คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีข้อสรุปว่า เห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือนสิงหาคมปี 2563 เพื่อให้เห็นผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP
ทั้งนี้ กระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคียังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี โดยมีขั้นตอนหลัก ได้แก่
- การขอเข้าร่วมเจรจา
- การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี
- หากเจรจาเสร็จแล้ว ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ขณะเดียวกันต้องมีการรับฟังประชาพิจารณ์ผลการเจรจา
- เสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ
ดังนั้น หากไทยไม่ได้ประโยชน์จากการเจรจา ก็สามารถยุติการเจรจาในทุกขั้นตอน โดย กกร. เห็นว่า การเข้าร่วมเจรจาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยทราบถึงข้อตกลง และเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ว่า เศรษฐกิจไทยอาจติดลบ 3-5%
โดยการส่งออกอาจหดตัว 5-10% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบติดลบ 1.5-0.0%
ขณะที่ภาพรวมมองว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่กำลังซื้อครัวเรือนยังอ่อนแอ ขณะที่ปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะถดถอย และมีความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยิ่งทำให้เศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยยังไม่กลับสู่ภาวะปกติหรือก่อนโควิด-19 ทาง กกร. มองว่า ภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็ว โดยเน้นโครงการที่เพิ่มเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจรากฐานและฟื้นฟูท้องถิ่นธุรกิจท้องถิ่น เพื่อสร้างงานอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการเร่งดำเนินโครงการให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ กกร. มองว่า มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จะประคองธุรกิจในระยะนี้ได้ แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมหารือและบริหารจัดการให้เงื่อนไขต่างๆ ในการปล่อยสินเชื่อมีความคล่องตัวมากกว่าปัจจุบัน ขณะเดียวกันเสนอให้มีการประชุมระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยจะเป็นเวทีสำหรับการหารือหรือเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอย่างจริงจังอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
หมายเหตุ: คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล