เผลอไม่นาน เดือนกรกฎาคมปีนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาครบรอบ 1 ปีพอดีที่ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คุมทัพบริษัท LINE ประเทศไทย กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจและพัฒนาบริการใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในฐานะแพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับผู้ใช้งานคนไทย
และดูเหมือนว่าซีอีโอ LINE ประเทศไทย ผู้นี้โดนรับน้องเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้อยู่พอสมควร เพราะรับตำแหน่งใหม่ไม่ทันครบปีก็ต้องเจอกับโจทย์ความท้าทายครั้งใหญ่ ‘การระบาดของโควิด-19’ ซึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบในวงกว้างกับภาคธุรกิจน้อยใหญ่และอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ
ถึงอย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ผลกระทบที่ LINE ประเทศไทย ได้รับจึงไม่ร้ายแรงเหมือนที่ธุรกิจอื่นๆ ต้องเผชิญ แม้จะได้รับเอฟเฟกต์จากการใช้เม็ดเงินโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ไปบ้างในช่วงแรกๆ แต่สุดท้ายแพลตฟอร์มของพวกเขาก็กลายเป็นเครื่องมือและพื้นที่ที่แบรนด์เลือกใช้สื่อสารกับผู้บริโภคอยู่ดี
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ได้เปิดเผยถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยพบว่าจากเดิมที่ LINE มีผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนในปี 2019 ที่ผ่านมาที่ 44 ล้านราย ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้น 2 ล้านราย เป็น 46 ล้านคนต่อเดือนแล้ว ส่วนฟีเจอร์ LINE Call ก็มียอดการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเกิน 200% เมื่อเทียบระหว่างเดือนมกราคมและมีนาคมปีนี้
ขณะที่ LINE Official Account (LINE OA) ก็กลายเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ผู้ประกอบการนิยมใช้งานกัน โดยมีฐานตัวเลขผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านเป็น 4 ล้านบัญชีในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับยอดการเติบโตของจำนวนร้านค้าที่ใช้ MyShop ซึ่งมีสัดส่วนเติบโตสูงถึง 180% (ณ เดือนเมษายน เติบโตจากต้นปีคือเดือนมกราคม 2563) โดยปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าบน LINE Official Account ที่ใช้เครื่องมือ MyShop นี้อยู่เป็นหลักหมื่น จากช่วงแรกๆ ที่มีเพียงหลักร้อยหรือหลักพันเท่านั้น
ด้านแพลตฟอร์ม LINE MAN ก็กลายเป็นอีกหนึ่งบริการที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก ซึ่งซีอีโอ LINE ประเทศไทย ได้ยกให้มันเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ทำผลงานได้โดดเด่นสุดๆ ในไทย โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ที่ยอดการใช้งานมีอัตราการเติบโตถึง 300% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาและสถานการณ์ปกติ
สำหรับกลยุทธ์ต่อจากนี้ ดร.พิเชษฐ ย้ำว่าจะยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และฟีเจอร์ต่างๆ ของ LINE ให้ตอบโจทย์ความต้องการและการใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้บริโภคและผู้ใช้งาน LINE ให้ได้ต่อเนื่องและมากที่สุดผ่าน 4 เสาหลักที่สำคัญ ได้แก่ ทัศนคติ (Mindset), ความรวดเร็ว (Agility), เข้าใจและเข้าถึงผู้ใช้งาน (Humanization) และยกระดับชีวิตของคนทุกคน (Elevation)
ซึ่งกลยุทธ์ต่างๆ ที่ LINE ประเทศไทย ได้ดำเนินการนั้นมีเป้าหมายในการมุ่งสู่แนวคิดโครงสร้างพื้นฐานในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน หรือ ‘Life on LINE’ รวมถึงการเป็นแพลตฟอร์มตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบ New Normal สำหรับผู้ใช้ในไทย
“ปีนี้เป็นปีที่เกิดสถานการณ์ที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับทุกคน (โควิด-19) แต่ LINE ประเทศไทย ก็ยังสามารถปรับตัวได้เร็วด้วยแนวคิดแบบ Agility โดยสถานการณ์ต่างๆ ทำให้เราทำงานกันหนักขึ้น แต่ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ส่วนผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ผ่านมาก็เป็นที่น่าพึงพอใจ
“เรายังคงจะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพราะเราต้องการเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญในการดำรงชีวิตของผู้ใช้งาน รวมถึงลูกค้ากลุ่มองค์กร เพื่อพัฒนาเครื่องมือในการช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมถึงบริการในกลุ่มฟินเทคที่จะได้เห็นโซลูชันใหม่ๆ แน่นอน”
สำหรับประเด็นการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์และกรณี PDPA คุ้มครองข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานนั้น ซีอีโอ LINE ประเทศไทย ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์ม LINE ให้ความสำคัญและยึดถือตามหลักปฏิบัติและความถูกต้องมาโดยตลอด โดยการจัดเก็บภาษีนั้น พวกเขาได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมสรรพากรมาตั้งแต่เริ่มให้บริการ เช่นเดียวกับการพัฒนาบริการออกมาโดยคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลผู้ใช้งานเป็นอันดับแรก
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์