หลายปีที่ผ่านมา การลงทุนของภาครัฐแม้จะมีข่าวว่าจะเริ่มโครงการขนาดใหญ่ แต่เม็ดเงินก็ยังไม่กระจายออกมาสักที ดังนั้นเมื่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกข่าวว่าจะเริ่มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ก็ทำให้หลายฝ่ายจับตามองมากขึ้น
แต่รายละเอียดโครงการนี้เป็นอย่างไร และบริษัทที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลอย่าง BTS-STEC และ BEM-CK ใครมีโอกาสได้ผลดีจากโครงการนี้ไป
*BTS: บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ STEC: บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น
BEM: บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ และ CK: บมจ.ช.การช่าง
รถไฟฟ้าสายสีส้ม กับการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน PPP Net Cost
เมื่อ รฟม. เดินหน้าเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเพื่อร่วมทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี มูลค่าโครงการ 127,012 ล้านบาท โดยจะเปิดจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ในวันที่ 10-24 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือนกันยายน 2563 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมทุนภายในเดือนธันวาคม 2563
เรียกว่าเป็นการประมูลรถ บริหารการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษาโครงการตลอดสายจากบางขุนนนท์-มีนบุรี ซึ่งการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้นเพราะภาครัฐหวังว่าจะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลังโควิด-19 ได้ และเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ถือเป็น PPP Net Cost (เอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้) ระยะเวลา 30 ปี
- รัฐจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน 14,662 ล้านบาท
- เอกชนลงทุนงานโยธาช่วงตะวันตก งานระบบรถไฟฟ้า
- รัฐสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท ชำระคืนหลังเปิดเดินรถทั้งสายเป็นระยะ 10 ปี พร้อมดอกเบี้ย โดยเอกชนที่ขอรับการอุดหนุนจากรัฐน้อยที่สุดและให้ผลตอบแทนกับรัฐมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกมีกำหนดเปิดเดินรถในปี 2567 และจะเปิดตลอดทั้งสายในปี 2569
การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มจะดันการลงทุนเอกชนปี 2563 ได้ไหม
มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้จะส่งผลดีใน 2 ส่วน ได้แก่
1. การลงทุนไทยจะเริ่มเดินหน้า เพราะที่ผ่านมาแม้โครงการต่างๆ งบประมาณจะผ่านการพิจารณาแล้ว แต่ยังชะลอตัวทั้งจากเรื่องโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ
2. ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มที่จับคู่เข้าประมูล เช่น BTS-STEC และ BEM-CK รวมถึงกลุ่มผู้รับเหมา เช่น บริษัทรับก่อสร้าง เสาเข็ม ฯลฯ ทั้งนี้หากดูผลดีต่อราคาหุ้นในกลุ่มรถไฟฟ้าในกรณีที่ BTS ชนะการประมูลโครงการนี้จะทำให้ราคาเพิ่มขึ้น 2.50 บาทต่อหุ้น (วันนี้ราคาหุ้นอยู่ที่ 11.20 บาทต่อหุ้น) ส่วนในกรณีที่ BEM ชนะการประมูลจะเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อราคาหุ้น (วันนี้ราคาหุ้นอยู่ที่ 9.50 บาทต่อหุ้น)
แม้ว่าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้จะเริ่มในเดือนกรกฎาคม 2563 และมีการเซ็นสัญญาร่วมทุนช่วงเดือนธันวาคม 2563 แต่คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มได้จริงในปีหน้า จึงจะเห็นทั้งเม็ดเงินและการจ้างงานในประเทศในปี 2564 เป็นต้นไป
BTS VS. BEM ใครจะประมูลได้รถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ไป
ทั้ง บล.เคทีบี (ประเทศไทย) และบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า BEM-CK มีความได้เปรียบที่จะประมูลได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงนี้ไป
ด้านมงคลมองว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ทาง BEM มีโอกาสที่จะได้โครงการนี้ไป ส่วนหนึ่งเพราะมีรถไฟฟ้าให้บริการเดินรถที่อยู่บนสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อสายสีส้มที่จะตัดเข้ากลางสายรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม จึงเพิ่มทั้งทราฟฟิกและลดต้นทุนในการสร้างสถานีด้วย
“ในธุรกิจรถไฟฟ้า หนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มทราฟฟิกคือจุดตัดระหว่างเส้นรถไฟฟ้า เพราะเป็นจุดที่คนจะมาขึ้นรถมากขึ้น เช่น สถานีสยาม บนรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ฯลฯ ดังนั้นสำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก สายบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ถ้า BEM ที่มีสถานีเดิมในแต่ละจุดอยู่แล้ว”
นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่ BEM มีโอกาสจะประมูลได้ เพราะ BEM มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงที่มีจุดตัดที่สถานีเตาปูนอยู่ก่อนแล้ว
ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก รวมถึงระบบเดินรถตลอดสายบางขุนนนท์-มีนบุรี คาดจะเป็นการแข่งขันระหว่างสองกลุ่มคือ กลุ่ม BEM-CK และกลุ่ม BTS-STEC โดยมองว่ากลุ่ม BEM-CK จะมีความได้เปรียบกลุ่ม BTS-STEC เพราะ
- ลักษณะโครงสร้างที่จะมีการใช้สถานีร่วมกันคือสถานีศูนย์วัฒนธรรมและบางขุนนนท์ รวมถึงการใช้ศูนย์ซ่อมบำรุง โรงจอดรถไฟ ทำให้สามารถทำต้นทุนได้ถูกกว่า
- งานก่อสร้างสายสีส้มตะวันตก 11 สถานีเป็นงานใต้ดินทั้งสาย ซึ่ง CK มีความชำนาญมากกว่า
ขณะเดียวกัน หากมองในส่วนงานก่อสร้างโยธา บริษัทที่สามารถประมูลได้ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยกรณีที่ CK ชนะงานประมูลจะช่วยเพิ่มมูลค่าประมาณ 3.5 บาท หรือหาก STEC ชนะงานประมูลจะช่วยเพิ่มมูลค่าประมาณ 4 บาท
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้ราคาเป้าหมาย CK อยู่ที่ 24 บาท เป็น Top Pick และราคาเป้าหมายของ STEC ที่ 20 บาท แต่อย่างไรก็ตามยังคงให้น้ำหนักกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเท่าตลาด (Neutral)
สุดท้ายนี้คงต้องติดตามข้อเสนอของผู้ให้บริการรถไฟฟ้าหลักในไทยช่วงเดือนกันยายน และผลการประมูลที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์