×

สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมฯ ร้อง กมธ. กฎหมายฯ ขอให้ยุติเก็บ DNA คนไปตรวจเลือกทหารในจังหวัดชายแดนใต้

โดย THE STANDARD TEAM
17.07.2020
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (16 กรกฎาคม) มารุวรรณ หะยีดอเล๊าะ ประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยมี กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ และ รังสิมันต์ โรม โฆษกของคณะกรรมาธิการฯ มารับหนังสือ

 

มารุวรรณ กล่าวว่า โดยสืบเนื่องจากการเกณฑ์ทหารปีที่ผ่านมาในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อําเภอในจังหวัดสงขลา (สะบ้าย้อย, จะนะ, เทพา, นาทวี) ได้มีการเก็บสารทางพันธุกรรม หรือ DNA ชายไทยที่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร และการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 27 ที่กล่าวว่า ‘บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน’ อีกทั้งมีการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ที่ไทยได้ร่วมลงนามและมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวสร้างความไม่เป็นธรรมต่อเยาวชนในพื้นที่ที่เข้ารับการผ่อนผันและเกณฑ์ทหาร และถูกจํากัดสิทธิในการรับรู้ถึงเหตุผลการนําไปใช้งานของผลตรวจ DNA ตลอดจนไม่สามารถปฏิเสธการตรวจ DNA ในครั้งนั้นได้

 

สําหรับปีนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม จนถึงตลอดช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 จะมีการเกณฑ์ทหารประจําปี สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) ซึ่งเป็นองค์กรนําในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน มีความกังวลและเกรงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวในปีที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นซ้ำสอง ทาง สนมท. ร่วมด้วยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่มลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย และพิราบขาวเพื่อมวลชน จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้

 

  1. ขอให้ยุติการตรวจเก็บ DNA ในการเกณฑ์ทหารเพื่อเป็นการปฏิบัติต่อประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเท่าเทียม และผู้ที่ถูกเก็บ DNA อาจอยู่ในภาวะ ‘จํายอม’ มากกว่า ‘ยินยอม’

 

  1. ขอให้มีการทําลายผลตรวจ DNA ในครั้งที่ผ่านมา เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอว่า DNA นั้นจะถูกนําไปใช้ประโยชน์ด้านใด จัดเก็บที่ไหน ใครสามารถเข้าถึงได้ และมีกําหนดเวลาในการทําลายตัวอย่างหรือไม่

 

  1. ขอให้ดําเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ใช้กําลังข่มขู่ในการตรวจ DNA ที่ผ่านมา จากรายงานข่าวว่ามีการข่มขู่ประชาชนที่ไม่ยินยอมให้ตรวจ DNA ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการอธิบายถึงเหตุผลในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวอย่างชัดเจน ซำ้เมื่อประชาชนมีการขัดขืน เจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

 

ขณะที่ รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการเกณฑ์ทหารในช่วงเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยมีการเก็บสารพันธุกรรม หรือ DNA ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 27 โดยปีนี้จะมีการเกณฑ์ทหารประจำปี ส่งผลให้ตัวแทนสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรนำในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน เกิดความกังวลและเกรงว่าจะเกิดเรื่องซ้ำเหมือนปีที่ผ่านมา 

 

ทั้งนี้ รังสิมันต์กล่าวว่า จะบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฯ อย่างเร่งด่วน เนื่องจากการเกณฑ์ทหารจะมีขึ้นในสิ้นเดือนนี้ เพื่อจะได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา และจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X