วันนี้ (30 มิถุนายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบและประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562-2565) เนื่องจากแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) ได้หมดวาระแล้ว ทางกระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจึงได้จัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562-2565) ขึ้น ตามแนวทางคู่มือแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights: OHCHR) ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562-2565) มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘สังคมรู้หน้าที่ เคารพสิทธิมนุษยชน และได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม’ โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วยแผนรายด้าน 10 ด้าน และแผนรายกลุ่ม 12 กลุ่ม ดังนี้
แผนสิทธิมนุษยชนรายด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมธรรมาภิบาลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมองค์กรวิชาชีพล่ามในกระบวนการยุติธรรม 2) ด้านการศึกษา ส่งเสริมให้เยาวชนที่ด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม 3) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 4) ด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจพร้อมกับกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม 5) ด้านการขนส่ง พิจารณาการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนใช้สาธารณูปโภคต่างๆ ที่จัดไว้ให้คนเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ 6) ด้านสาธารณสุข พัฒนาแนวทางการดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างเป็นระบบ 7) ด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี จัดทำมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการก่ออาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรม 8) ด้านการเมืองการปกครองและความมั่นคง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้นจากที่รัฐกำหนด เพิ่มบทเรียนด้านสิทธิมนุษยชนในระดับการศึกษาภาคบังคับ 9) ด้านที่อยู่อาศัย กำหนดแนวทางที่ชัดเจนเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ และมาตรการเยียวยาต่างๆ แก่ผู้ได้รับผลกระทบ 10) สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม และศาสนา ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแนวปฏิบัติของแต่ละศาสนา รวมทั้งส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์อย่างสมดุล
ส่วนแผนสิทธิมนุษยชนรายกลุ่ม เช่น 1) กลุ่มเด็กและเยาวชน เน้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของเด็ก เร่งปราบปรามปัญหาการใช้แรงงานเด็ก กลุ่มนักป้องกันสิทธิมนุษยชน เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. … และร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ. 3) กลุ่มผู้สูงอายุ พัฒนาคิดค้นนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ จัดมาตรการจูงใจในการดูแลผู้สูงอายุ 4) กลุ่มคนพิการ รัฐจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นสาธารณะสำหรับคนพิการ 5) กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และผู้แสวงหาที่พักพิงในเขตเมือง จัดหน่วยงานเคลื่อนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเอกสารที่ต้องใช้การขอสัญชาติ 6) กลุ่มความหลากหลายทางเพศ เร่งดำเนินการให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้ เช่น ร่าง พ.ร.บ. ชีวิตคู่ 7) กลุ่มสตรี พัฒนากลไกจัดการปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และแนวทางการแจ้งปัญหาความรุนแรงผ่านระบบดิจิทัล
รัชดากล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน ย้ำว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและเชื่อมโยงกันในทุกสังคม จำเป็นที่ประชาชนจะต้องตระหนักในสิทธิและหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน รวมถึงทุกกระทรวงต้องขับเคลื่อนงานด้านนี้ให้เต็มที่และร่วมกัน มากไปกว่านั้นที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ในแผนฯ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานสำหรับงบประมาณ พร้อมทั้งให้กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบกำหนดแนวทาง วิธีการรายงานผล และแบบรายงานผลการดำเนินงาน รวมถึงการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบและปฏิบัติตามด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์