วันนี้ (4 มิถุนายน) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่าติดลบ 3.44% ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน และทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว
ขณะที่ทาง ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าปัจจุบันหากดูนิยามเงินฝืดตามการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งอิงนิยามภาวะเงินฝืดของธนาคารกลางยุโรป โดยต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ได้แก่
- อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (Prolonged Period)
- อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ
- การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย
- อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบและอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น
ทั้งนี้จากนิยามดังกล่าวจะพบว่าอัตราเงินเฟ้อไทยติดลบมา 3 เดือนจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้จะติดลบ โดยมีมุมมองว่าปี 2564 จะกลับเป็นบวกได้ ขณะเดียวกันคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปีอยู่ที่ 1.8% ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับกึ่งกลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1-3% ต่อปี จึงมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกหรือฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินมาก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์