ปัญหาโลกแตกของคนที่มีปัญหาเรื่องผิวหน้า เนื่องจากแยกแยะไม่ออกว่าสิ่งที่ผุดขึ้นมาบนใบหน้านั้นคือ สิว ผื่น หรืออาการแพ้ครีมตัวใหม่ที่เพิ่งใช้กันแน่ บทความนี้จะมาช่วยให้คุณเข้าใจกลุ่มอาการเหล่านี้มากขึ้น พร้อมแนะแนวการรักษาและป้องกันอย่างถูกวิธี เพื่อให้หน้าใสอยู่คู่กับเราไปนานๆ
หน้าสากๆ เพราะผื่นขึ้นหน้า
ผื่นมีหลายรูปแบบ ทางการแพทย์เรามักแบ่งผื่นตามระยะเวลาการเกิดโรค กล่าวคือ ผื่นเฉียบพลัน ได้แก่ ผื่นที่ขึ้นมาในระยะเวลาไม่กี่วัน และผื่นแบบเรื้อรัง ที่ขึ้นนานหลายสัปดาห์จนถึงหลักเดือน ซึ่งผื่นทั้งสองประเภทสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ และหลายรูปแบบ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องพบแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์ผิวหนัง เพื่อช่วยดูอาการว่าเกิดจากอะไร เพราะบางคนขึ้นหน้า บางคนขึ้นแขน ขา มือ ลำตัว รักแร้ จุดซ่อนเร้น ฯลฯ
เนื่องจากสาเหตุของการเกิดผื่นมีหลากประเภท เช่น ผื่นที่เกิดจากโรคติดเชื้อ ผื่นจากการเสียดสีหรืออุบัติเหตุ ผื่นที่เกี่ยวกับเนื้องอกผิวหนังหรือมะเร็ง ผื่นที่เกิดจากการอักเสบ ผื่นที่เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่อง หรือผื่นที่เกิดจากโรคเมตาบอลิซึมหรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดันสูง ผื่นที่เกิดจากความชรา และผื่นที่เกิดจากโรคทางระบบต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ ฯลฯ
ดังนั้น เวลาเป็นผื่นขึ้นหน้า คำแนะนำเบื้องต้นคือการคอยดูว่าถ้าเป็นไม่กี่วันแล้วหายเอง เช่น ได้รับการทาครีมบำรุงแล้วหาย ก็มักไม่อันตราย แต่ถ้าเป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เป็นแล้วไม่หายสักที การมีผื่นบนใบหน้าอาจเกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ ดังที่กล่าวไป เมื่อมีผื่นที่ไม่หายเองง่ายๆ จึงแนะนำให้พบแพทย์จะดีที่สุด
ครีมและเครื่องสำอางก็ทำให้หน้าพังได้
กลุ่มอาการประเภทนี้มักมีประวัติสัมพันธ์กับการใช้ครีมหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้บนใบหน้าโดยตรง รวมถึงเครื่องแต่งหน้าทั้งหลาย เช่น แป้งพัฟฟ์ มาสคาร่า ลิปสติก อายแชโดว์ น้ำหอม ฯลฯ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับใบหน้าจำนวนมาก แม้กระทั่งในร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าออนไลน์ ซึ่งเสี่ยงต่อความแพ้ เนื่องจากเป็นเครื่องสำอางหรือครีมที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. บางเจ้าเจือปนด้วยสารอันตราย เช่น สเตียรอยด์หรือปรอท เหล่านี้จะทำให้หน้าขาวซีดเป็นระยะสั้น จึงไว้หลอกผู้ซื้อว่าได้ผลดี ที่ไหนได้ ใช้ไปนานๆ ผิวจะบางลง และสารอันตรายเหล่านี้จะกดภูมิต้านทาน ทำให้ผิวอ่อนแอจนติดเชื้อโรคได้ง่าย ต่อมาจึงมักเกิดการอักเสบ พุพอง กลายเป็นหน้าสิว หน้าดำ
สำหรับครีมที่แม้มีเครื่องหมาย อย. บางครั้งก็ก่อการแพ้ได้ เช่น หากผู้ใช้มีลักษณะผิวแพ้ง่าย ไวต่อสารบางตัวที่อาจก่อให้เกิดการอุดตัน หรือทำให้ผิวแห้งง่าย หรือสารบางตัวมีความเข้มข้นที่อาจสูงกว่าขีดจำกัดที่ผิวผู้ใช้จะรับได้ ก็อาจเกิดผื่นขึ้นมาได้ อาการผื่นแพ้ครีมมักไม่หายเอง ควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น ยาฆ่าเชื้อที่ตรงกับโรค ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าและครีมบำรุงโดยเฉพาะ ผิวจึงจะดีขึ้น
สิว… ปัญหาไม่สิวของวัยรุ่น
ปัจจุบันเราเชื่อเรื่องของเชื้อโรคหลากหลายที่มาร่วมกันก่อให้เกิดสิว เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นมาก ก็ทำให้สิวเห่อลุกลามไปทั่วหน้า สิวเป็นโรคที่พบบ่อยในวัยรุ่น เพราะกำลังฮอร์โมนพลุ่งพล่าน บวกกับการดูแลตนเองมักไม่ค่อยดีนัก เช่น การรับประทานอาหารหวานๆ มันๆ ทอด ปิ้ง ย่าง อาหารรสจัด หมัก ดอง อาหารทะเล เบเกอรี ไอศกรีม ช็อกโกแลต ขนมปัง นมเปรี้ยว นมวัว ฯลฯ อาหารพวกนี้ก่อสิวได้ เช่นเดียวกับการเล่นมือถือตลอดทั้งวัน เพราะแสงสีฟ้าจากมือถือจะกระตุ้นสมอง ทำให้หลั่งฮอร์โมนแบบผิดปกติ เกิดการรวน ทำให้เกิดสิวได้
รวมถึงการอดหลับอดนอน ที่โดยทั่วไปหมอมักแนะนำให้วัยรุ่นนอนก่อน 4 ทุ่ม และปิดไฟให้สนิท ไม่เช่นนั้นฮอร์โมนที่จะหลั่งช่วงกลางคืนจะไม่หลั่งออกมา เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่มีผลต่อการซ่อมแซมร่างกายและทำให้เราสูงขึ้น และฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ไม่หลั่ง ทำให้เรานอนไม่หลับ หน้าสิวเห่ออีก
โดยทั่วไปถ้าได้รับยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม สิวก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ สูตรการรักษาสิวมีหลายชนิด ทั้งยาทา ยารับประทาน และผลิตภัณฑ์รักษาสิวก็มีหลากหลาย เช่น การทำทรีตเมนต์ การทำเลเซอร์ หรือการกดสิว สำหรับตัวหมอเอง ส่วนตัวไม่ได้เชื่อมั่นและไม่แนะนำการฉีดสิว เพราะการฉีดสิวโดยทั่วไปจะใช้สเตียรอยด์ฉีด และบางครั้งหลายที่อาจไม่ใช่หมอเป็นคนฉีด สิ่งที่ควรระวังคือ สเตียรอยด์ ซึ่งเป็นดาบสองคม เพราะมีผลข้างเคียง เช่น สิวสเตียรอยด์ที่พบในคนที่ฉีดสิวบ่อยๆ หรือได้รับครีมสเตียรอยด์บ่อยๆ จนสิวกลับมาลามไปทั่วใบหน้า หลัง หรือหน้าอกได้ เมื่อรักษาสิวแล้วกลับเป็นสิวสเตียรอยด์ พวกนี้ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อไปอีก การรักษาสิวโดยทั่วไปจึงไม่ควรใจร้อน และข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์คือ ผิวหนังของคนเราจะสร้างใหม่ต้องใช้เวลา 28 วัน (ประมาณ 1 เดือน) ดังนั้น การที่สิวจะดีขึ้น ส่วนใหญ่รักษา 1-3 เดือน ไม่ใช่รักษาแค่ไม่กี่วันจะหายขาด
อีกภาวะสิวจากประสบการณ์การตรวจรักษาคือ สิวที่เกิดจากโรคแอบแฝง เช่น ซีสต์ในรังไข่ ภาวะไข่ไม่ตก ภาวะฮอร์โมนเพศแปรปรวนทั้งในหญิงและชาย ถ้าตระเวนไปรักษาตามที่ต่างๆ เป็นปีๆ แล้วก็ไม่หายเสียที หมอมักแนะนำให้พบแพทย์สูตินรีเวชเพื่อตรวจภายในและอัลตราซาวด์เพิ่มเติม หลายคนพบว่ามีโรคแอบแฝงจริง ก็รักษาโรคแอบแฝงควบคู่กับรักษาสิวไปพร้อมกัน สุดท้ายอาการก็จะดีขึ้น ถ้ามีโรคแอบแฝง โดยธรรมชาติของการรักษาจะใช้เวลารักษาหลายเดือนจนถึงเป็นปีๆ ดังนั้น หากคุณผู้หญิงเป็นสิวแล้วไม่หายสักที แนะนำให้ตรวจโรคแอบแฝง เพื่อการรักษาที่ตรงจุด
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Practical way of creating differential diagnoses through an expanded VITAMINSABCDEK mnemonic, Zabidi A Zabidi-Hussin https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4853007/
- A review of diagnosis and treatment of acne in adult female patients, A.U. Tan, MD, B.J. Schlosser, MD, PhD, and A.S. Paller, MD https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5986265/