ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้นประกอบด้วยดาวฤกษ์จำนวนมากมายมหาศาล มีดาวฤกษ์ราว 4,000 ดวง ที่ได้รับการค้นพบแล้วว่า มีดาวเคราะห์เป็นบริวารโคจรอยู่โดยรอบ คล้ายกับระบบสุริยะของเราที่มีดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบ และมีดาวเคราะห์จำนวนมากถึง 8 ดวง รวมโลกเราด้วย โคจรเป็นบริวารอยู่นั่นเอง
ถัดจากระบบสุริยะของเราออกไปที่ระยะทางประมาณ 4.37 ปีแสง ในทิศทางหมู่ดาวคนครึ่งม้า มีกลุ่มดาวฤกษ์ 3 ดวง ที่หากเทียบกับดาวฤกษ์ดวงอื่นในจักรวาลแล้ว ดาวฤกษ์กลุ่มนี้ต้องถือว่าเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ของเรามากที่สุด ดาวฤกษ์ทั้ง 3 ดวงนี้มีชื่อเรียกรวมๆ กันว่า ‘อัลฟา เซ็นทอรี (Alpha Centauri)’ หรือ ‘α Centauri’
Photo: PHL @ UPR Arecibo.
กลุ่มดาวอัลฟา เซ็นทอรี จะมีดาวฤกษ์คู่หนึ่งที่โคจรรอบกันและกันในลักษณะไบนารี สตาร์ เรียกว่า อัลฟา เซ็นทอรี เอ (α Centauri A) หรือดาวรีจิล เคนเทารัส (Rigil Kentaurus) และอัลฟา เซ็นทอรี บี (α Centauri B) หรือดาวทอลิมัน (Toliman) ดาวฤกษ์ทั้งสองดวงนี้มีลักษณะทั้งความสว่าง ความร้อน และขนาดใกล้เคียงดวงอาทิตย์ของเรา และยังไม่มีการค้นพบว่ามีดาวเคราะห์เป็นบริวาร
ถัดจากดาวฤกษ์ทั้งคู่ ในระยะทาง 4.22 ปีแสง ใกล้มาทางระบบสุริยะของเรา มีดาวฤกษ์ดวงที่ 3 เรียกว่า อัลฟา เซ็นทอรี ซี (α Centauri C) หรือดาวพร็อกซิมา เซ็นทอรี (Proxima Centauri) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ชนิด M หรือดาวแคระแดง เป็นดาวฤกษ์ที่มีขนาดเล็กและมีแสงสว่าง รวมทั้งความร้อนต่ำกว่าดวงอาทิตย์ของเรามาก และดาวพร็อกซิมา เซ็นทอรีนี้เอง ที่เราได้ค้นพบว่ามีดาวเคราะห์โคจรอยู่
Photo: ESO / BBC
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ได้มีการประกาศผลงานโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากหอดูดาวแม็คโดนัลด์ ถึงการค้นพบดาวเคราะห์ดวงแรกที่โคจรรอบดาวฤกษ์พร็อกซีมา เซ็นทอรี นั่นคือดาวเคราะห์ที่ถูกตั้งชื่อว่า Proxima Centauri b (ใช้อักษรบีตัวเล็ก เพื่อเน้นว่าเป็นดาวเคราะห์) ดาวเคราะห์ ‘บี’ นี้เป็นดาวเคราะห์หิน โคจรในโซนอบอุ่น ทำให้มีแนวโน้มว่าอาจพบน้ำในสถานะของเหลวบนผิวดาวเคราะห์ดวงนี้ การค้นพบดาวเคราะห์ ‘บี’ เมื่อหลายปีก่อนเพิ่งได้รับการยืนยัน ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง ว่าขนาดที่แน่นอนของดาวเคราะห์ดวงนี้คือใหญ่กว่าโลกเรา 17% และมีวงโคจรรอบดาวแม่ 11.2 วันต่อรอบ
ไม่กี่วันหลังการยืนยันขนาดและวงโคจรของดาวเคราะห์ ‘บี’ วงการดาราศาสตร์ก็ต้องพบข่าวใหญ่อีกข่าว นั่นคือการประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่ 2 ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์พร็อกซีมา เซ็นทอรี ในชื่อ Proxima Centauri c หรือดาวเคราะห์ ‘ซี’ ของระบบดาวนี้ ดาวเคราะห์ ‘ซี’ มีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์ ‘บี’ มาก ประมาณแล้วอาจใหญ่และมีมวลมากกว่าโลกของเราถึง 7 เท่า และโคจรรอบดาวแม่นานถึง 1,907 วันต่อรอบ และจากระดับของความสว่างจากการสะท้อนแสง คาดว่าดาวเคราะห์ ‘ซี’ นี้อาจมีวงแหวนขนาดใหญ่ด้วย
ความที่ดาวแม่หรือดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบอย่างดาวพร็อกซิมา เซ็นทอรี มีความร้อนต่ำมาก หากเทียบกับดวงอาทิตย์ของเรา การที่ดาวเคราะห์ ‘ซี’ ซึ่งโคจรอยู่ที่ระยะไกลถึง 1.5AU หรือ 1 เท่าครึ่งของระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงโลก ทำให้แสงแดดไปถึงดาวเคราะห์ ‘ซี’ น้อยมาก ดาวเคราะห์ดวงนี้จึงน่าจะเป็นดาวเคราะห์แก๊สที่เย็นเฉียบคล้ายดาวเนปจูน ไม่น่าจะมีปัจจัยเอื้ออำนวยต่อชีวิตเท่าดาวเคราะห์ ‘บี’
ภาพจากอุปกรณ์ SPHERE ที่หอดูดาว Very Large Telescope (VLT) ในประเทศชิลี ที่แสดงให้เห็นดาวเคราะห์ Proxima Centauri c โคจรตามเส้นสีแดงรอบวงกลมดำตรงกลาง ซึ่งเป็นตำแหน่งของดาวแม่หรือดาว Proxima Centauri ที่ทำหน้าที่เป็นดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบ
via Gratton et al./ A&A/ Nature Astronomy.
อย่างไรก็ตาม การค้นพบดาวเคราะห์ ‘ซี’ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ความสงสัยว่าน่าจะมีดาวเคราะห์อีกดวงในระบบนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 จากนั้นเมื่อเดือนมกราคม 2563 ทีมนักดาราศาสตร์นำโดย มาริโอ ดามาสโซ จากสถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งชาติของอิตาลี (INAF) ก็ได้พยายามยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์ ‘ซี’ แต่หลักฐานที่ทีมงานนี้มีจากการสังเกตการส่ายของตัวดาวฤกษ์ยังไม่พอต่อข้อสรุปที่อาจมีข้อโต้แย้งได้ว่า การส่ายมีผลมาจากอิทธิพลของสิ่งอื่น จนล่าสุดก็กลับมาที่ทีมนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวแม็คโดนัลด์อีกครั้ง โดยทีมงานที่นำโดย ดร.จอร์จ ฟริตซ์ เบเนดิกต์ พบไอเดียใหม่ในการไปค้นหาข้อมูลเก่าจากอุปกรณ์ FGS ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่บันทึกย้อนหลังไปถึง 20 ปี จนทำให้สามารถสังเกตพบการวนซ้ำมากกว่า 5 รอบ ของอาการส่ายของตัวดาวฤกษ์พร็อกซิมา เซ็นทอรี หลักฐานนี้เองที่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า มีมวลใดมวลหนึ่งที่ส่งผลต่อตัวดาวฤกษ์ตามเส้นทางโคจรที่จะครบรอบทุก 1,907 วัน ซึ่งก็คือดาวเคราะห์ ‘ซี’ นี้เอง จน ดร.เบเนดิกต์ สามารถนำเสนอการค้นพบครั้งนี้ในการประชุมเสมือนจริงครั้งที่ 236 ของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการค้นพบครั้งนี้ลงในวารสาร RNAAS ฉบับล่าสุด ถึงการมีอยู่จริง ของดาวเคราะห์ดวงที่ 2 ในระบบดาวที่ใกล้โลกยิ่งกว่าดาวฤกษ์ดวงไหนๆ ที่เรามองเห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืน
หมายเหตุ:
ภาพปก – Michele Diodati / Medium
ภาพวาดจากศิลปินให้เห็นลักษณะของดาวเคราะห์ 2 ดวง คือ ดาวเคราะห์พร็อกซิมาบี (วงกลมสีดำเล็กในภาพ) และดาวเคราะห์พร็อกซิมาซี (วงกลมสีดำใหญ่พร้อมวงแหวน) ตรงกลางภาพคือดาวฤกษ์พร็อกซิมา เซ็นทอรี ที่ทำหน้าที่เป็นดวงอาทิตย์ให้ระบบดาวนี้
เรียบเรียงโดย @MrVop
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล