×

ธัญวัจน์ ก้าวไกล เผยความสำคัญ #สมรสเท่าเทียม แตกต่างกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ ชี้เสียงประชาชนสำคัญ ต้องการความเสมอภาคทางเพศ

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (8 กรกฎาคม) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการติดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม หลังจากที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดรับความคิดเห็นในส่วนของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่) พ.ศ. …. ซึ่งธัญวัจน์และคณะเป็นผู้เสนอ

 

ธัญวัจน์กล่าวถึงเส้นทางการเข้าสู่รัฐสภาของเขา โดยกล่าวว่าตนเองก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เห็นความไม่เป็นธรรม เห็นการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานเกิดขึ้น เห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกล้ม ตนจึงอยากทำงานการเมือง ที่เข้ามาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่แค่มาผลักดันเรื่องเพศ แต่ยังมีมิติอื่นๆ ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาต่างๆ ที่ทำให้อยากมาทำงานตรงนี้ จึงได้เลือกเข้าสู่รัฐสภา เพราะที่รัฐสภาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรม อีกทั้งเป็นสิ่งที่ต้องยึดมั่นและยึดโยงกับประชาชน

 

ธัญวัจน์เล่าถึงการต่อสู้ในเรื่องการสมรสของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยในประเทศไทยได้เริ่มต่อสู้ประเด็นนี้มา 7-8 ปีแล้ว ซึ่งเริ่มมาจากภาคประชาชนที่มีการพูดถึงมานานเกือบ 10 ปีแล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าเราไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมมากนัก อาจมีคนบางกลุ่มที่รับรู้หรือไม่รู้เลยเกี่ยวกับเรื่องราวการสมรสของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่วันนี้เรามีสภาผู้แทนราษฎร เรามีร่างกฎหมายที่มาจากภาคประชาชนที่ดีที่สุดร่างหนึ่ง และตอนนี้ประชาชนก็ได้ร่วมกันให้ความเห็นและผลักดันเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

 

สำหรับเรื่องราวของกระแส #สมรสเท่าเทียม ธัญวัจน์เท้าความถึงก่อนหน้านี้ที่มีเรื่องของ พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ ที่ยังคงติดขัดและมองว่ายังไม่เท่าเทียม เพราะในกฎหมายดังกล่าวยังไม่เปิดให้สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ ไม่สามารถรับสวัสดิการจากรัฐ หรือเปลี่ยนสัญชาติคู่สมรสได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนประเด็นสมรสเท่าเทียม เพราะการสมรสเท่าเทียมคือการเปลี่ยนให้ทุกคนเสมอภาค คำว่า ‘คู่สมรส’ นั้นอยู่ในกฎหมายอื่นๆ อยู่แล้ว ดังนั้นการเปลี่ยนตรงนี้ก็จะสามารถรองรับและสอดคล้องกับกฎหมายอื่นๆ ได้ 

 

สำหรับความแตกต่างของ พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ กับการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือคำว่า ‘คู่ชีวิต’ และ ‘คู่สมรส’ ซึ่งคู่ชีวิตไม่ได้เท่ากับการสมรส คำว่าคู่ชีวิตเป็นคำใหม่ ไม่เคยมีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่การสมรสเท่าเทียมนั้น คำว่าคู่สมรสอยู่ในทุกกฎหมาย ดังนั้นหากเราแก้ตรงต้นตอ กฎหมายอื่นๆ ที่มีคำว่าคู่สมรสก็จะครอบคลุมด้วย แต่หากเป็นคู่ชีวิต คำนี้ไม่มีในกฎหมายอื่นๆ ดังนั้น เมื่อมี พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ แล้วก็ยังไม่ได้ครอบคลุมสิทธิอื่นๆ 

 

สำหรับร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ นั้น เราไม่ได้สุดโต่งแต่อย่างใด โดยร่างที่พรรคก้าวไกลยื่นไปนั้นแก้เพียงคำว่าชายหญิงเป็นบุคคล ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับบิดามารดาไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งที่เสนอไปก็เพื่อให้รองรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ดังนั้นเป็นการแก้กฎหมายที่เคารพทุกเพศ ซึ่งธัญวัจน์มองว่าการมีกฎหมายสมรสรองรับคนหลากหลายเพศนั้นเป็นการเปิดกว้างให้สังคมรับเรื่องเหล่านี้ได้มากขึ้น

 

ธัญวัจน์กล่าวว่าวันนี้เสียงของประชาชนดังขึ้นแล้ว พวกเขาต้องการความเสมอภาค แม้ก่อนหน้านี้จะพูดถึงความหลากหลายทางเพศมาแล้วหลายสิบปี แต่ครั้งนี้เราสัมผัสได้ถึงพลังเสียงของประชาชน เป็นกฎหมายที่คนให้ความสนใจ นี่คือวาระที่สังคมต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ซึ่งเบื้องต้นทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ได้ 15 วัน หลังจากนั้นความคิดเห็นเหล่านี้จะถูกส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาข้อมูลมาสรุปเป็นรูปเล่ม ก่อนส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาและเข้าสู่การบรรจุวาระในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

ดังนั้นวันนี้ทุกความคิดเห็นสำคัญหมด ผู้แทนราษฎรสามารถนำไปใช้ในการเสนอกฎหมาย ผลักดัน และอภิปราย ยิ่งมีการแสดงความคิดเห็นมากเท่าไรจะทำให้รัฐสภามองว่านี่คือวาระที่ประชาชนอยากให้ผลักดัน ที่สุดแล้วเสียงของประชาชนคือเสียงที่สำคัญที่สุด 

 

ส่วนกรณีที่บางคนอาจมองว่าไม่เหมาะสมหรือไม่ดีงามนั้น ธัญวัจน์คิดว่าเรื่องความดีงามต้องแยกออกจากความจริง เราไม่รู้หรอกว่าความดีงามนั้นดีจริงหรือไม่ วันนี้เราอยู่ในยุคที่ต้องเรียนรู้ความจริง เราต้องยอมรับว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ เราอยู่ในประเทศที่มีการค้าบริการทางเพศ เราอยู่ในโลกที่ปิดตาข้างเดียว เราโอเคแบบนั้นจริงหรือไม่ ถ้าเรามองว่าทุกคนเสมอภาคจริง ทุกคนก็จะมีคุณค่าในตัวเอง เราอย่ามากำหนดความดีและความไม่ดีในรูปแบบหรือโลกทัศน์ของเราเอง

 

สำหรับบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม สามารถติดตามได้ในรูปแบบวิดีโอผ่านทุกช่องทางของ THE STADARD เร็วๆ นี้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X