×

เสวนา ‘ไม่คบ 32’ ชี้ปัญหากฎหมายควบคุมเหล้าเบียร์ ไม่เป็นธรรม ตีความได้หลากหลาย เปิดช่องเจ้าหน้าที่ฯ รับสินบน

โดย THE STANDARD TEAM
20.07.2020
  • LOADING...

วันที่ 19 กรกฎาคม สมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศ และเพจสุราไทย เพจที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตสุราประเภทต่างๆ และการทำธุรกิจสุราอย่างถูกกฎหมาย เรียกร้องให้รัฐบาลมีการพิจารณาข้อกฎหมายมาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน

 

สืบเนื่องจากที่ผ่านมาตัวกฎหมายมีปัญหามากมาย คลุมเครือในแง่ของการตีความ มีสินบนจำนวนมากเป็นแรงจูงใจในการนำจับ จนเป็นเหตุให้มีประเด็นทางสังคมที่ประชาชนและผู้ประกอบการถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 32 อย่างไม่เป็นธรรมอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งปิดกั้นโอกาสในการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องของผู้ประกอบการ โดยขอให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 77 ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในด้านต่างๆ และให้ประชาชนสามารถเข้าใจกฎหมายอย่างชัดเจน โดยได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ภายในงานเสวนาวิชาการปัญหากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ‘ไม่คบ 32’ ซึ่งจัดขึ้นที่ ลิโด้ คอนเน็คท์ สยามสแควร์

 

ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย นักวิชาการและแอดมินเพจสุราไทย กล่าวว่า เพจสุราไทยรณรงค์แก้ไขกฎหมายนี้มาหลายปี เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายจำกัดสิทธิของผู้ประกอบการ และประชาชนเกินขอบเขตและความจำเป็น โดยตามหลักกฎหมายนั้นประชาชนถูกจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ทั้งเรื่องการกำหนดเวลาขาย จำกัดอายุผู้ซื้อ การจัดทำโซนนิ่งห้ามขายในพื้นที่ที่รัฐกำหนด แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาการใช้มาตรา 32 จากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีการตรวจจับและออกหมายเรียกประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงกลายเป็นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็น ทางคณะผู้จัดงานจึงต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาข้อกฎหมายมาตรา 32 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามสภาพสังคม มิติทางเศรษฐกิจ และวิธีการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป

 

สำหรับมาตรา 32 พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ระบุว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม’ ว่าได้สร้างประเด็นถกเถียงในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความคลุมเครือ ต้องอาศัยการตีความและดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยไม่อาจยึดถือตามมาตรฐานใดได้ว่าอะไรคือการ ‘อวดอ้างสรรพคุณ ชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม’ จึงสร้างความสับสนให้กับประชาชนว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ เช่น การโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบอกว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรบนสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ประชาชนหลายรายโดนหมายเรียกและโดนปรับ ทั้งที่ไม่ได้มีเจตนาโฆษณาและไม่ได้รับเงินเพื่อการโฆษณา เกิดเป็นคำถามว่าการบังคับใช้มาตรา 32 ควรเป็นไปในลักษณะเดียวกับการทำสื่อโฆษณาโทรทัศน์หรือวิทยุที่ต้องมีการวางแผนและวัตถุประสงค์ชัดเจนหรือไม่ ในบริบทสังคมปัจจุบันที่มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ประชาชนใช้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ มาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีอีกหนึ่งประเด็นเกี่ยวกับปัญหาเรื่องค่าปรับที่ตั้งเพดานไว้ 50,000-500,000 บาท ซึ่งมากกว่าคดีเมาแล้วขับซึ่งตั้งไว้ที่ 20,000 บาท เกิดเป็นอีกคำถามถึงความร้ายแรงของกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าไม่สมเหตุสมผล ทั้งยังมีประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันมาโดยตลอดเกี่ยวกับสินบนนำจับ ที่เจ้าหน้าที่และผู้แจ้งเบาะแสจะได้รางวัลถึง 80% ของค่าปรับ โดยมีเพียง 20% ของค่าปรับเท่านั้นที่จะส่งคืนให้กระทรวงการคลัง รัฐจึงไม่ได้รับประโยชน์จากค่าปรับนี้เท่าที่ควร ส่วนผู้แจ้งนำจับกลับได้รับแรงจูงใจชี้เบาะแสผู้กระทำผิดเพราะได้รับประโยชน์จากกฎหมายมาตราดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ถูกแจ้งได้รับผลกระทบอย่างหนัก สินบนรางวัลอาจเป็นสาเหตุให้ถูกกลั่นแกล้ง ทั้งยังวกกลับไปเกิดปัญหาซ้ำซ้อนเกี่ยวกับการตีความตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่อาจหามาตรฐานได้

 

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กล่าวว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นั้นร่างขึ้นโดยอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมาตรา 32 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็มีจุดที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันปี 2560 โดยอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และเกินสมควรกว่าเหตุ ทั้งยังอาจเพิ่มภาระและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ จึงนับว่ามาตรา 32 ยังมีประเด็นที่หลายฝ่ายควรร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามหลักนิติธรรมและเหมาะสมกับยุคสมัยยิ่งขึ้น

 

สำหรับภาคธุรกิจ มีผู้ประกอบการหลายรายที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 32 เช่น โยษิตา บุญเรือง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไวน์โอท็อป ที่เล่าว่าได้ต่อสู้คดีในชั้นศาลมาเป็นเวลากว่า 3 ปี ถูกตั้งค่าปรับกว่า 1 ล้านบาท ทั้งยังถูกควบคุมในห้องขัง โดยมีสาเหตุจากการล่อซื้อของเจ้าหน้าที่ ที่เข้ามาขอใบปลิวผลิตภัณฑ์ซึ่งจัดทำเพียงเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยท้ายที่สุดได้รับข้อเสนอให้รับสารภาพในชั้นศาลเพื่อลดหย่อนโทษให้เหลือ 50,000 บาท จึงมองว่าเจ้าหน้าที่ได้ประโยชน์จากสินบนนำจับตามมาตรา 32 

 

ขณะที่ ณิกษ์ อนุมานราชธน มิกโซโลจิสต์ และผู้ประกอบการบาร์ Teens of Thailand ระบุว่ากฎหมายมาตรานี้เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมวิชาชีพและการประกอบอาชีพ เพราะถูกจำกัดการสื่อสารกับผู้บริโภค ปิดกั้นนวัตกรรมด้านการพัฒนาการให้บริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม และการท่องเที่ยว ทั้งยังลดทอนความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและการบริการของประเทศไทย ในขณะที่ผู้บริโภคทั่วไปซึ่งทำการรีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า

 

ด้าน อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ แอดมินเพจรีวิวเบียร์ ก็มองว่ากฎหมายมาตราดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น และการตีความตามมาตรา 32 เกี่ยวกับการอวดอ้างสรรพคุณ ชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ก็คลุมเครือไม่ชัดเจน และสุดท้ายจะผิดกฎหมายหรือไม่ก็เป็นไปตามความคิดเห็นและดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

 

จากประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น สมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเพจสุราไทย จึงมีจุดยืนเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณามาตรา 32 ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยยึดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 77 ที่ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน พร้อมสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งประชาชนและภาครัฐ โดยสมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ในระหว่างการรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ครบ 10,000 คน เพื่อยื่นเรื่องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาแก้ไขมาตรา 32 อย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายในขณะนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X