×

ถอดบทเรียน LINE TV กับการดัน ‘ซีรีส์วาย’ ที่แมสแล้วจริงหรือ?

24.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่คอนเทนต์ประเภทความรักสายวายเป็นกระแสมาในบ้านเรา ก่อนจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วง 5-6 ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่มีช่องทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มวิดีโอหันมาผลิตคอนเทนต์เหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • สำหรับ LINE TV มองว่าซีรีส์วายเป็นคอนเทนต์ที่แมสเรียบร้อยแล้ว ด้วยยอดชม 6,000 ล้านวิวที่เกิดขึ้นกับซีรีส์วาย 33 เรื่องที่อยู่ใน LINE TV ล่าสุดตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา คนดูใช้เวลาดูนานขึ้น 34% และขยายเวลาดูมากขึ้น จากเดิมจะดูช่วง 22.00-23.00 น. เพิ่มเป็นถึงเที่ยงคืน 
  • อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ LINE TV คือ แม้จะมองว่าซีรีส์วายเป็นคอนเทนต์ที่แมสแล้ว แต่สำหรับแบรนด์สินค้าบางส่วนยังไม่กล้าลงโฆษณา ด้วยกังวลกระทบกับภาพลักษณ์ของสินค้า ดังนั้น LINE TV จึงต้องหาวิธีในการปั๊มรายได้ เนื่องจากยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะจะหารายได้จากค่าโฆษณาไม่ใช่สมัครสมาชิก ซึ่งยังไม่เหมาะกับเมืองไทย 

หากจับกระแสกันได้ หนึ่งในคอนเทนต์ที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่จับตาของทั้งช่องทีวีหรือแพลตฟอร์มต่างๆ คือ ‘ซีรีส์วาย’

 

คำถามที่เกิดขึ้นคือ เหตุใดคอนเทนต์ที่เคยเป็นที่ชื่นชอบของคนดูเฉพาะกลุ่ม วันนี้กลับเริ่มขยายเป็นวงกว้าง และที่สำคัญ ‘แมส’ อย่างที่ทุกคนมองไว้หรือเปล่า

 

‘กระแสวาย’ เกิดขึ้นในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว

กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย อธิบายว่า ในเมืองไทยคอนเทนต์ประเภทความรักสายวายเป็นกระแสที่มีมานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี จากการปรากฏขึ้นของศิลปิน ดารา หรือตัวละครชายในท่าทางใกล้ชิดสนิทสนมกัน ทั้งในละคร การประกวดร้องเพลง จนเกิดคำว่าคู่จิ้น ประกอบกับนิยายหรือการ์ตูนวายที่แพร่หลายมาในกลุ่มแฟนคลับนักอ่านที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย 

 

เราจะเห็นได้ว่าจะมีการสอดแทรกตัวละครสายวาย-คู่จิ้นในละครดังๆ หลายเรื่อง จนได้รับความนิยมและเป็นที่พูดถึงไม่แพ้คู่นักแสดงหลัก แต่ก็ยังไม่ถึงกับแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการที่น่าสนใจตั้งแต่นั้นมา

 

แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ความนิยมดังกล่าวเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จากการที่มีช่องทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์เพิ่มขึ้นมากมาย ผู้ผลิตจึงต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยคอนเทนต์ที่พวกเขาชื่นชอบ 

 

หนึ่งในนั้นคือคอนเทนต์ประเภทสายวายชวนจิ้น จึงเกิดเป็นซีรีส์โทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องราวของคู่วายเป็นตัวละครหลัก ประกอบมิติเชิงสังคมที่มีการเปิดกว้างและรับความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้คอนเทนต์ซีรีส์วายกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ความแมส’ หรือความนิยมกระแสหลักมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม หากลองสังเกตดูจะพบว่า ซีรีส์วายยอดฮิตเป็นปรากฏการณ์ในหลายๆ เรื่อง เช่น เพราะเราคู่กัน 2gether The Series, Sotus The Series, En of Love ฯลฯ ที่โด่งดังนั้น มีองค์ประกอบร่วมกันอยู่ประมาณ 5 ข้อ ได้แก่ 

 

  • การคัดเลือกนักแสดงที่มีบุคลิกหน้าตาดี โดดเด่น เคมีเข้ากันมารับบท
  • เล่าเรื่องผ่านชีวิตนักเรียน นักศึกษา สร้างจุดร่วมเชื่อมโยงกับฐานคนดูที่อยู่ในวัยเดียวกัน
  • เนื้อเรื่องโรแมนติก บทชวนจิ้นในแบบเฉพาะของวาย บางส่วนโด่งดังจากการเป็นนิยาย จึงมีฐานคนดูเหนียวแน่น
  • การต่อยอดการตลาดที่ไม่ได้อยู่แค่ในจอ เพื่อเข้าถึงและขยายกลุ่มแฟนคลับในรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย พร้อมบุกตลาดต่างประเทศ (จีน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และเมียนมา) 
  • ชมผ่านออนไลน์ พร้อม Connect บนโซเชียลมีเดีย เข้ากับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่นิยมชมออนไลน์ เกาะติดบรรยากาศและแชร์ความรู้สึกผ่านแฮชแท็กบนโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์

 

‘ซีรีส์วาย’ ขยายฐานคอนเทนค์ให้กว้างขึ้น 

สำหรับ LINE TV มี ซีรีส์วายเรื่องแรกคือเรื่อง Make it right รักออกเดิน ในปี 2016 โดยเป็นเอ็กซ์คลูซีฟรีรันจากช่อง 9 หลังจากนั้นก็มีเรื่อยมา ปัจจุบันมีซีรีส์วายทั้งหมด 33 เรื่อง แบ่งเป็นรีรัน 29 เรื่อง และออริจินัลคอนเทนต์ของ LINE TV เองจำนวน 4 เรื่อง 

 

“จุดตั้งต้นของเราไม่ได้วางว่า LINE TV เท่ากับซีรีส์วาย แต่เราเริ่มต้นด้วยการเปิดกว้างให้กับคอนเทนต์ประเภทต่างๆ ผู้ผลิตเลยนำเสนอเข้ามา เมื่อได้รับความนิยมก็ได้ขยับจากบทรองๆ ขึ้นเป็นบทบาทหลัก”

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา คอนเทนต์วายมียอดดูแล้ว 600 ล้านวิว โดยเติบโตเรื่อยมาจากปีแรกที่มีสัดส่วนคนดูประมาณ 2% จากเรื่องที่ฉายประมาณ 2-3 เรื่อง ขยับขึ้นมาเป็น 5% ในปี 2018 และเพิ่มขึ้นมาเป็น 20% ในช่วง 4-5 เดือนแรกขอปีนี้ 

 

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขสัดส่วนเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นเพราะมีซีรีส์วายที่มาแรงบน LINE TV เข้าฉาย ได้แก่ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series และ En of Love รักวุ่นๆ ของหนุ่มวิศวะ และ Why R U The Series เพราะรักใช่เปล่า โดยสามารถสร้างการเติบโตด้านยอดรับชมสูงสุดถึง 45% (Page View) หรือมากกว่า 350 ล้านวิวจากคอนเทนต์ในหมวดหมู่นี้ ใช้เวลาดูนานขึ้น 34% (Watch Time) คนใช้เวลาบน LINE TV นานมากขึ้น จากเดิมจะดูช่วง 22.00-23.00 น. เพิ่มเป็นถึงเที่ยงคืน ซึ่งปัจจัยมาจากกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของตัวคอนเทนต์ และเป็นช่วงล็อกดาวน์ที่คนอยู่บ้านมากขึ้น 

 

 

ขณะเดียวกันฐานผู้ชมซีรีส์วายขยายเพิ่มมากขึ้นถึง 328% โดยจากเดิมเป็นฐานผู้ชมเพศหญิง อายุ 18-24 ปี ในสัดส่วนที่มากกว่า Average รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี และกลุ่มที่มีการเติบโตน่าสนใจคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป (ไม่ใช่อันดับ 3 แต่เป็นกลุ่มที่เติบโตน่าสนใจ) ซึ่งพบพฤติกรรมของกลุ่มแฟนคลับวายว่า เมื่อพวกเขาฟินและเอ็นจอยกับคอนเทนต์ ก็จะชวนให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ดูตาม

 

ข้อมูลจาก LINE TV ระบุว่า Top 5 อันดับซีรีส์วายที่มียอดรับชมสูงสุดบน LINE TV (ต้นปี 2020 ถึงปัจจุบัน) ได้แก่ 2gether The Series, TharnType the Series, Until We Meet Again, Why R U The Series และ En Of Love

 

“สิ่งที่เราสังเกตได้คือ กระแสของซีรีส์วายยังไม่ถึงจุดสูงสุด เรามองว่ายังสามารถเติบโตได้มากกว่านี้อีก”

 

หารายได้ช่องทางใหม่ๆ 

กณพย้ำว่า LINE TV จะยังเป็นแพลตฟอร์มที่หารายได้จากการโฆษณา ยังไม่มีแผนที่จะหารายได้จากการสมัครสมาชิก เพราะยังไม่เหมาะกับเมืองไทย ดังนั้นโจทย์ของ LINE TV คือการหารายได้จากค่าโฆษณา 

 

สำหรับซีรีส์วายนั้นแม้จะเริ่มแมสแล้วก็จริงในมุมมองของ LINE แต่ความท้าทายคือ บางแบรนด์ยังไม่มั่นใจที่จะลงโฆษณา ด้วยกังวลจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสินค้า แม้สินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องสำอาง สบู่ จะเริ่มมาลงโฆษณามากขึ้นก็ตาม แต่ในมุมของ LINE TV สินค้ากลุ่มเทคโนโลยีและแก็ดเจ็ต ก็เป็นอีกกลุ่มที่สามารถเข้ามาได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อการลงโฆษณายังต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อทำความเข้าใจ และเป็นการบ้านที่ LINE TV พยายามเร่งทำอยู่ ดังนั้น LINE TV จึงต้องหาวิธีในการปั๊มรายได้เข้ามา ซึ่งล่าสุดได้ทำแคมเปญร่วมกับบริการอื่นๆ ในเครือ ได้แก่ สติกเกอร์ โดยออกเป็นสติกเกอร์เกี่ยวกับตัวละคร และ เมโลดี้ ทำเป็นเสียงรอสาย ซึ่งหยิบซีรีส์ 3 เรื่องมาทดลองก่อน 

 

สถิติล่าสุดนั้นพบว่า เพราะเราคู่กัน 2gether The Series ทำให้ภายใน 24 ชั่วโมงที่ปล่อยขายสติกเกอร์ สามารถทำยอดขายมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1,000% และภายใน 1 ชั่วโมงสามารถขึ้นเบอร์ 1 ของสติกเกอร์ยอดฮิต ขณะที่เมโลดี้หลังเปิดตัวมียอดขายมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 400% 

 

 

ลึกเข้าไปสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ LINE พอใจเป็นอย่างมาก เพราะได้เข้ามาช่วยส่งเสริมให้ Ecosystem ของ LINE นั้นแข็งแรงมากขึ้น ซึ่ง LINE ระบุว่า โมเดลนี้จะถูกนำไปทำกับซีรีส์วายเรื่องอื่นๆ แน่นอน

 

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ กระแสวายจะขึ้นสู่จุดสูงสุดได้แค่ไหน ตลอดจนความท้าทายต่อไปของ LINE TV ที่วันนี้หลายๆ แพลตฟอร์มต่างก็ลุกขึ้นมาเจาะตลาดซีรีส์วายเช่นเดียวกัน

 

LINE TV จะรักษาตำแหน่งตัวเองไว้ได้หรือไม่ อีกไม่นานคงรู้กัน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X