×

เปิดแผล Lufthansa, Air France จับตาดีลรัฐบาลเยอรมนี-ฝรั่งเศส อุ้มสายการบิน หวังฝ่าวิกฤตอุตสาหกรรมช่วงโควิด-19

โดย Master Peace
16.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ซีอีโอของ Lufthansa ชี้ว่าโควิด-19 เป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดเท่าที่บริษัทเคยเจอมา เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของสายการบินและพนักงาน โดยนักบินถูกหั่นเงินเดือนลงกว่า 45% ส่วนพนักงานทั่วโลกกว่า 89,000 คน ต้องลดชั่วโมงทำงานลง
  • Lufthansa มีแผนปรับโครงสร้างเพื่อลดผลกระทบ ซึ่งอาจทำให้ต้องลดจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการลง 13% และปลดพนักงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง แต่ภายใต้ภาวะวิกฤตก็ยังมีทางออกที่เป็นไปได้ โดย Lufthansa ในฐานะสายการบินหลักของประเทศ กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาลเยอรมนีเพื่อขอเงินช่วยเหลือกว่า 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแลกกับการให้หุ้น 25% แก่รัฐบาลเยอรมนี
  • ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ของฝรั่งเศส ทำให้ไตรมาสแรก Air France-KLM มีตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตัวเลขขาดทุนสุทธินั้นสูงกว่า 1,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าไตรมาสแรกของปีที่แล้วกว่า 5 เท่า
  • Air France-KLM ได้รับอนุมัติแพ็กเกจช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ประกาศแผนให้เงินกู้ราว 2,160-4,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ต้องแลกกับเงื่อนไขตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์กำหนด

วิกฤตโควิด-19 สะเทือนอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอย่างหนัก จนทำให้หลายสายการบินเสี่ยงเข้าสู่ภาวะล้มละลาย และยังไม่มีวี่แววจะกอบกู้สถานการณ์ได้ เพราะการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด ทำให้การเดินทางในหลายประเทศยังคงหยุดชะงัก 

 

แม้ว่าบางประเทศ สถานการณ์ดีขึ้นและเริ่มกลับมาให้บริการแล้ว แต่ก็ยังมีผู้โดยสารบางตา เนื่องจากส่วนใหญ่ยังให้บริการเฉพาะพลเรือนในประเทศ ทั้งยังจำเป็นต้องคุมเข้มมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อ ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากเท่าช่วงปกติ

 

หนึ่งในสายการบินยักษ์ใหญ่ของยุโรปที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 คือสายการบิน Lufthansa ที่มีเครื่องบินจอดนิ่งอยู่กว่า 700 ลำ จากทั้งหมด 763 ลำ 

 

คาร์สเทน สปอห์ร ซีอีโอของ Lufthansa ชี้ว่าโควิด-19 เป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดเท่าที่บริษัทเคยเจอมา และร้ายแรงกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน ที่เกิดเหตุเครื่องบิน Lufthansa ตกในเทือกเขาแอลป์ของฝรั่งเศส เนื่องจากครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของสายการบินและพนักงาน โดยนักบินถูกหั่นเงินเดือนลงกว่า 45% ส่วนพนักงานทั่วโลกกว่า 89,000 คน ต้องลดชั่วโมงทำงานลง 

 

“คุณคงไม่เคยได้ยินผมพูดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นวิกฤตเลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับ Lufthansa ใช่ มันเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเงินและงาน” สปอห์ร กล่าว

 

ขณะที่ Lufthansa Group ที่เป็นเจ้าของสายการบิน ทั้งในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และเบลเยียม เปิดเผยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า บริษัทขาดทุนในไตรมาสแรกกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 41,600 ล้านบาท คิดเป็นเงินทุนสำรองของบริษัทที่ถูกเผาหายไปชั่วโมงละกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

Lufthansa ประเมินวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกับสายการบินอื่นๆ ที่เห็นว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้นตัว จึงมีการวางแผนปรับโครงสร้างเพื่อลดผลกระทบ ซึ่งอาจทำให้ต้องลดจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการลง 13% และอาจต้องปลดพนักงานถึงกว่า 10,000 ตำแหน่ง

 

แต่ภายใต้ภาวะวิกฤตนี้ก็ยังมีทางออกที่เป็นไปได้ โดยล่าสุด Lufthansa ในฐานะสายการบินหลักของประเทศ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลเยอรมนีเพื่อขอเงินช่วยเหลือกว่า 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 310,000 ล้านบาท โดยแลกกับการให้หุ้น 25% แก่รัฐบาลเยอรมนี 

 

“การเจรจาและขั้นตอนตัดสินใจทางการเมืองต่างๆ ยังดำเนินอยู่” ทางสายการบินระบุในแถลงการณ์

 

อย่างไรก็ตาม การเจรจาข้อตกลงให้เงินช่วยเหลือแก่ Lufthansa แลกกับหุ้นของสายการบิน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ที่มองถึงความเหมาะสมที่รัฐจะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นและมีบทบาทในการบริหารสายการบิน 

 

นักวิเคราะห์แสดงความกังวลว่าการให้รัฐบาลเยอรมนีเข้าไปนั่งเก้าอี้บอร์ดบริหารของสายการบินจะยิ่งส่งผลกระทบ อีกทั้งบั่นทอนความพยายามในการปรับโครงสร้าง และทำให้สายการบินต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่างๆ เพื่อกอบกู้วิกฤต

 

ด้าน ปีเตอร์ อัลต์ไมเยอร์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ย้ำว่าการช่วยเหลือ Lufthansa นั้น มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องการจ้างงาน และย้ำว่ารัฐบาลเยอรมนีจะไม่เข้าไปมีอิทธิพลในการตัดสินใจทางธุรกิจของสายการบิน ขณะที่สปอห์ร ซีอีโอของ Lufthansa ยอมรับว่า ตระหนักดีถึงการให้รัฐบาลเยอรมนีเข้ามาถือหุ้น แต่ย้ำว่า Lufthansa ต้องการรักษา “เสรีภาพในการตัดสินใจ และการดำเนินการของผู้ประกอบการ” เอาไว้ 

 

“ตอนนี้เราต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่เราไม่ต้องการการจัดการของรัฐบาล” สปอห์ร กล่าว

 

ข้ามมาที่อีกสายการบินรายใหญ่ของยุโรป คือ Air France ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของฝรั่งเศส ที่ปัจจุบันได้รวมกิจการกับสายการบิน KLM สายการบินประจำชาติของเนเธอร์แลนด์ และใช้ชื่อว่า ‘Air France-KLM’ ก็ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตการณ์โควิด-19 เช่นกัน

 

ผลจากมาตรการชัตดาวน์ของฝรั่งเศส ทำให้ไตรมาสแรก Air France-KLM มีตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 28,200 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขขาดทุนสุทธินั้นสูงกว่า 1,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 62,200 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าไตรมาสแรกของปีที่แล้วกว่า 5 เท่า

 

จากการประเมิน ยังคาดว่าตัวเลขขาดทุนในไตรมาส 2 ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน จะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทาง ทำให้เที่ยวบินกว่า 95% ของสายการบินไม่สามารถให้บริการ และในไตรมาสที่ 3 คาดว่าเที่ยวบินกว่า 80% จะยังคงไม่สามารถให้บริการได้ โดยหากประเมินจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ มีแนวโน้มสูงที่ Air France-KLM จะเผชิญภาวะขาดทุนตลอดทั้งปี ซึ่งความหวั่นวิตกที่เกิดขึ้น ทำให้ Air France-KLM เตรียมแผนรับมือวิกฤตการณ์ด้วยการลดจำนวนเครื่องบินลง 20% ในปี 2021 

 

ก่อนหน้านี้ทางสายการบินได้รับข่าวดี หลังรัฐบาลฝรั่งเศสอนุมัติแพ็กเกจช่วยเหลือ 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 247,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ประกาศแผนให้เงินกู้ราว 2,160-4,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

แต่เงินช่วยเหลือดังกล่าวมาพร้อมเงื่อนไขที่รัฐบาลฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์กำหนด โดยบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส ชี้ว่า Air France ต้องตัดลดเส้นทางบินในประเทศลง และต้องเป็นลูกค้าหลักของ Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติฝรั่งเศสที่ประสบภาวะยากลำบากอยู่เช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องปรับเปลี่ยนนโยบายบริหารโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X