Bull ต่อมาได้รู้จักกับ ดีทริช เมเทสซิทซ์ นักธุรกิจชาวออสเตรียซึ่งสนใจนำ Red Bull บุกตลาดยุโรป จึงร่วมกับเฉลียวก่อตั้งบริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช (Red Bull GmbH) ขึ้นในประเทศออสเตรีย โดยเฉลียวและครอบครัวถือหุ้น 51% ส่วนดีทริชถือหุ้น 49% และวางจำหน่ายกว่า 70 ประเทศทั่วโลกในขณะนั้น 

 

ต่อมาแบรนด์ Red Bull ก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ส่วนในไทยนั้นเฉลียวก็ได้ขยายธุรกิจออกไปและขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีไทย โดยเฉลียวได้ถึงแก่กรรมในปี 2555 ด้วยวัย 88 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นนิตยสาร Forbes ได้จัดอันดับให้เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 205 ของโลกและอันดับที่ 3 ของไทย ด้วยทรัพย์สิน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้ง ‘อาณาจักรกระทิงแดง’ 

ภาพ: tcp.com

 

เจาะตระกูล ‘อยู่วิทยา’

ตามประวัติของ เฉลียว อยู่วิทยา ระบุว่ามีภรรยา 2 คน และมีบุตรธิดา 11 คนด้วยกัน โดยภรรยาคนแรก ‘นกเล็ก สีสด’ มีบุตร 5 คน ได้แก่ สายพิณ อยู่วิทยา, เฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งได้สมรสกับ ดารณี แจ้งเจนกิจ มีบุตร 3 คน ได้แก่ วรางคณา อยู่วิทยา, วาริท อยู่วิทยา และวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่ง ‘วรยุทธ’ คือบุคคลที่ตกเป็นข่าว, ศักดิ์ชาย อยู่วิทยา, อังคณา อยู่วิทยา และรัญดา อยู่วิทยา

 

ส่วนภรรยาคนที่ 2 ‘ภาวนา หลั่งธารา’ มีบุตร 6 คน ได้แก่ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา, จิราวัฒน์ อยู่วิทยา, ปนัดดา อยู่วิทยา, สุปรียา อยู่วิทยา, สราวุฒิ อยู่วิทยา และนุชรี อยู่วิทยา

 

 

ภายหลังจากที่เฉลียวเสียชีวิต มีสำนักข่าวของไทยรายงานตรงกันว่าอาณาจักรกระทิงแดงได้ถูกแบ่งออกเป็นสองสายตามภรรยาของเฉลียว โดยในกลุ่มลูกของภรรยาคนแรกนั้น ธุรกิจถูกดูแลโดย เฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งเป็นบุตรชายคนโต และเป็นพ่อของบอส วรยุทธ ที่ได้ดูแลธุรกิจ Red Bull ที่อยู่ในต่างประเทศ 

 

การจัดอันดับ 50 อภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2563 ของนิตยสาร Forbes ระบุว่า เฉลิม อยู่วิทยา รั้งอันดับ 2 ของอภิมหาเศรษฐีไทยด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 6.6 แสนล้านบาท แม้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่เฉลิมก็เป็น 1 ใน 8 รายชื่อผู้ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นในปี 2563 

 

 

นอกจากดูแล Red Bull แล้ว เฉลิมยังมีธุรกิจอื่นๆ อีก เช่น บริษัท สยาม ไวเนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มสปาย ไวน์คูลเลอร์, เป็นผู้ผลิตไวน์ชื่อ Monsoon Valley และเครื่องดื่มแอปเปิ้ลไซเดอร์ภายใต้แบรนด์ Moose เป็นต้น

 

‘บอส วรยุทธ’ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจในไทย 

ส่วนธุรกิจในไทยนั้นตกเป็นของลูกๆ ภรรยาคนที่สอง โดยมี สราวุฒิ อยู่วิทยา ลูกคนที่ 10 ขึ้นเป็นแม่ทัพอาณาจักรกระทิงแดงในไทย ดังนั้นหากวัดตามรายงานดังกล่าวจึงไม่แปลกใจที่กลุ่มธุรกิจในไทยจะเริ่มออกมาปฏิเสธว่าบอส วรยุทธ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจในไทย 

 

ตามแถลงการณ์ที่ชี้แจงนั้นได้ระบุว่าบอส วรยุทธ ไม่เคยเป็นผู้ถือหุ้น ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหาร และไม่เคยดำรงตำแหน่งใดๆ ในบริษัทต่างๆ ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP เลย 

 

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างๆ ในกลุ่มธุรกิจ TCP มีทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ ภาวนา หลั่งธารา, สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา, จิรวัฒน์ อยู่วิทยา, ปนัดดา อยู่วิทยา, สุปรียา อยู่วิทยา, สราวุฒิ อยู่วิทยา และนุชรี อยู่วิทยา  

 

โดยในเว็บไซต์ของกลุ่มธุรกิจ TCP มีตำแหน่งกรรมการ ได้แก่ ภาวนา หลั่งธารา ประธานกรรมการ, สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ, นุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ, จิรวัฒน์ อยู่วิทยา กรรมการบริหาร และปนัดดา อยู่วิทยา กรรมการบริหาร

 

“คณะผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น และพนักงานของกลุ่มธุรกิจ TCP ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหรือกระบวนการต่างๆ ของคดีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนบุคคลของวรยุทธ” กลุ่มธุรกิจ TCP ระบุในแถลงการณ์ชี้แจง

 

เจาะ ‘อาณาจักรกระทิงแดง’ ในไทย

สำหรับอาณาจักรกระทิงแดงในไทยที่กุมบังเหียนโดย สราวุฒิ อยู่วิทยา เพิ่งมีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ครั้งนั้นสราวุฒิได้ประกาศทิศทางใหม่ของธุรกิจกระทิงแดงในไทย โดยตัดสินใจใช้ชื่อ ‘กลุ่มธุรกิจ TCP’ แทนการใช้ชื่อกระทิงแดง ด้วยต้องการสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจว่าในเครือไม่ได้มีแค่กระทิงแดงเพียงอย่างเดียว ตลอดจนเป็น ‘เฮาส์ออฟแบรนด์’ ที่ทรงพลัง

 

เพราะเมื่อเจาะเข้าไปจะพบว่าภายใต้เครือประกอบไปด้วย 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ รวม 8 แบรนด์คือ กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังคือกระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส และวอริเออร์ กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่คือสปอนเซอร์ กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์คือแมนซั่ม กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มคือเพียวริคุ ผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวันคือซันสแนค และกลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่มคือเรดบูลรสดั้งเดิม

 

ต่อมาสราวุฒิเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนมาใช้ชื่อกลุ่มธุรกิจ TCP กับประชาชาติธุรกิจไว้ว่า “เราคงไม่สามารถเอาแบรนด์กระทิงแดงไปแบ็กอัพซันสแนคได้ เพราะสินค้าทั้งสองตัวนี้ไปด้วยกันไม่ได้ ซึ่งไม่มีใครผิดหรือถูก แต่เพราะความแข็งแกร่งของแบรนด์ต่างหาก” 

 

 สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP

 

ขณะเดียวกัน การใช้ชื่อกลุ่มธุรกิจ TCP ยังเป็นการรวมบริษัทอื่นๆ ในเครือให้เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทแม่เพียงแห่งเดียว ซึ่งจะสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นเครือข่ายเดียวกันได้มากขึ้น 

 

สำหรับบริษัทในเครือนั้นประกอบไปด้วย 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าของกลุ่ม, บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ซึ่งรับผิดชอบในการทำตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม, บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด เป็นเจ้าของและบริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ และบริษัท เดอเบล จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นๆ

 

นอกจากนี้สราวุฒิได้ประกาศบนเวทีว่าจะมีการลงทุน 10,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ (2561-2565) สำหรับใช้ใน 3 ด้านคือ การเสริมสร้างขีดความสามารถของฝ่ายบริหารและพนักงานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การขยายและพัฒนากำลังการผลิตและพอร์ตโฟลิโอของสินค้า และการเพิ่มฐานที่มั่นในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยการลงทุนดังกล่าวถือเป็นการลงทุนมากที่สุดในรอบ 61 ปีของการทำธุรกิจ

 

“ภายใน 5 ปี กลุ่มธุรกิจ TCP จะต้องมีรายได้ 1 แสนล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 3 เท่าจากสิ้นปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ 30,000 ล้านบาท พร้อมกับปรับสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศให้ขยับจาก 60% เป็น 80% ลดการพึ่งพาตลาดในประเทศ” นี่คือเป้าหมายที่สราวุฒิประกาศไว้ในปี 2560

 

 

ธุรกิจต้องเดินไปพร้อมสังคม

หลังจากนั้นกลุ่มธุรกิจ TCP ก็ได้มีความเคลื่อนไหวเพื่อขยายอาณาจักรเรื่อยมา  

  • เปิดสำนักงานแห่งแรกในต่างประเทศที่เวียดนาม ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ได้ระบุว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเปิดสำนักงานแห่งใหม่หรือโรงงานแห่งใหม่อย่างน้อยปีละ 1 แห่งใน 1 ประเทศ สำหรับเวียดนามนั้นได้ประกาศลงทุนเพิ่ม 4,000 ล้านบาท สำหรับเสริมด้านการตลาด การจัดจำหน่าย และ R&D โดยตั้งเป้า 3 ปี ยอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัว
  • ‘เรดดี้’ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 62% จากมูลค่ารวมของตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานระดับพรีเมียมประมาณ 1,600 ล้านบาท ได้ทุ่มงบ 100 ล้านบาทเปิดตัวรสชาติใหม่ เรดดี้ โกจิเบอร์รี พร้อมดึง ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ มาเป็นพรีเซนเตอร์ โดยตั้งเป้าโตแตะ 1,500 ล้านบาทภายในเวลา 3 ปี
  • ‘เดอเบล’ ดูแลการจัดจำหน่าย ได้ประกาศลงทุน 2,000 ล้านบาทสำหรับลงทุนในรอบ 3 ปี โดยต้องการผลักดันยอดขายให้โตขึ้น 3 เท่า เป็น 1 แสนล้านบาทในปี 2565
  • กระทิงแดงเดินหน้าเจาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้เปิดตัวเรดบูล พลัส ในสิงคโปร์ ส่วนในไทยได้เปิดตัว ‘กระทิงแดง เอ็กซ์ตร้า’ สูตรใหม่ พร้อมทุ่มงบกว่า 3,000 ล้านบาทสำหรับเดินเกม 3 กลยุทธ์การตลาด โดยตั้งเป้ายอดขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตสูงขึ้น 2 เท่า แตะ 60,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี 
  • สปอนเซอร์ ซึ่งเป็นเจ้าตลาดสปอร์ตดริงก์ ด้วยส่วนแบ่ง 90% ของตลาดมูลค่า 5,000 ล้านบาท วางกลยุทธ์เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยการเปิดตัว ‘สปอนเซอร์ แอคทีฟ ซีรีส์’ ใช้งบการตลาดกว่า 300 ล้านบาทสำหรับโปรโมต และดึง ‘เก้า-สุภัสสรา ธนชาต’ มาเป็นพรีเซนเตอร์ โดยต้องการเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ในปี 2562

 

 

ขณะที่ในปีนี้นั้นกลุ่มธุรกิจ TCP ยังไม่ทันได้เคลื่อนไหวอะไรมาก เพราะการเกิดขึ้นของวิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องแก้ปัญหาใหญ่นี้ก่อน ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 สราวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Secret Sauce ของ THE STANDARD โดยความตอนหนึ่งได้กล่าวว่า 

 

“คุณพ่อ (เฉลียว อยู่วิทยา) ท่านสอนลูกหลานมาตลอดว่าเราต้องเน้นความมั่นคง เน้นความยั่งยืน แน่นอนว่าธุรกิจมันต้องมีการเติบโต แต่เราไม่ใช่มุ่งแต่การเติบโต เราต้องมองเรื่องความมั่นคงและความยั่งยืนของเราด้วย เพราะปัจจุบันองค์กรเรามีคนงานอยู่ 6,000-7,000 ชีวิต องค์กรเราเป็นอะไรขึ้นมา คนเหล่านี้ก็เหมือนลูกหลานพี่น้อง เราก็ต้องดูแล

 

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำมาตลอดคือบางคนอาจจะบอกว่าเซฟมาก เช่น เรื่องเงินกู้แทบจะไม่เคยกู้ ในอดีตมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ เราไม่กู้เงินเวลาลงทุนในอะไรต่างๆ เราใช้เงินของเราเอง เรื่องของการบริหารจัดการทุกอย่าง เราเน้นเรื่องการลดความเสี่ยงมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นพอเจอวิกฤตโควิด-19 ต้องบอกว่าธุรกิจเรากระทบ แต่โชคดีที่ว่าเราไม่ได้หลังพิงฝา เรามีภูมิต้านทานที่สร้างไว้ดีแล้ว 

 

“สำหรับปีนี้เราก็ไม่อยากประเมินโลกในแง่ดีจนเกินไป จะกำไรหรือขาดทุนเราก็ต้องมองข้ามเรื่องนี้ไปก่อน สำหรับแผนธุรกิจที่วางแผนมาทั้งหมดตั้งแต่ปีที่แล้วแทบล้มกระดานทั้งหมด คิดใหม่ ทำใหม่ และที่ผมฝากน้องๆ ทุกคนไปคือต้องเอาแผนทางสังคมใส่เข้าไปกับแผนทางธุรกิจ เพราะถ้าสังคมไม่กลับมา เราก็ขายของไม่ได้“

 

 

จากสิ่งที่สราวุฒิพูดใน The Secret Sauce ก็ตีความได้ว่าธุรกิจต้องแคร์สังคมรอบข้างมากๆ ดังนั้นเมื่อเกิดข่าวเรื่องของ ‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’ นอกเหนือจากแถลงที่ระบุถึงการไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแล้ว ไม่กี่วันถัดมาได้มีจดหมายเปิดผนึกในนามของ ‘พี่น้องอยู่วิทยา’ ซึ่งมีใจความว่า 

 

“พี่น้องครอบครัวอยู่วิทยาต้องขอโทษสังคมเป็นอย่างสูงที่ข่าวของบุคคลในครอบครัวได้สร้างความรู้สึกโกรธ เกลียด ไม่พอใจ จนเป็นเหตุของกระแสการเรียกร้องของสังคมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่วันเกิดเหตุ ครอบครัววรยุทธไม่ได้หารือหรือบอกเล่าการตัดสินใจหรือการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งกับพี่น้องเลย และพวกเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการตัดสินใจหลายเรื่องของวรยุทธที่เราติดตามจากข่าว

 

“พี่น้องทุกคนล้วนเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และยืนยันว่าพวกเราทุกคนให้ความเคารพในกฎหมายและยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องสามารถสร้างความยุติธรรมให้กับทุกคนด้วยความเท่าเทียมกัน พี่น้องทุกคนขอเรียกร้องให้วรยุทธออกมาแสดงความกระจ่างและความบริสุทธิ์ใจให้ครอบครัวอยู่วิทยาที่เหลือ รวมทั้งสังคมและสื่อมวลชนให้เร็วที่สุด และดําเนินการให้ถูกต้องตามครรลองของสังคม”

 

 

ที่น่าสังเกตคือบุคคลที่ลงนามในจดหมายเปิดผนึกไม่ได้มีเพียงบุตรที่เกิดจากภรรยาคนที่สองอย่าง สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา, ปนัดดา อยู่วิทยา, สราวุฒิ อยู่วิทยา, ศักดิ์ชาย อยู่วิทยา, จิรวัฒน์ อยู่วิทยา, สุปรียา อยู่วิทยา และนุชรี อยู่วิทยา แต่ยังมีบุตรที่เกิดจากภรรยาคนแรกมาลงนามด้วยถึง 2 คนคือ สายพิณ พหลโยธิน (อยู่วิทยา) และศักดิ์ชาย อยู่วิทยา

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ถือเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นกับ ‘อาณาจักรกระทิงแดง’ ในไทยที่ต้องเลือกจัดการทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของแบรนด์ให้ดี เพราะหากจัดการได้ไม่ดีพออาจจะล้มทั้งกระดานก็เป็นไปได้ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising