×

ถึงเวลาเปลี่ยนแนวคิดให้สาธารณสุขกระตุ้นเศรษฐกิจ การศึกษายีนจะมีบทบาทกับการแพทย์ในอนาคต

โดย THE STANDARD TEAM
31.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (31 พฤษภาคม) ในงานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM หัวข้อ ‘The Next Chapter of Health ยุทธศาสตร์สุขภาพแห่งอนาคต’ ที่จะมาพูดถึงอนาคตของวงการการแพทย์ในยุค New Normal นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลบีเอ็นเอช เริ่มเล่าถึงอนาคตเรื่องของสุขภาพและการแพทย์ของไทยว่า ก่อนจะมองถึงเรื่องความเปลี่ยนในอนาคต ต้องกลับไปสำรวจเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นลำดับแรกว่ามีอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง

 

เนื่องจากในสมัยก่อนพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงให้เห็นในลักษณะกราฟได้ช้ามาก แต่ ณ วันนี้การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมกลับมีเพิ่มสูงขึ้น ฉะนั้นคำว่า Next Norm สำหรับวงการแพทย์จะต้องรู้จักพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันจะไม่มีคนอยากไปโรงพยาบาล เพราะฉะนั้น Next Norm ของสิ่งนี้ที่โรงพยาบาลต้องมีคือ แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่สามารถแยกพื้นที่ของคนที่ป่วยและไม่ป่วยออกจากกันได้ หรือในอีกกรณี ถ้าผู้ป่วยไม่มาหาเรา เราก็ต้องไปหาเขาถึงที่พัก เช่น Home Care รวมไปถึงการวินิจฉัยโรคที่บ้าน เพื่อให้แพทย์ตรวจดูอีกที หรือปรึกษาแพทย์ได้แม้จะอยู่ที่บ้าน

 

นอกจากนี้ นพ.ชัยรัตน์ ยังได้เสริมความเป็น New Norm ของวงการแพทย์อีกประเด็นได้อย่างน่าสนใจก็คือ ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องคิดว่า ทำอย่างไรไม่ให้คนป่วย ที่จะไม่ต้องมาโฟกัสเรื่องการรักษาระหว่างทางเหมือนแต่ก่อน แต่ต้องคิดล่วงหน้าก่อนอีกขั้นว่าทำอย่างไรให้คนไม่ป่วยกัน เพราะความเป็นหมอในอนาคตจะไม่ใช่แค่รักษา แต่จะต้องเป็นเหมือนโค้ช ให้คำปรึกษากับผู้คน ป้องกันไม่ให้มีอาการเจ็บป่วย

 

ทางด้าน หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความเป็นยุทธศาสตร์สุขภาพแห่งอนาคตว่า จากบทเรียนของวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยหันมาทบทวนในเรื่องของยุทธศาสตร์สุขภาพกันมากขึ้น โดยอาจจะแบ่งได้เป็น 5 อย่าง คือ ยุทธศาสตร์สุขภาพที่สร้างสุขภาพ อย่างที่สองคือ ยุทธศาสตร์สุขภาพที่สร้างเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ นพ.สุรพงษ์ กล่าวขึ้นมาในบางช่วงของการเสวนาว่า อีกประเด็นที่ควรพัฒนานอกเหนือจากเรื่องของการพัฒนาของระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว เราควรจะต้องเปลี่ยน Mindset ที่เดิมทีเป็นกระทรวงดูแลเรื่องสุขภาพเป็นหลัก ให้กระทรวงสาธารณสุขกลายเป็น ‘กระทรวงเศรษฐกิจ’ ไปในตัวได้ด้วย ที่ไม่ใช่นึกถึงเพียงกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และอื่นๆ เหมือนอย่างที่เคยเป็น แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

 

“ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราบอกว่า ประเทศไทยเข้าสู่การปฏิวัติยุคที่ 4 จากยุคเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, เทคโนโลยีสารสนเทศ มาสู่ยุคของวิทยาศาสตร์การชีวภาพ แต่เราไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งที่เรามีชื่อเสียงในเรื่องนี้มาก เท่าที่ไปหาดูจากการพูดถึง Medical Hub งบประมาณที่จะมาทำเรื่องพวกนี้แทบไม่มีความชัดเจน ต่อให้มีก็ไม่ถึง 20 ล้านบาท เพื่อที่จะนำมาต่อยอดสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท และในความเป็นจริงอาจจะมากกว่านั้น แต่วันนี้กลับไม่มีใครรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม นพ.สุรพงษ์ ให้ข้อแนะนำว่า การปรับแนวความคิดที่จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้นั้น อาจจะต้องมีการเสนอเจ้าภาพโดยตรงหรือไม่ อาจจะต้องมีการตั้งสำนักงาน HEPA (Health Economy Promotion Agency) เป็นองค์กรที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เพื่อสนับสนุนและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น Wellness Country

 

ในช่วงหนึ่งของงานเสวนา ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้ให้ข้อแนะนำถึงบุคลากรทางการแพทย์ในยุคใหม่ควรมุ่งไปสายงานไหน ถึงจะตอบโจทย์สายงานแพทย์ในอนาคตที่สุด “นอกจากการเป็นหมอเพื่อการรักษาทั่วไปแล้ว สำหรับสายที่น่าสนใจคือการศึกษาเรื่องยีน เช่น การสร้างงานวิจัยได้ว่ายีนตัวไหนจะกระทบต่อความเสี่ยงการเป็นโรคแบบไหน หรือศึกษาว่ายีนลักษณะไหนจะกระทบหรือก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง ซึ่งจะนำมาสู่แนวทางในการหาวิธีรักษาผู้คนได้ในที่สุด ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมในด้านนี้จะขยายตัวได้ดีมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะต้องแนะนำลูกหลานที่เข้าเรียนแพทย์ อยากให้เรียนเรื่องการศึกษาพันธุกรรมหรือยีนน่าจะดีที่สุด”

 

ทั้งนี้ ดร.ศุภวุฒิ ได้อธิบายเสริมถึงความสำคัญของเรื่องการศึกษาพันธุกรรมหรือยีนที่จะเข้ามาเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการแพทย์ระดับโลก โดยยกตัวอย่างว่า ในสหรัฐฯ ได้มีการแบ่งยีนหรือจีโนมได้แล้วเมื่อปี 2003 ถึงวันนี้เวลาผ่านไป 17 ปี ตอนนี้มีเทคโนโลยีทางการแพทย์เกิดขึ้นมามากมาย และจะมีอีกเยอะที่เข้ามาพลิกผันการรักษาพยาบาลในรูปแบบธรรมดาให้เปลี่ยนไป

 

ยกตัวอย่าง สำหรับหมอที่เชี่ยวชาญโรคหัวใจหรือโรคอะไรต่างๆ ต่อไปในอนาคตอาจจะต้องรักษา โดยดูว่ายีนของผู้ป่วยแต่ละคนมีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค และยีนแต่ละตัวกำลังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอย่างไร ซึ่งคาดว่าอีกสัก 20 ปี การแพทย์จะเป็นในลักษณะนี้มากกว่าปกติ และหมออาจจะกลายเป็น Genetic Engineering มากกว่าเป็นหมอปกติ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X