ในวิกฤตโควิด-19 นี้ เราได้เห็นน้ำใจจากหลายภาคส่วนที่ออกมาช่วยเหลือบรรเทาสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่ๆ ห้างร้าน ธุรกิจขนาดย่อม และภาคประชาชนก็พร้อมใจกันออกมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
สำหรับวงการแฟชั่นที่เรียกว่าได้รับผลกระทบไม่ต่างจากวงการไหนๆ ปกติช่วงนี้เราจะได้เห็นแฟชั่นโชว์สนุกๆ มีคนดังไปร่วมงานเยอะๆ ภาพของคนแฟชั่นที่ผันตัวมาเป็นกองกำลังเสริมคอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ก็เริ่มปรากฏเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสื้อผ้าคอลเล็กชันใหม่กลับถูกแทนด้วยหน้ากากผ้า แคมเปญที่รณรงค์ให้หยุดอยู่บ้าน และการบริจาคเงินให้หน่วยงานทางการแพทย์ตามกำลังความสามารถ
หนึ่งในแบรนด์ไทยดีไซเนอร์ที่ออกมาช่วยเหลือผู้คนที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นก็คือ Issue ที่เราจะคุ้นเคยกันดีจากการเป็นเจ้าแรกๆ ที่ออกมาทำหมวก Face Shield จนจุดกระแสอุปกรณ์ป้องกันเพื่อจำหน่ายและนำเงินไปต่อยอดช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการมอบเงินจำนวน 300,000 บาทให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำหุ่นยนต์ ‘น้องปิ่นโต-พี่กระจก’ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่แพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย
นอกจากนี้ยังทำอาหารมอบให้ทีมแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี แจกหน้ากากอนามัยให้พนักงานแบรนด์ข้างเคียงที่ร้านสาขาสยามพารากอน และล่าสุดเพื่อนำมาเป็นทุนในการสร้างตู้ปันสุขของแบรนด์ที่กระจายอยู่ถึง 5 แห่งในกรุงเทพฯ
เราได้พูดคุยกับ โรจ-ภูภวิศ กฤตพลนารา ครีเอทีฟไดเรกเตอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Issue ถึงผลกระทบที่แบรนด์ได้รับ การปรับตัว มุมมองเรื่องแฟชั่นในการเป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้อื่น และบทเรียนที่เขาได้เรียนรู้จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ไปจนถึงวิธีการรับมือที่เริ่มต้นจากภายในจิตใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อของเขาในการเป็นผู้ให้อย่างมีสติ
Issue เพิ่งฉลองครบรอบ 20 ปีของแบรนด์เมื่อปลายปีที่แล้ว พูดได้ไหมว่าครั้งนี้เป็นเวลาที่ท้าทายที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งมา
เป็นคำถามที่ขนลุกเลย จริงครับ มันเป็นครั้งที่ท้าทายที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์มา เป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดตั้งแต่เกิดมาจนอายุเท่านี้เลยครับ เพราะทุกๆ เรื่องที่ผ่านมาเราเคยรู้เรื่องต่างๆ มาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เราก็พอรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วมันจะจบอย่างไร แต่คราวนี้มันเป็นโรคอุบัติใหม่ เราเคยได้ยิน แต่มันไม่เคยอยู่ในช่วงชีวิตเรา มันก็เลยนึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่มีวัคซีน ไม่มีตัวอย่างให้ย้อนกลับไปศึกษา มันจึงท้าทาย มันใหม่และยิ่งใหญ่มาก แถมเปลี่ยนทุกวันเลย แล้วเราจะไปปรึกษาใครก็ยังไม่มีใครตอบได้ จะเชื่อผู้เชี่ยวชาญ เชื่อองค์การอนามัยโลก หรือจะเชื่อผู้นำประเทศ เราจะเชื่อใครดี
ความรู้สึกแรกตอนที่โรคนี้เริ่มต้นและใกล้ตัวเราขึ้นเรื่อยๆ เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนแรกๆ ต้องบอกว่าเป็นคนแอบหยั่งเชิง เราพยายามนิ่งไว้ก่อน ทำใจร่มๆ แล้วก็หาข้อมูลประกอบกัน เพราะมันเริ่มจากประเทศจีนซึ่งใกล้เราเหมือนกัน แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่ามันไม่น่าจะรุนแรงนะ คงเป็นแค่แป๊บเดียว เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
เมื่อรู้ว่ามันกระทบกับเราจริงๆ จนถึงขั้นต้องปิดร้าน คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
ต้องย้อนกลับไปช่วงปลายเดือนมกราคม ปกติเทศกาลตรุษจีนที่ประเทศจีนจะเริ่มต้นเร็วมาก แต่ปรากฏว่าเขาเริ่มไม่จัดงานตรุษจีนที่นั่นแล้ว มันจึงกระทบการผลิตของเรา คือเรามีการแบ่งฐานการผลิตเป็นสองที่ ที่ไทย 50% และเราก็มีฐานการผลิตที่จีนด้วย ส่วนที่เหลือจะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบจากทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ที่เราต้องจัดการ
อะไรคือหมากเกมแรกที่แบรนด์เริ่มเดินหลังจากนั้น
พอสถานการณ์ที่จีนถึงขั้น ‘เอาแล้ว’ ‘โรงงานเริ่มปิด’ เราผลิตไม่ได้ สิ่งที่ทำอันดับแรกคือระงับการทำงานจากจีน อันดับที่สอง ภายในหนึ่งสัปดาห์เราบินไปอินเดียเพื่อหาวัตถุดิบใหม่ แล้วก็เตรียมจะส่งกลับมาเรียบร้อย แต่มันดันโดนปิดอีกทั้งสองที่เลย ทำให้เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสุดความสามารถ แต่เมื่อมีการล็อกดาวน์ ปิดประเทศ เราก็ทำอะไรไม่ได้
ก่อนจะปิดร้าน เรามานั่งวิเคราะห์กันในทีมว่าเราถนัดทำอะไร เราทำอะไรได้บ้าง เราเป็นเลิศในด้านใด แล้วเราสามารถนำมันมาตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างไร เราพบว่าเราผลิตหมวกได้ดี มีคุณภาพ ถ้ามันมี Face Shield ด้วยจะทำอย่างไร เราก็เลยพัฒนาหมวกรุ่นแรกออกมา
ภาพอุปกรณ์ป้องกันจากแบรนด์ Issue
ไอเดีย Survival Kit และหน้ากาก Face Shield แบรนด์ Issue ถือว่าทำออกมาจำหน่ายเป็นแบรนด์แรกๆ จนสามารถรวมเงินมาช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ถ้าไม่นับเรื่องยอดขาย คิดว่ากิจกรรมนี้จะช่วยแบรนด์อย่างไรได้บ้าง
ถามว่าเรากระทบกันเรื่องนี้ไหม เรากระทบ แต่ถามว่าคนที่เขาได้รับผลกระทบมากกว่าเราก็มีอยู่มาก แล้วทุกวันนี้เรื่องจิตอาสาของบริษัทเรามันเป็นเป้าหมายหนึ่งที่เราทำอยู่สม่ำเสมอ การที่เราฝึกการแบ่งปันมันเป็นสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็น เราไม่หยุดแค่ช่วงนี้เพื่อหวังยอดว่ามูลค่าเท่าไร ทำไปแล้วกี่ครั้ง แต่มันเป็นความสบายใจของเราและทีม ซึ่งเห็นว่าจำเป็นและสมควรที่จะต้องทำ
ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ คิดว่าวงการแฟชั่นมีส่วนช่วยสังคมในวงกว้างอย่างไรบ้าง
เราว่าในทุกฐานะเลยนะ สมมติในเรื่องอาชีพนี้ เราอาจจะออกแบบลายตู้ให้สวยกว่าตู้ปกติ นี่แค่ยกตัวอย่างนะ หรือในฐานะคนในประเทศ เราเห็นความลำบากของใครก็ตาม ไม่ใช่แค่คนในบริษัท คนรอบๆ ตัว หรือคนอื่นๆ คิดว่ามันก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ
ถ้าจะให้ตอบในฐานะที่เป็นหนึ่งในคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่น คิดว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นและเสื้อผ้าสำเร็จรูปมันเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ระดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งแปลว่าการจะทำอะไรสักอย่าง มันมีผลกระทบหมด เราไม่ได้พูดแค่แบรนด์แฟชั่น ไทยดีไซเนอร์ไม่กี่แบรนด์ เรากำลังพูดถึงพี่ๆ ที่เขาเลี้ยงไหม ปลูกหม่อน คนย้อมสี โรงงานทอผ้า ช่างตัด โรงเย็บ OEM ที่เต็มไปหมด เราอาจจะต้องกลับมาดูเรื่องความพอดี กลับมาทบทวนเรื่องสมดุลการผลิตจากตัวเราเองและในองค์กร เราจะยังเอาเป้าหมายในการผลิตให้มากๆ เราอาจจะต้องกลับมาคิดเรื่องนี้กันใหม่ ปรับโครงสร้างการใช้ทรัพยากร เราต้องทบทวน
ภาพกิจกรรมต่างๆ จากแบรนด์ Issue
ถ้าเป็นเรื่องยอดขาย การขายสินค้า กำลังใจของทีม หรือพนักงาน ทางแบรนด์มีวิธีปรับตัวหรือคุยกันอย่างไรบ้าง
ต้องย้อนกลับไปก่อนว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เราให้พนักงานนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย มีการสมัครฟิตเนสให้เป็นสวัสดิการ หรือไม่ก็มีครูโยคะมาสอนที่ออฟฟิศ จุดประสงค์คือเราอยากรักษากายและใจให้แข็งแรงเสมอเพื่อปูพื้นฐานพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง พอมันเกิดเหตุการณ์นี้จริงๆ เราก็เรียกประชุม ซึ่งปกติเราก็ทำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว เราคุยว่าจะทำอะไรได้บ้าง ถามว่าใครมีความพร้อม มีข้อเสนออะไรไหม เราจะทำอะไรกันดี ทุกคนก็ตอบรับ ก็มีลากลับต่างจังหวัดบ้าง ลาไปอยู่กับที่บ้านบ้าง พี่ๆ ช่างอาจจะขออยู่บ้าน ไม่ออกมา เพราะอายุเยอะแล้ว เราจึงมาเปิดใจแชร์สิ่งที่ต้องการ แล้วก็มีการปิดออฟฟิศตามมาตรการด้วย
ส่วนเรื่องการขายสินค้าของ Issue ในช่องทางอีคอมเมิร์ซ เราเองก็ปรับมาได้ประมาณ 2 ปี เรามีชื่อทางการขายออนไลน์ครบทุกช่องทาง เราเพิ่งวางขายใน Lazada พอมีโควิด-19 ขึ้นมา เราจึงไม่ลำบากมากที่จะปรับตัวมาสู่ออนไลน์
ภาพแคมเปญจาก Issue ที่เดินทางไปถ่ายทำที่ประเทศอินเดีย
เสื้อผ้าของ Issue เราจะรู้ทันทีว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเดินทาง ในเวลานี้คุณอาจจะต้องอยู่บ้าน หรือไม่ได้ออกไปไหนบ่อยเหมือนเมื่อก่อน คุณมีวิธีอย่างไรที่ทำให้ตัวเองยังคงมีความคิดสร้างสรรค์
ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราออกเดินทางเพราะเราอยากเที่ยว อยากหาแรงบันดาลใจจากข้างนอก แล้วก็นำกลับมาปรับ มาย่อย มานำเสนอใหม่ แต่ช่วงนี้เราก็มีอีกวิธีหนึ่งที่ทำอยู่ ซึ่งยังสามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจได้ คือการเดินทางจากภายในโดยที่ไม่ต้องออกไปไหน เช่น การอ่านหนังสือ การนั่งสมาธิ ซึ่งมันสามารถเอามาต่อยอดเป็นคอลเล็กชันได้ เป็นคอนเซปต์ในการทำงานได้
ทำไมคุณจึงให้ความสำคัญถึงเรื่อง Mindfulness หรือเรื่องสติและสมาธิมากเป็นพิเศษ
จริงๆ อาจจะเป็นความชอบส่วนตัว ถ้าเรารู้ว่าขนาดใจเรายังไม่นิ่ง แล้วลองเอาอาชีพดีไซเนอร์ของเรามาเทียบกันดู เราจะรู้ว่าทำงานอยู่บนความเสี่ยงนะ แฟชั่นคือความไม่แน่นอน เราบริหารอยู่บนความไม่แน่นอนในชีวิต ไม่ใช่แค่ตัวผมเอง ทีมเราก็ควรจะต้องเข้าใจว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันจึงส่งผลถึงเรื่องการทำงานที่ทำให้เราต้องปรับปรุง ไม่ยึดถือ และพัฒนาให้ดีขึ้นเสมอ เราจึงต้องพร้อมกับความไม่แน่นอนพวกนั้น
คำถามสุดท้าย อะไรคือสิ่งที่คุณได้เรียนรู้ในเหตุการณ์นี้ ทั้งกับตัวเองและในการเป็นกำลังสำคัญขององค์กร
ถ้าเรื่องของหัวหน้าองค์กร เราเรียนรู้ที่จะรักทีมตัวเองมากขึ้น ไม่สำคัญว่าเราจะขายดีหรือขายไม่ดี แต่เราไม่อยากเห็นใครในองค์กรต้องจากไปหรือกลายเป็นผู้ติดเชื้อ เราเปิดใจรักทุกคนเลย เมื่อก่อนอาจจะมีปัญหากระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ถ้าวันนี้ไม่มีพวกเขา เราก็ไม่สามารถก้าวต่อไปได้ เราทำคนเดียวทั้งหมดไม่ได้จริงๆ
แล้วมันทำให้เรากลับมารักตัวเองมากขึ้น ดูแลตัวเองทั้งกายและใจให้แข็งแรง เพราะถ้าเราแข็งแรงทั้งภายนอกและภายใน เชื่อว่าเราจะมีกำลังที่จะไปดูแลคนอื่นได้ เป็นกำลังครอบครัว เป็นแรงช่วยเหลือคนในทีม แล้วถ้าองค์กรแข็งแรง เราก็สามารถช่วยคนอื่นๆ ได้ต่อ จะไปช่วยคุณหมอ ทำตู้ปันสุข หรือทำหน้ากาก Face Shield ต่อไปได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์