×

Minds โซเชียลมีเดียที่เน้นความเป็นส่วนตัว กับคำถามว่าเราหนีภาครัฐพ้นจริงหรือ

โดย THE STANDARD TEAM
28.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • การย้ายไปใช้งานโซเชียลมีเดียรายอื่นนอกจาก Facebook, Twitter กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังความกลัวว่า Twitter อาจร่วมงานกับรัฐบาลไทย
  • Minds โซเชียลมีเดียที่เน้นจุดขาย ‘ความเป็นส่วนตัว’ ความไร้ตัวตนของผู้ใช้งาน และความไม่รวมศูนย์ของข้อมูล ไม่นำข้อมูลผู้ใช้งานไปต่อยอดเป็นรายได้โฆษณาจึงถูกหยิบยกขึ้นมาแนะนำ
  • แต่หากพิจารณาจากนโยบายความเป็นส่วนตัวและความร่วมมือกับภาครัฐ Minds อาจจะไม่แตกต่างจาก Twitter แถม Twitter อาจโปร่งใสกว่าด้วยซ้ำไป

โซเชียลมีเดียทางเลือกแทนที่ Facebook และ Twitter กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดก็มีประเด็นนี้ขึ้นมาอีก หลังจาก Twitter เปิดแอ็กเคานต์ Twitter Thailand และมีการพูดถึงความร่วมมือกับภาครัฐของไทย ไม่รวมการปรับนโยบายความเป็นส่วนตัวใหม่ที่ Twitter จะแชร์ IP ให้กับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ (หลักๆ คือเพื่อยิงโฆษณาโดยตรง) จนทำให้ผู้ใช้งานระแวงว่าอาจถูก Twitter ส่ง IP ไปให้กับรัฐบาล

 

ที่ผ่านมา Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและการไม่แสดงตัวตน (ไม่ต้องยืนยันชื่อจริงเหมือน Facebook) ทำให้ท่าทีล่าสุดของ Twitter สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้งานจำนวนมาก และเริ่มหาทางเลือกการใช้งานแพลตฟอร์มอื่นๆ กันแล้ว

 

ชื่อของ ‘Minds’ โซเชียลมีเดียที่เน้นจุดขายด้านความเป็นส่วนตัวและความโปร่งใสเรื่องข้อมูลจึงถูกแนะนำกันปากต่อปาก ที่น่าสนใจคือวิธีคิดในการสร้าง Minds ที่พยายามจะเป็นด้านกลับของ Facebook ทั้งในแง่ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและโมเดลธุรกิจ 

 

แต่คำถามคือถ้าเราหนี Twitter เพราะการแชร์ข้อมูลให้ภาครัฐแล้ว Minds ปลอดภัยกว่าจริงหรือ?

 

 

 

Minds โซเชียลมีเดียที่เน้นความโปร่งใส เปิดแม้กระทั่งซอสโค้ด

Minds นิยามตัวเองว่าเป็นโซเชียลมีเดียคริปโตแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized) ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2011 โดย บิล ออตแมน ที่ตอนนี้เป็นซีอีโอร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน ก่อนจะเริ่มให้บริการในปี 2015 

 

ความไม่รวมศูนย์ของ Minds เป็นวิธีคิดด้านกลับของ Facebook หรือแม้แต่ Twitter เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นความไร้ตัวตนของผู้ใช้งาน เน้นความเป็นส่วนตัว ไม่มีการเซนเซอร์และมีใครมาคอยควบคุมดูแลเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม (ไม่ว่าจะรัฐหรือบริษัท) เป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ ข้อยกเว้นมีเพียงต้องไม่เป็นคอนเทนต์ผิดกฎหมายเท่านั้น (เช่น ยาเสพติด, ก่อการร้าย, ค้ามนุษย์)

 

เมื่อเน้นเสรีภาพและไม่ถูกควบคุมเนื้อหาโดยผู้มีอำนาจ คำถามที่ตามมาคือแล้วแบบนี้ใครจะโพสต์อะไรก็ได้เลยหรือ?

 

 

 

อันที่จริง Minds ยังคงมีระบบควบคุมเนื้อหาอยู่ เพียงแค่ผู้ควบคุมไม่ใช่ Minds แต่จะเป็นผู้ใช้งานนี่ล่ะที่ตรวจสอบกันเองด้วยระบบลูกขุน เมื่อคอนเทนต์ใดถูกรายงาน ระบบจะสุ่มผู้ใช้งาน Minds ขึ้นมา 12 คนที่ไม่เคยมีส่วนร่วมหรือติดตาม (Subscribe คล้ายการ Follow บน Twitter) เจ้าของโพสต์ที่ถูกรายงาน เพื่อโหวตตัดสินว่าโพสต์ดังกล่าวสมควรถูกลบหรือไม่อย่างไร

 

นอกจากแนวคิดเรื่องความไม่รวมศูนย์ในเชิงอำนาจและการจัดการคอนเทนต์แล้ว ซอฟต์แวร์เบื้องหลัง Minds ยังเป็นโอเพ่นซอส กล่าวคือเปิดซอสโค้ดให้สาธารณะเข้าไปดูได้ว่าแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีหลังบ้านทำงานอย่างไร และบริษัทนำข้อมูลผู้ใช้งานไปใช้อย่างไรได้ด้วย

 

 

โมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเงินดิจิทัล ไม่ใช่โฆษณาโดยอิงจากข้อมูลผู้ใช้งาน

นอกจากความไม่รวมศูนย์ สกุลเงินดิจิทัลหรือเงินคริปโตก็เป็นอีกหนึ่งจุดขายและตัวขับเคลื่อนธุรกิจของ Minds ที่ถูกเรียกตรงตัวว่า ‘Minds Token’ ซึ่งรันอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชนที่ชื่อว่า Ethereum และใช้มาตรฐาน ERC20 ในการออกโทเคน

 

โทเคนจึงเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้บนแพลตฟอร์ม ผู้ใช้งานสามารถได้โทเคนมาจากรางวัลผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เขียนโพสต์แล้วมีคนโหวตให้เยอะระดับหนึ่ง, เชิญชวนเพื่อนมาใช้ Minds, ไปจนถึงการค้นพบบั๊กหรือช่องโหว่ในซอฟต์แวร์ หรือจะซื้อเอาก็ได้ด้วยการใช้เงินจริงหรือใช้เงินคริปโตสกุล ETH

 

โทเคนที่ได้มาสามารถนำไปใช้ในการบูสต์หรือโฆษณาโพสต์นั้นให้คนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ติดตามได้เห็น โดยกลไกการแสดงผลบูสต์ของ Minds จะไม่ใช้อัลกอริทึมในการหาเป้าหมายเพื่อแสดงผล (แบบที่ Facebook หรือ Twitter ทำ Target Ads) แต่จะแสดงผลแบบสุ่มแทน

 

นอกจากใช้บูสต์แล้ว โทเคนยังสามารถใช้จ่ายเป็นทิปให้กับผู้ใช้งานคนอื่นที่เราถูกใจ หรือแม้กระทั่งจ่ายคืนให้ Minds เพื่ออัปเกรดแอ็กเคานต์เป็นแบบ Plus / Pro (จ่ายเป็นเงินจริงก็ได้) เพื่อเพิ่มฟีเจอร์บางอย่าง เช่น ซ่อนโฆษณา (คอนเทนต์บูสต์), เปลี่ยนแอ็กเคานต์ตัวเองให้เป็นแบบ Paywall คนที่จะอ่านคอนเทนต์ได้จะต้องจ่ายโทเคนเพื่อเป็นสมาชิก (Subscribed) เป็นต้น

 

สรุปคือโมเดลธุรกิจของ Minds อาศัยการหาเงินจากการแลกเปลี่ยนเงินจริงและเงินคริปโตมาเป็น Minds Token ไม่รวมกรณีที่วันหนึ่ง Minds Token อาจมีมูลค่าขึ้นมาเมื่อถูกนำเข้าตลาดแลกเปลี่ยนเป็นเงินจริงหรือเงินคริปโตสกุลอื่นด้วย ไม่ใช่การเอาข้อมูลผู้ใช้งานไปใช้เพื่อประโยชน์ด้านการโฆษณาอย่างที่ Facebook หรือ Twitter ทำ

 

 

สรุปย้ายไป Minds ปลอดภัยกว่า Twitter?

ถ้ามองในแง่ที่ว่า Minds ยังไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล รวมถึงเอาข้อมูลการใช้งานของเราไปรวบรวมเพื่อขายโฆษณา คำตอบก็อาจจะดูเหมือน Minds ‘ปลอดภัยกว่า’

 

แต่หากเข้าไปดูในนโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy) แล้ว Minds ก็ระบุว่ามีการแบ่งปันข้อมูลให้กับพาร์ตเนอร์เท่าที่จำเป็น รวมถึงเปิดเผยข้อมูลให้กับภาครัฐด้วย กรณีที่ Minds จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ใช้ทราบ ซึ่งโดยหลักการแล้วแทบไม่แตกต่างจากของ Twitter เลย 

 

ขณะที่ Twitter เองเปิดให้บริการมานาน เจอปัญหาด้านการร้องเรียนจากทั้งผู้ใช้งานเรื่องความเป็นส่วนตัว และฝั่งของรัฐที่ต้องการข้อมูลอาชญากรจริงๆ ก็ไม่ใช่น้อย ทำให้ Twitter มีช่องทางให้หน่วยงานภาครัฐยื่นขอข้อมูล รวมถึงออกรายงาน Transparency Report ทุก 6 เดือนด้วยว่ารัฐบาลประเทศใดขอเข้าถึงข้อมูลบนแพลตฟอร์มบ้าง (Facebook ก็ทำคล้ายๆ กัน) ขอข้อมูลกี่แอ็กเคานต์ และ Twitter ตอบรับคำขอเป็นสัดส่วนเท่าไร (ไม่ใช่ว่ารัฐบาลขอแล้ว Twitter จะให้ทุกกรณี) ดังนั้นในแง่การให้ข้อมูลภาครัฐแล้ว Twitter น่าจะโปร่งใสและตรวจสอบได้มากกว่า

 

ในท้ายที่สุด Minds อาจจะยังคงเป็นได้แค่ ‘ทางเลือก’ ของโซเชียลมีเดีย เพราะครั้งนี้ต่อให้มีกระแสย้ายไปใช้งานเพราะไม่พอใจและกังวลเรื่องความร่วมมือกับรัฐบาลไทยแค่ไหน แต่ปัจจัยสำคัญของโซเชียลมีเดียคือ ‘ชุมชนคนใช้งาน’ ถ้าหากคนส่วนใหญ่ยังไม่ย้ายตามไป อะไรๆ ก็คงจะยังเหมือนเดิม

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X