Q: อยากฝึกให้ตัวเองมีความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น จะต้องทำอย่างไรคะ มันฝึกกันได้ไหม หรือว่าต้องมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด
A: คำถามนี้ดีครับ คำถามส่วนใหญ่ที่ส่งมาให้ผมทั้งทางเพจ ‘ท้อฟฟี่ แบรดชอว์’ ไปจนถึงคนที่มาปรึกษากับผมในฐานะมนุษย์ออฟฟิศด้วยกัน ส่วนใหญ่แล้วต้นตอของปัญหาก็มาจากการไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ทั้งนั้น ทุกครั้งหน้าที่ของผมคือรับฟังปัญหาที่เขามี ให้เขาระบายออกมาว่ารู้สึกอย่างไร จับความรู้สึกของเขาให้ได้ เสนอมุมมองที่อาจจะเป็นไปได้ในหลายทาง ไม่ยัดเยียดทางออก ให้กำลังใจเขาว่าปัญหามีทางแก้ไขอยู่ แล้วสุดท้ายเมื่อเขารู้สึกดีขึ้นแล้ว รู้สึกว่ามีคนฟัง รู้สึกว่ามีคนเข้าใจ มองเห็นว่าชีวิตมีความหวังอยู่ เขาจะเลือกทางออกให้กับชีวิตด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทางออกที่ผมชี้บอก
ผมคิดว่าความฉลาดทางอารมณ์ก็เป็นเรื่องแบบนี้เหมือนกัน ความฉลาดทางอารมณ์คือความสามารถในการตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่ เมื่อรู้แล้วว่ารู้สึกอะไรก็สามารถจัดการควบคุมความรู้สึกนั้นได้ สามารถแสดงออกจากอารมณ์นั้นได้อย่างเหมาะสม ไปจนถึงการสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นๆ และตอบสนองแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์
ทุกอารมณ์ที่เรามีเป็นกลไกธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติ และมีหน้าที่ของมันอยู่ และเมื่อมันถูกใช้อย่างเหมาะสม มันมีประโยชน์หมด อารมณ์โกรธที่เหมาะสม ถ้าถูกใช้เมื่อเราเห็นความอยุติธรรมในสังคม ก็เป็นแรงผลักดันให้เราอยากแก้ไขปัญหานั้น อารมณ์เศร้าที่เหมาะสม ถ้าถูกใช้เมื่อเราพบความสูญเสีย ก็เป็นแรงผลักดันให้เราตระหนักถึงการมีคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เรามีอยู่ได้
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อเกิดอารมณ์ใดๆ ขึ้นแล้ว เรารู้ตัวหรือเปล่าว่ากำลังรู้สึกอะไร เมื่อรู้สึกแล้วควบคุมมันได้ไหม หรือปล่อยให้อารมณ์พาเราไปทั่ว แล้วเรามีการแสดงออกที่มาจากอารมณ์นั้นออกมาอย่างไร มันจึงเป็นการทำงานที่ประสานกันระหว่างเหตุผลและอารมณ์ มีอารมณ์อย่างเดียวแต่ไม่มีเหตุผลมาทำงานด้วยก็จะปล่อยให้อารมณ์กระเจิดกระเจิง สติไปหมด แสดงออกอย่างก้าวร้าวรุนแรง หรือรับมือกับอารมณ์นั้นไม่ได้ ขณะเดียวกันมีเหตุผลอย่างเดียวแต่ไม่มีอารมณ์ ก็ทำให้เราไม่สามารถมีความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ด้วยกันได้ แสดงออกมาแบบทื่อๆ แข็งๆ ไม่มีความอ่อนโยน ทั้งอารมณ์และเหตุผลจึงต้องทำงานด้วยกัน เป็นทีมเดียวกัน
ความฉลาดทางอารมณ์ยังรวมไปถึงการที่รู้ว่าเมื่อไรควรมีอารมณ์แบบไหน เมื่อทำผิดควรรู้สึกผิด ควรรู้สึกเสียใจ เมื่อสัมผัสได้ว่าคนอื่นเศร้า ควรรู้สึกเศร้า รู้สึกเห็นใจ ไม่ใช่รู้สึกสะใจหรือรู้สึกดีใจ ฯลฯ ปัญหาหลายๆ อย่างที่เราเห็นก็มาจากการที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรมีความรู้สึกแบบไหน เช่น ไม่รู้สึกผิดในเรื่องที่ควรรู้สึกผิด รู้สึกดีใจในเรื่องที่ควรเสียใจ ฯลฯ พอไม่มีความรู้สึกก็เลยแสดงออกไปอย่างไม่เหมาะสม พอแสดงออกไปอย่างไม่เหมาะสมก็ทำให้เกิดปัญหาตามมา และทำให้รู้สึกว่า ทำไมถึงช่างไม่รู้สึกรู้สาอะไรบ้างเลย
ลองนึกถึงคนทำงานที่โมโหแล้วขว้างปาข้าวของ สามารถสรรหาคำพูดมากรีดหัวใจคนฟังได้โดยไม่รู้สึกอะไร คนที่ไม่รู้สึกว่าการกระทำของตัวเองจะส่งผลกระทบต่อคนอื่น คนที่คิดถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว ฯลฯ นี่แหละครับคนที่มีปัญหาเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ เก่งแค่ไหนแต่ไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ก็อยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ไม่มีใครรัก ไม่มีใครอยากทำงานด้วย อยู่ที่ไหนก็วงแตกหมด อย่าว่าแต่อยู่กับคนอื่นเลย อยู่กับตัวเองยังยากเลยครับถ้าจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้
ขณะเดียวกันคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์เขาจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เห็นอกเห็นใจคนอื่นเป็น แสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม มีคนรัก มีคนอยากช่วยเหลือ มีทัศนคติที่ดีเมื่อเผชิญปัญหา อยากพัฒนาตัวเองต่อไป สุดท้ายความก้าวหน้าก็จะตามมา เพราะทั้งตัวเขาและทีมส่งให้เขาก้าวหน้าไปด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นลองเปรียบเทียบคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์กับคนที่ไม่มีความฉลาดทางอารมณ์แล้วพบว่า คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะมีความสุขในที่ทำงานมากกว่า มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมมากกว่า มีส่วนร่วมในการทำงานมากกว่า ส่งผลให้เขาพัฒนาตัวเองได้มากกว่า มีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานมากกว่า เงินเดือนมากกว่า
นักจิตวิทยาบางคนก็บอกว่าความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ขณะเดียวกันก็มีอีกฝั่งหนึ่งบอกว่าเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันมีทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและการบ่มเพาะฝึกฝนนี่แหละครับ แต่เลือกจะเชื่อว่ามันฝึกกันได้ เพราะถ้าเชื่อว่าทุกอย่างหยุดที่พันธุกรรม เราก็ไม่ต้องทำอะไรกันต่อ ได้มาทางดีเอ็นเอแบบไหนก็ได้เท่านั้น แต่พอเชื่อว่ามันฝึกฝนกันได้ เราก็จะเชื่อว่าเราพัฒนาตัวเองได้ ในมุมขององค์กรเหมือนกันครับ ถ้าเชื่อว่าฝึกฝนกันได้ องค์กรก็จะให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อม การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการบ่มเพาะให้ความฉลาดทางอารมณ์เติบโตงอกงามได้ด้วย ทุกวันนี้องค์กรเลยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้คนมีความฉลาดทางอารมณ์กันมากขึ้น ไม่ใช่มีเท่าไหนก็มีเท่านั้น
ความฉลาดทางอารมณ์สามารถฝึกกันได้อย่างไรบ้าง ผมมีวิธีแนะนำให้เอาไปฝึกใช้ได้ครับ
ฝึก ‘จับ’ ความรู้สึกของตัวเองให้ได้ เวลาที่มีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นในใจ หายใจลึกๆ ช้าๆ จับให้ได้ว่าตอนนี้กำลังเรากำลังรู้สึกอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่โกรธ ลองเปลี่ยนจากการมีความคิดที่จะโจมตีคนตรงข้าม ทำไมเธอทำแบบนั้น ทำไมเธอแย่แบบนี้ เธอทำให้ฉันรู้สึกแย่ รัวเป็นชุด เปลี่ยนเป็นการสำรวจความรู้สึกของตัวเราเองคือ ตอนนี้ฉันรู้สึกโกรธ เวลาที่เรารู้สึกโกรธเราเป็นแบบนี้นี่เอง เราจะพลุ่งพล่านแบบนี้นะ เรียนรู้ธรรมชาติของตัวเราที่มีต่อความรู้สึกต่างๆ ที่มากระทบใจเรา การฝึกจับความรู้สึกตัวเองให้ได้เป็นพื้นฐานสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ครับ เพราะถ้าไม่รู้เลยว่าตัวเองรู้สึกอะไรอยู่ ไม่รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง การควบคุมจัดการความรู้สึกก็จะยาก การหายใจเข้าช้าๆ เบรกตัวเองให้ช้าลง จะทำให้เราพอได้สำรวจความรู้สึกของตัวเองและควบคุมตัวเองได้ครับ
ฝึก ‘จัดการ’ ความรู้สึกของตัวเอง พอรู้เท่าทันอารมณ์ รู้ธรรมชาติของอารมณ์แล้ว ให้เข้าใจอย่างหนึ่งว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่อยู่กับเราตลอดไป มันมีอายุของมัน แต่ระหว่างที่มันยังอยู่ ถ้าเราสามารถจัดการและแสดงออกได้อย่างเหมาะสม อันนี้แหละครับทำให้เราพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าเราควบคุมอารมณ์ของคนอื่นไม่ได้ ควบคุมการแสดงออกของคนอื่นไม่ได้ แต่เราสามารถจัดการควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ มีการแสดงออกอย่างที่เหมาะที่ควรได้จากตัวเรา วิธีการคือมองให้เห็นผลของการกระทำของเราที่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าเราแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ้าตอบโต้แรงๆ ไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง แล้วดูว่าผลลัพธ์แบบไหนที่สร้างสรรค์ที่สุด ทำร้ายตัวเองและทำร้ายคนอื่นน้อยที่สุด ให้ฝึกที่จะเลือกแสดงออกแบบนั้น
ฝึก ‘ฟัง’ ให้ได้ยินความรู้สึก สัมผัสความรู้สึกของคนอื่นผ่านการเป็นผู้ฟัง ฟังแล้วจับให้ได้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร โดยที่ไม่เป็นฝ่ายให้ความคิดเห็นหรือตัดสินเขาก่อน ให้เขาพรั่งพรูความรู้สึกออกมา การเป็นผู้ฟังที่ดีทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น เป็นการเรียนรู้ความรู้สึกของอีกฝ่ายไปด้วย พร้อมกับฝึก ‘หยุด’ ความคิดเห็นของเรา บางทีการแสดงออกว่ามีคนพร้อมจะรับฟังเขาอยู่เสมอก็อาจจะเพียงพอแล้ว เว้นแต่ว่าอีกฝ่ายอยากได้คำแนะนำค่อยเสนอมุมมองของเรา ถ้าทริกส่วนตัวของผม ถ้าต้องเสนอแนะ ผมมักจะใช้คำว่า ‘ลอง…’ หรือ ‘เป็นไปได้ไหมว่า…’ เพราะมันคือการเสนอทางเลือก เสนอมุมมอง ทำหรือไม่ทำเป็นเรื่องของเขา เป็นสิทธิ์ของเขา เป็นชีวิตของเขา ไม่ใช่การสั่ง ไม่เหมือนกับการบอกว่า ‘ทำไมไม่ทำแบบนั้นล่ะ…’ ที่ยิ่งทำให้คนฟังรู้สึกว่า ‘เออ…ทำไมไม่ทำแบบนั้นล่ะ ทำไมฉันโง่จัง’ ซึ่งยิ่งทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่กว่าเดิม หรือเวลาที่เราอ่านสเตตัสในเฟซบุ๊ก ทวีตของเพื่อนในทวิตเตอร์ เราต้องจับความรู้สึกของเขาที่อยู่ในตัวหนังสือ หรือบางทีอยู่ระหว่างบรรทัดให้ได้ บางคนอาจจะไม่สื่อสารออกมาตรงๆ แต่มีวิธีระบายออกในแบบตัวเองที่เราต้องเข้าใจธรรมชาติของคนอื่นให้ได้
ฝึก ‘สวมรองเท้าของคนอื่น’ เราจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้นเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา แต่ละคนมีเหตุผล มีเงื่อนไขในชีวิต มีการตัดสินใจที่ต่างกัน การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้เรามองเห็นโลกในมุมมองของเขา และเห็นว่าเขากำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่เรามองไม่เห็นก็ได้จากมุมมองของเราเอง การฝึกตั้งคำถามว่า ‘ถ้าเราเป็นเขา อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร’ ทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ไปจนถึงมองเห็นว่าเราควรแสดงออกต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร
ฝึก ‘วาง’ มือถือ หลักการง่ายๆ คือ เวลาเราก้มหน้าดูมือถืออยู่ เราจะมองไม่เห็นแววตาของคนอื่นที่กำลังคุยกับเรา คนที่กำลังคุยกับเราก็จะรู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญ ไม่ได้รับการสนใจ แต่ลองถ้าเราได้มองตาเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเวลานี้คนที่สำคัญที่สุดคือคนที่อยู่ตรงหน้า เราจะได้สัมผัสความรู้สึกอีกเยอะจากอีกคน มีงานวิจัยชื่อ Computers in Human Behavior น่าสนใจมากครับ เขาพบว่าวัยรุ่นที่ไม่อยู่กับโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าสู่โลกดิจิทัล 5 วัน สามารถสัมผัสอารมณ์ของคนอื่นๆ ทั้งการแสดงออกโดยตรงด้วยคำพูดและภาษากายได้ดีขึ้น หลักๆ แล้วผมคิดว่ามันคือเรื่องของการที่เราให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ตรงหน้า มองตาเขา ให้เวลาเขา ให้คุณค่าเขา อยู่ด้วยกันอย่างมนุษย์ แล้วเราจะสัมผัสความรู้สึกของมนุษย์ด้วยกันได้ดีขึ้น
ความฉลาดทางอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญที่เอามาใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตนะครับ ไม่ใช่แค่เรื่องงานอย่างเดียว ใช้กับครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งแวดล้อม ได้หมดเลย และควรต้องใช้ด้วย และอย่างที่บอกครับว่าเป็นเรื่องที่ฝึกกันได้ พัฒนากันได้ เพราะฉะนั้นให้ทุกวันที่เราไปทำงาน เป็นทุกวันที่เราฝึกให้ตัวเองมีความฉลาดทางอารมณ์กันนะครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า