สถานการณ์บริเวณชายแดนจีนและอินเดียในเทือกเขาหิมาลัยตึงเครียดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังมีการเผชิญหน้ากันระหว่างกองทัพของทั้งสองฝ่ายที่กล่าวหาว่า อีกฝ่ายก้าวข้ามเส้นควบคุมแท้จริง (LAC) อันเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างสองประเทศ
ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนดังกล่าวเกิดขึ้นมายาวนาน นับตั้งแต่สงครามนองเลือดจีน-อินเดียในปี 1962 ซึ่งหลายปีที่ผ่านมามีการปะทะเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างกองกำลังทหารของสองประเทศหลายครั้ง
ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 มิถุนายน) ผู้บัญชาการกองทัพของสองประเทศนัดประชุมกันที่บริเวณชายแดน เพื่อหาทางออกของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสันติ ก่อนจะมีการส่งสัญญาณบวกอย่างการถอนกำลังทหารกลับที่ตั้ง และเตรียมประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันนี้
แต่ท่าทีของทั้งสองฝ่ายที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะยุติปัญหาเช่นไร ทำให้นอกจากการเผชิญหน้าบนพื้นดิน ทั้งสองประเทศยังเดินหมากทำสงครามต่อ ด้วยยุทธวิธีโฆษณาชวนเชื่อ และแสดงท่าทีดุดันผ่านทางสื่อกระบอกเสียงของตน
ก่อนการประชุมในวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลจีนได้เผยแพร่ภาพการซ้อมรบแสดงแสนยานุภาพของกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ทั้งเครื่องบินและกองกำลังทหารหลายพันนาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนสามารถเสริมกำลังป้องกันชายแดนได้อย่างรวดเร็วหากจำเป็น คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปทั่วโซเชียลมีเดียของจีนและอินเดีย
หนังสือพิมพ์ Hindustan Times ของอินเดีย รายงานความเห็นของ ชิเชียร์ กัปตา นักวิเคราะห์และบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ ว่าการรายงานข่าวและภาพกำลังทหารของจีนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงและบั่นทอนแนวทางแก้ปัญหา ตลอดจนเอาชนะศัตรูด้วยการทำให้ตื่นตระหนก เพื่อให้ตกเป็นรองในการเจรจา
ด้าน Global Times หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์รายวันที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการจีน ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ของกองทัพจีนที่คาดการณ์ว่า เหตุเผชิญหน้าของสองประเทศที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนจะไม่ยุติในทันที เนื่องจากต้องมีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมในประเด็นสำคัญก่อน ซึ่งประเด็นที่ว่านี้คือ ข้อพิพาทในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนของทั้งสองฝ่ายที่เกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษ ซึ่งการเผชิญหน้าครั้งล่าสุดและการเสริมกำลังทหารบริเวณชายแดนของจีนและอินเดีย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น
ขณะที่บทบรรณาธิการของ The Hindu หนังสือพิมพ์รายวันอีกฉบับของอินเดีย ระบุว่า จีนต้องถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ LAC และจำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายการเมืองของปักกิ่งต้องสั่งการกองทัพให้เร่งดำเนินการ ในขณะเดียวกัน อินเดียเอง ต้องเตรียมพร้อมรับการเผชิญหน้าที่ยืดเยื้อ
“หากต้องการให้สถานการณ์กลับสู่สภาพเดิมที่เป็นอยู่ จำเป็นที่กองกำลังทหารจีนต้องหายไปจากพื้นที่ซึ่งพวกเขาปักหลักมาหลายสัปดาห์ ไม่มีสิ่งอื่นนอกจากการถอนกำลังทหารทั้งหมดที่จะทำให้อินเดียพอใจ หมายความว่านอกจากการเจรจาของกองทัพและช่องทางการทูต มีความจำเป็นที่ปักกิ่งต้องสั่งการโดยตรงไปยัง PLA เพื่อให้ทำเช่นนั้น นอกจากนี้อินเดียเองต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญหน้าในระยะยาว และวางยุทธศาสตร์รับมือ โดยมุ่งให้จีนถอนกำลัง” The Hindu ระบุในบทบรรณาธิการ
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวในการทำสงครามผ่านสื่อของทั้งสองฝ่ายนั้นมีแนวทางที่แตกต่างกัน โดยจีนนั้นอาศัยการโฆษณาชวนเชื่อและแสดงแสนยานุภาพกองทัพ เพื่อโน้มน้าวให้อินเดียยอมถอย แต่ทางฝ่ายอินเดียมุ่งใช้อิทธิพลสื่อเพื่อเน้นย้ำและสร้างความสัมพันธ์กับนานาประเทศ เช่น การเชื่อมโยงประเด็นชายแดนเข้ากับปมพิพาทอื่นๆ ของจีนที่เกิดขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก
ภาพ: ShutterStock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: