นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระราชกรณียกิจสำคัญที่พระองค์ทรงปฏิบัติมาตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ ได้แก่ พระราชกรณียกิจด้านการทหาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็นองค์จอมทัพไทย ได้เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทรงเป็นพระมิ่งขวัญและพระราชทานกำลังใจ
เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
เสด็จพระราชดำเนินพิธีตรึงหมุดและพระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่หน่วยทหาร
พระราชทานกระบี่แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ
และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายทหาร และนายตำรวจชั้นนายพล ที่ได้รับพระราชทานยศสูงขึ้น เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นต้น
นอกจากพระราชกรณียกิจด้านการทหารที่กล่าวข้างต้น พระราชกรณียกิจด้านการทหารที่ทรงปฏิบัติมาตลอดเพื่อทรงเป็นพระมิ่งขวัญและศูนย์รวมจิตใจในการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ได้แก่ การเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามและรับการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ณ พระลานพระราชวังดุสิต
สำหรับพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ กระทำขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่หน่วยทหารของกองทัพบกจำนวน 40 กองพัน ในวันที่ระลึกกองทัพบก วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2496 จากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้กองทัพภาคที่ 1 จัดงาน ‘วันราชวัลลภ’ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 85 ปี กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และให้มีการสวนสนามของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จำนวน 4 กองพัน ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระลานพระราชวังดุสิต วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จมาเป็นประธานในพิธีและพระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยทหาร และเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนาม โดยทรงพระดำเนินด้วยพระบาทครั้งแรกและครั้งเดียวในฉลองพระองค์ของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ การสวนสนามของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 เป็นจุดเริ่มต้นของพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์มาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ได้ว่างเว้นมาอีกเป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะกระทำขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2501 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีบัญชาให้กระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ณ พระลานพระราชวังดุสิต ซึ่งมีเฉพาะทหารรักษาพระองค์ สังกัดกองพลที่ 1 รักษาพระองค์เท่านั้น
พ.ศ. 2504 ได้กำหนดให้มีการถวายพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร หลังจากทรงเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยจัดพิธีสวนสนามของบรรดาทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2504 รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศให้เป็น ‘วันพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม’ และวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีบัญชาให้กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้หน่วยทหารรักษาพระองค์ในกรุงเทพมหานครเข้าร่วมพิธีจำนวนทั้งหมด 8 กองพัน 2 กรมสวนสนาม
พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ที่จัดขึ้นในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ พระลานพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ในปี พ.ศ. 2525 เป็นปีแรกที่หน่วยทหารรักษาพระองค์ในส่วนภูมิภาคและเหล่าทัพอื่น คือ กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ได้เข้ามาร่วมพิธี จึงกำหนดการจัดหน่วยเข้าร่วมพิธีเพิ่มขึ้นจาก 8 กองพัน เป็น 12 กองพัน แบ่งออกเป็น 4 กรมสวนสนาม กรมละ 3 กองพัน หมู่แตรเดี่ยว 8 นาย หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพล 4 นาย และผู้บังคับกองพัน 1 นาย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ได้จัดให้กำลังพลขี่ม้าเข้าร่วมพิธีด้วย จำนวนกองพันที่เข้าร่วมพิธีจึงเพิ่มเป็น 13 กองพัน โดยกองพันทหารม้าดังกล่าวจะเป็นกองพันสุดท้ายในขบวนสวนสนาม
พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนแปลงวันพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์จากวันที่ 3 ธันวาคม เป็นวันที่ 2 ธันวาคม กระทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2551 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนออกทางประตูทวยเทพสโมสร หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อทรงเป็นองค์ประธานในพิธี ขณะทรงตรวจพลสวนสนามมีรถยนต์อัญเชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์ นำหน้าขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และอัญเชิญธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วยต่างๆ เข้าร่วมในพิธี
พ.ศ. 2551 เป็นปีสุดท้ายที่กระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ณ พระลานพระราชวังดุสิต วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 มีการปรับรูปขบวนสวนสนามเป็นแบบ 2 กรมสวนสนามเคียงกันและปฏิบัติพร้อมกัน เพื่อเป็นการลดพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พ.ศ. 2552 สำนักราชเลขาธิการได้ประกาศเลื่อนพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ออกไป เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ มาประทับที่โรงพยาบาลศิริราช วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2552
พ.ศ. 2553-2556 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาร่วมกับการเสด็จออกมหาสมาคม วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ส่วนทหารรักษาพระองค์ จำนวน 4 กรม รวม 13 กองพัน เคลื่อนกระบวนจากศาลาว่าการกลาโหม เข้าสู่ประตูวิเศษไชยศรี มาตั้งแถวเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท บนสนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวังเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน โดยงดพิธีสวนสนาม และกระทำพิธีร่วมกับการเสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนทหารรักษาพระองค์ ประกอบด้วย กองบังคับการกรมผสมจำนวน 18 นาย หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพลจำนวน 48 กองพัน กองทหารเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ เคลื่อนกระบวนจากศาลาว่าการกลาโหม เข้าสู่ประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี ตั้งแถวเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ที่บริเวณสนามหน้ามุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ถวายพระพรชัยมงคลและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล โดยงดการสวนสนาม และประกอบพิธีร่วมกับการเสด็จออกมหาสมาคม
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และทหารรักษาพระองค์ จำนวน 13 กองพัน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยเหล่าทหารรักษาพระองค์ทั้ง 12 กองพัน และทหารม้ารักษาพระองค์ 1 กองพัน เคลื่อนพลสวนสนามจากสวนอัมพรมายังสนามหญ้าหน้าพระที่นั่ง เพื่อกระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนร่วมกับการถวายพระพรชัยมงคลของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการพลเรือน
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยทหารรักษาพระองค์ทั้ง 12 กองพัน เคลื่อนพลสวนสนามจากถนนเพชรเกษมมายังวังไกลกังวล เพื่อกระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนร่วมกับการถวายพระพรชัยมงคลของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการพลเรือน
พ.ศ. 2557 กองทัพไทยจัดพิธีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557 มีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ จำนวน 13 กองพัน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทั้งนี้ การถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์กระทำต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พ.ศ. 2558 กองทัพไทยจัดพิธีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558 มีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ จำนวน 13 กองพัน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทั้งนี้ การถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์กระทำต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พ.ศ. 2559 ไม่มีพิธีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559
จากที่กล่าวมา เป็นพระราชกรณียกิจด้านการทหารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติมาตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ และความเป็นมาของพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมิ่งขวัญและพระราชทานกำลังใจ ทรงเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยในพื้นที่ต่างๆ และทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ทหารรักษาพระองค์ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ทุกปี สุดท้ายนี้ ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานแก่ทหารรักษาพระองค์ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ณ พระลานพระราชวังดุสิต วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ดังนี้
“…ทหารมีหน้าที่หลักอยู่ที่การป้องกันประเทศ และการธำรงรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ด้วยแสนยานุภาพ นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ด้านอื่นอีกซึ่งมีความสำคัญเท่าเทียมกัน คือการบำบัดบรรเทาความทุกข์ยาก และการปฏิบัติพัฒนาให้บังเกิดความเจริญร่มเย็นแก่บ้านเมืองและประชาชน หน้าที่นี้ ดูกันอย่างผิวเผินจะเห็นว่าไม่จำเป็นนัก แต่ถ้าพิจารณาดูให้กระจ่างแล้ว จะเห็นตามเป็นจริงว่า ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศนั้น นอกจากจะต้องมีกำลังรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เข้มแข็งพร้อมมูลแล้ว ยังจำเป็นที่ประชาชนจะต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นปรกติสุข ปลอดภัยจากภยันตรายและความเดือดร้อนยากเข็ญต่างๆ ด้วย เมื่อความสำคัญและจำเป็นมีอยู่ดังนี้ ทหารจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมการให้พร้อมทุกเมื่อ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้พร้อมเพรียงคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าด้านยุทธการ หรือด้านความร่วมมือประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ ในการเกื้อกูล สนับสนุน ยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชน และช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนในเมื่อภัยพิบัติ อย่างทันการณ์ ทันเวลา และทันท่วงที จึงขอให้ทหารทั้งหลายได้ตระหนักในหน้าที่ของตนแล้วร่วมมือกันใช้ความรู้ความสามารถ และสติปัญญา ปฏิบัติภารกิจทั้งปวงอย่างมีเอกภาพ ให้สัมฤทธิ์ผล เป็นคุณ เป็นประโยชน์ เป็นความวัฒนาถาวรแก่ประเทศชาติและประชาชน แต่ละคนก็จะได้รับความสำเร็จและเกียรติยศที่แท้จริง อันจะภูมิใจได้ทุกเมื่อ โดยมิต้องให้ผู้ใดยกย่องสรรเสริญ…”
ภาพเปิด: EMMANUEL DUNAND/AFP
ที่มาของภาพ:
- www.3armyarea-rta.com/armyisoc3/aisoc8.html
- region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=81285&filename=ioc_king9
- royalsuratthani.blogspot.com
- www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9520000056148
- waymagazine.org/kingrama9-gallery
- www.cavalrycenter.com/learningcenter/index.php/km8/18-2014-02-07-10-43-45
- www.khaoko.com /เกร็ดเขาค้อ/สมรภูมิเขาค้อ1.html
- www.engrdept.com/tahanchangling/Kitkam_pravattongchai.htm
อ้างอิง:
- สมุดภาพเฉลิมพระเกียรติ ร่มโพธิ์ ร่มไทย การเมืองการปกครอง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ จัดพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า ปี ๒๕๕๗