เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางเพจเฟซบุ๊ก ‘สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ’ หรือ สดร. เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) โดยระบุว่า ดาวหางดังกล่าวเป็นดาวหางคาบยาว และจากข้อมูลล่าสุดพบว่าการโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer: WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร
สำหรับประเทศไทย ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2563 ดาวหางนีโอไวส์ จะปรากฏในช่วงรุ่งเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามาก และยังเพิ่งโคจรผ่านจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงถูกแสงอาทิตย์กลบ ทำให้สังเกตได้ค่อนข้างยาก
แต่ในช่วงครึ่งหลัง ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ดาวหางนีโอไวส์จะเปลี่ยนมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสว่างในระดับที่ยังสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ยลโฉม และบันทึกภาพความสวยงามของดาวหางดวงนี้
ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ ประมาณวันที่ 18-22 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควรแล้ว และแม้เป็นช่วงแสงสนธยาก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าบริเวณขอบฟ้าใสเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 21 กรกฎาคม เป็นคืนเดือนมืดไร้แสงจันทร์รบกวน เป็นโอกาสเหมาะที่จะเฝ้าสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ด้วยตาเปล่า
ส่วนวันที่ 23 กรกฎาคม แม้เป็นช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุด แต่จากข้อมูลพบว่าดาวหางจะมีค่าความสว่างลดลง รวมทั้งในคืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตการณ์ดาวหางดังกล่าว และหลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ สำหรับชาวไทยที่สนใจชมและถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ สามารถติดตามได้ในช่วงวันและเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ ในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม ยังเป็นวันที่ดาวเสาร์โคจรมาใกล้โลกที่สุดในรอบปี ทาง สดร. จึงได้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์วงแหวนดาวเสาร์ในคืนใกล้โลกที่สุดในรอบปี 4 จุดสังเกตการณ์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่, หอดูดาวภูมิภาคนครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา และสงขลา ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ในวันดังกล่าวด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์