**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์**
‘ความเป็นแม่’ คือประเด็นที่ค่อนข้างโดดเด่นในซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay และเป็นปมที่สร้างบาดแผล ประสบการณ์ ความรัก การเลี้ยงดูให้กับตัวละครหลักๆ อย่างโกมุนยอง มุนคังแท มุนซังแท และการที่มนุษย์คนหนึ่งจะเติบโตมาเป็นเช่นทุกวันนี้ ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากเบ้าหลอมพ่อ-แม่ที่ส่งอิทธิพลให้รูปร่างทางความคิดจิตใจเราเป็นเช่นนั้น
โดยเฉพาะในกรอบสังคมเกาหลีที่คำว่า ‘ชายเป็นใหญ่’ ยังคงเข้มข้น การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือหย่าร้างจากสามี จึงนับว่าเป็นกรณีที่ชีวิตลำบาก ไม่ใช่แค่ซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay เรายังได้เห็นประเด็นสำคัญนี้ในซีรีส์หลายต่อหลายเรื่องช่วงปีหลัง อย่างเช่น When the Camellia Blooms, A World of Married Couple หรือภาพยนตร์ Kim Ji-Young, born 1982 ที่สะท้อนภาพวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในเกาหลีใต้ได้อย่างตรงไปตรงมา
ซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay บอกเล่าประเด็นสำคัญของความเป็นแม่ ผ่านพื้นฐานตัวละคร สะท้อนให้เห็นว่า ‘แม่’ ก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่อาจทำผิดทำพลาดได้ ในขณะเดียวกันเรื่องราวก็ปลอบประโลมคนดูไปด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นแม่แบบไหน สุดท้ายแล้วแม่ก็คือแม่ ที่ถึงผิดพลาด เสียศูนย์ มีชีวิตบิดเบี้ยวอย่างไร ในทั้งหมดนั้น มันมี ‘ความรักบริสุทธิ์’ ประกอบอยู่
ไม่ว่าจะเป็น โดฮีแจ แม่ของโกมุนยอง นักเขียนนวนิยายชื่อดังที่เลี้ยงลูกสาวในบ้านหลังใหญ่กลางป่า, แม่ของมุนคังแท เลี้ยงลูกชายสองคนหลังจากสามีเสียชีวิต ลูกชายคนหนึ่งมีอาการออทิสติก, คังซุนดุก แม่ของนัมจูรี ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีวิตอย่างยากลำบาก, หรือกระทั่ง คังอึนจา แม่ที่ทำผิดพลาดจนสูญเสียลูก และเข้ารักษาอาการทางจิตใจในโรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์
**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์**
“เธอรักลูกสาวมาก รักจนน่าขนลุก
ทุกคืนเธอจะร้องเพลงคลีเมนไทม์กล่อมลูกนอน
ผู้หญิงคนนั้นร้องโดยรู้ความหมายที่แท้จริงของเพลงนี้ไหมนะ” – โกแดฮวาน พ่อของโกมุนยอง
ความรักที่เกินพอดีของโดฮีแจ แม่โกมุนยอง
โปรดักชันโน้ตของซีรีส์อธิบายตัวละครโดฮีแจ แม่ของโกมุนยองว่า เป็นนักเขียนนวนิยายขายดีที่หลีกหนีจากโลกไปอยู่ในบ้านกลางป่าที่สามีสร้างให้ แม้ว่าจะละเลยสามี แต่กับลูกสาวเธออุทิศทั้งชีวิตในการเลี้ยงดู โกมุนยองคือชีวิตของเธอ แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อส่งต้นฉบับสุดท้ายของซีรีส์นวนิยาย ‘การสังหารของแม่มดตะวันตก’ โดฮีแจได้หายตัวไปอย่างลึกลับ การสาบสูญของเธอกลายเป็นข่าวครึกโครม และยังคงเป็นปริศนาจนปัจจุบัน
โกมุนยองที่ภายนอกดูก้าวร้าว รุนแรง ไม่แคร์สังคม แต่งตัวเต็ม ทั้งหมดนั้นก็เป็นกำแพงที่สร้างไว้ป้องกันความบอบบางและแตกร้าวภายใน เธอถูกแม่เลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็ก กับความโดดเดี่ยว ว่างเปล่า ในบ้านหลังใหญ่กลางป่าที่ถูกเรียกกันว่าปราสาทต้องคำสาป ร่างของแม่ในห้องใต้ดินของบ้าน เลือดที่เปื้อนเท้าโกมุนยอง เสียงเพลงกล่อม หลายเหตุการณ์รุนแรงที่เธอได้รับกลายเป็นบาดแผลในใจของเธอตลอดมา
ถึงตอนนี้ซีรีส์ยังไม่เปิดเผยเกี่ยวกับแม่ของโกมุนยองมากนัก แต่เท่าที่มีข้อมูลตัวละคร โดฮีแจน่าจะมีอาการทางจิตบางอย่างที่ทำให้อารมณ์แปรปรวนและมีอาการหลงผิด เช่นการที่รักลูกสาวมากจนเกินไป จนไม่อยากให้ลูกสาวไปพบเจอใคร แม้ว่าสิ่งที่แม่ทำจะเป็นสิ่งที่ผิด รุนแรง หรือทำร้าย แต่เด็กก็ยังคงมีศูนย์กลางจักรวาลคือพ่อแม่ นั่นทำให้โกมุนยองทั้งรักทั้งกลัวแม่ของเธอ จนกลายเป็นปมในจิตใจ
“คังแทลูกต้องอยู่ข้างๆ พี่ไปจนวันตายเลยนะ
แม่คลอดลูกมาเพราะแบบนั้นแหละ” – แม่มุนคังแท มุนซังแท
ความรักที่ไม่ได้แสดงออกของแม่มุนคังแท
แม่มีลูกชายสองคน คนโต มุนซังแท มีอาการออทิสติก ส่วนคนเล็ก มุนคังแท เธอให้กำเนิดเขาเพื่อมาช่วยดูแลพี่ชาย ความยากจนของครอบครัวนี้ยิ่งเลวร้าย เมื่อพ่อ – หัวหน้าครอบครัวป่วยเรื้อรังอยู่หลายปีก่อนจะเสียชีวิต และแม่ที่อดทนอย่างยากลำบากเลี้ยงดูลูกชายสองคนก็ถูกฆาตกรรม ตำรวจไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ มุนคังแทหนีออกจากเมืองเล็กๆ นั้นพร้อมกับมุนซังแท ระหกระเหินไปตามเมืองต่างๆ จนเติบโตขึ้นมา
แม่ สำหรับมุนคังแทแล้ว รักและสนใจแต่พี่ชาย เวลานอนก็นอนกอดมุนซังแท ส่วนเขาได้แต่ดึงเสื้อแม่เอาไว้จากด้านหลัง ทั้งยังเคยพูดประโยคทำร้ายจิตใจให้เขาคิดว่าแม่ไม่ได้ต้องการเขาจริงๆ “ลูกต้องอยู่ข้างๆ พี่เขาไปจนวันตายเลยนะ แม่คลอดลูกมาเพราะแบบนั้นแหละ” ความรู้สึกไม่ได้รับความรัก ทั้งยังต้องแบกรับความกดดันในการดูแลพี่ชายออทิสติก ทำให้มุนคังแทเองเกิดบาดแผลในจิตใจโดยไม่รู้ตัว และอุบัติเหตุที่ทำให้เขาและพี่ชายเกือบเสียชีวิตในวัยเด็ก ไปจนถึงการที่แม่ถูกฆาตกรรม กลายเป็นปมบางอย่างที่ทำให้มุนคังแทเองก็ต้องการการเยียวยารักษาจิตใจ
จริงๆ แล้ว แม่ของมุนคังแทอาจต้องการเลี้ยงมุนคังแทให้เป็นผู้ใหญ่เกินตัว เพื่อคอยดูแลพี่ชายออทิสติก การไม่ค่อยใส่ใจหรือให้ความสำคัญน้อยกว่า ก็อาจเป็นความตั้งใจที่จะให้ลูกชายคนเล็กรู้ว่าหน้าที่ของเขาคืออะไร เราจึงเห็นฉากที่แม่หันมากอดมุนคังแทเอาไว้หลังจากที่เขาหลับไปแล้ว
ความรู้สึกที่แม่ไม่รัก เป็นเรื่องจริงที่พบเจอได้ในหลายๆ ครอบครัว ทั้งที่ความจริงแล้วมันอาจเกิดบนพื้นฐานที่ว่าพ่อแม่ทุ่มเทความสนใจให้ลูกคนใดคนหนึ่งเนื่องจากความผิดปกติ ความทะนุถนอมที่มีให้กับลูกคนนั้นๆ เป็นพิเศษ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับความมากหรือน้อยในความรัก แต่กระนั้น ความรู้สึกของเด็กที่ต้องการความรักความใส่ใจจะรับรู้ได้อย่างรวดเร็วว่าเกิดความไม่เท่าเทียมในครอบครัว อย่างเช่น มุนคังแทเองที่รู้ดีว่าแม่ต้องสนใจพี่ชายมากกว่าเพราะออทิสติก แต่การกระทำและคำพูดของแม่ในบางครั้งเป็นสิ่งเสริมความรู้สึก ‘ไม่เป็นที่ต้องการ’ ให้ใหญ่โตขึ้น จนเขาอาจลืมรายละเอียดอื่นๆ ที่ทำให้เห็นว่าแม่รักลูกสองคนมากกว่าตัวเองเสียอีก
“ยังไม่ได้กินข้าวใช่ไหม มานั่งนี่เร็ว” – คังซุนดุก แม่นัมจูรี
แม่ที่อยากให้ลูกกินอิ่มนอนหลับ คังซุนดุก – แม่นัมจูรี
คังซุนดุก แม่ครัวประจำโรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ เป็นแม่ผู้โอบอ้อมอารี ยอมรับมุนคังแทและพี่ชายมาเช่าบ้าน ทั้งยังทำอาหารให้กินเป็นประจำ ในอดีตเธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูกสาว หลังจากสามีป่วยจนเสียชีวิต ความลำบากที่ผ่านมาทำให้เธอเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก และอาหารที่เธอทำจะช่วยให้พวกเขามีแรงต่อสู้เรื่องต่างๆ ต่อไปได้ นี่คือแม่ที่อยากเห็นลูกมีความสุขและอิ่มท้อง
ในหลายฉากที่ปรากฏตัว คังซุนดุกมาพร้อมความอบอุ่นและอาหารในมือเสมอ ตั้งแต่มื้ออาหารต้อนรับมุนคังแท พี่ชาย และเพื่อน ฉากที่เธอทำอาหารกล่องไปเป็นมื้อเที่ยงที่โรงพยาบาลเผื่อแผ่ไปทั้งมุนคังแทและมุนซังแท ฉากที่ป้อนข้าวลูกสาวที่กำลังเสียใจ
นอกจากนี้ คังซุนดุกยังเป็นตัวแทนแม่ที่ช่วยปรับความเข้าใจให้มุนคังแทได้ปลดล็อกความรู้สึกเกี่ยวกับแม่ของเขา “แต่อย่างไรก็เข้าใจแม่เขาหน่อยนะ คิดว่าสมัยนั้นคิดว่าผู้หญิงคนเดียวเลี้ยงลูกโดยไม่มีสามีมันง่ายนักเหรอ ให้ตายสิ ฉันมีลูกสาวคนเดียว ยังอยากจะหนีไปตั้งหลายครั้งเลย แม่เธอดูแลลูกชายมาตั้งสองคน แถมมุนซังแทยังแตกต่างจากคนอื่นอีก เธอดูแลพี่มาถึงตอนนี้ก็น่าจะรู้ดีไม่ใช่เหรอ ว่ามันลำบากและกดดันแค่ไหน”
การเขียนบทที่มีมิติและลึกซึ้งในรายละเอียดตั้งแต่พ่อแม่ ทำให้คาแรกเตอร์ของตัวละคร โกมุนยอง มุนคังแท มุนซังแท มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้ผู้ชมอินกับเรื่องราวได้ไม่ยาก เพราะในหลายเรื่องราวที่บอกเล่า น่าจะมีบางส่วนที่ทาบทับกับเรื่องราวในชีวิตคนเรา ที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน
ทำไมแม่รักพี่มากกว่า?
แม่อยากให้เราเกิดมาจริงไหม?
ทำไมทำอะไรไม่เคยถูกใจแม่สักอย่าง?
ทำไมเราถึงมองจากมุมตัวเองและตัดสิน โดยไม่ได้คิดถึงมุมมองจากใจคนอื่น?
สุดท้าย แม่ก็คือแม่ เราเลือกจดจำเขาในแบบที่ไม่สร้างบาดแผลแก่กันได้หรือไม่?
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์