ธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยในงานแถลงข่าวสรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำไตรมาส 2/63 ว่าในปีนี้ คาดว่าเอกชนจะออกหุ้นกู้ไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท โดยครึ่งปีแรกออกไปแล้วกว่า 3.2 แสนล้านบาท และในช่วงครึ่งปีหลังพบว่าจะมีหุ้นกู้ที่ครบอายุ และเชื่อว่าจะมีบางกลุ่มที่จะต้อง Rollover กว่า 3 แสนล้านบาท
ส่วนกลุ่มที่ออกใหม่คาดว่าจะอยู่ในกลุ่มพลังงานทางเลือกที่ประกาศการซื้อกิจการหรือโรงงานในต่างประเทศเพื่อขยายกิจการกว่า 1.6 แสนล้านบาท ดังนั้นเชื่อว่าการออกหุ้นกู้ปีนี้จะไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาทแน่นอน
สำหรับตราสารหนี้ไทย ณ ครึ่งปีแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน) มีมูลค่าคงค้าง 13.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.25% จากสิ้นปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก
ด้านมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 91,814 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 5% จากปีที่ผ่านมา โดยพันธบัตรรัฐบาลมีการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากที่สุด ด้านตราสารหนี้ภาคเอกชนมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 4.89 พันล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน จากการซื้อขายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม
โดยในช่วงครึ่งปีแรกพบว่านักลงทุนต่างชาติมีทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ (Net Outflow) ในตราสารหนี้ไทย 1.08 แสนล้านบาท โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนตราสารหนี้ไทยในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น
ด้านการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 2/63 ต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทย 811,068 ล้านบาท คิดเป็น 9.07% ของมูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย
ขณะที่ในเดือนมิถุนายน 2563 พบว่านักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มการถือครองตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้น โดยปัจจุบันถือครองอายุ 0-1 ปี ประมาณ 4% ถือครองอายุ 1-3 ปี 19% ถือครอง 3-5 ปี 9% ถือครองอายุ 5-10 ปี 33% ถือครองอายุมากกว่า 10 ปี 35%
ส่วนมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.88 ล้านล้านบาท ลดลง 0.68% จากสิ้นปีก่อน โดยเป็นการลดลงของตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ สำหรับมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน 95% ยังเป็นกลุ่มระดับลงทุน เรตติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB- (Investment Grade)
ด้านการออกตราสารหนี้ระยะยาวในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 323,883 ล้านบาท ลดลง 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การออกตราสารหนี้ระยะสั้นลดลง 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และพบว่าในครึ่งปีแรกมีหุ้นกู้ที่ปรับโครงสร้างและขยายวันครบกำหนดอายุ 10 บริษัท มูลค่ารวม 7,247.20 ล้านบาท โดยระยะเวลาที่ขอขยายคือตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยอาจใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอื่นเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ส่งผลให้มีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะขยับต่ำลง และอาจมีความผันผวนได้ในบางช่วงหากเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ธาดากล่าวถึงกรณีที่หลายประเทศดำเนินการล็อกอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวขึ้น (Yield Curve Control) ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมในระยะยาวนั้น มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลยังมีช่องทางอื่นๆ ในการระดมเงินอีกมาก จึงเชื่อว่าผลการออกพันธบัตรดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวแน่นอน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์
เรียบเรียง: สุรเมธี มณีสุโข
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com