×

โควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ภัยคุกคามที่รับมือได้ด้วยความปกติใหม่ (New Normal)

11.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ในแต่ละปีประเทศไทยจะมีคลื่นไข้หวัดใหญ่ 2 ลูก โดยลูกแรกจะซัดเข้ามาตั้งแต่ต้นปีในเดือนมกราคม-มีนาคม และลูกที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน แต่ส่วนใหญ่คลื่นลูกที่ 2 จะใหญ่กว่าลูกแรก เป็นที่มาของการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ในขณะที่ปีนี้จะฉีดเร็วขึ้นเป็นเดือนพฤษภาคม เพื่อป้องกันคลื่นใต้น้ำขึ้นมาแทรกซ้ำซ้อนกับสถานการณ์โควิด-19
  • สำหรับปี 2563 คลื่นลูกแรกตั้งต้นใหญ่กว่าปีที่แล้ว แต่ก็ยุบตัวลงอย่างรวดเร็วในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม จนกระทั่งลดต่ำกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีในเดือนเมษายน เป็นคลื่นหน้าตาแปลกประหลาดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 
  • ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา เป็นช่วงที่มีการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น จึงเป็นไปได้ว่าคลื่นไข้หวัดใหญ่ที่ลดลงอาจจะเป็นอานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน

ล้างมือบ่อยขึ้น ถ้ามีเจลแอลกอฮอล์วางอยู่ตรงไหนก็จะเดินเข้าไปกดมาลูบมือตลอด อยู่ห่างจากผู้อื่นมากขึ้น คุยกันห่างขึ้น กินข้าวกันห่างขึ้นหรือแยกกินจานใครจานมัน สวมหน้ากากออกจากบ้าน ซึ่งบางคนใช้หน้ากากผ้าสีเข้ากันกับชุดแล้ว ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ออกจากบ้าน สั่งของออนไลน์เยอะขึ้น โควิด-19 ทำให้เราเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของเราไปอย่างมาก จนหลายคนเรียกว่า ‘ความปกติใหม่’ (New Normal)

 

ถึงแม้ตอนนี้จะมีการเปิดเมืองบางส่วนแล้ว รัฐบาลก็แนะนำให้ปฏิบัติตัวแบบใหม่นี้ต่อไปก่อน ซึ่งโดยทฤษฎีแล้ววิธีการป้องกันตัวเช่นนี้เป็นการป้องกันการติดเชื้อที่ติดต่อผ่านทางเดินหายใจทุกชนิด เพราะเชื้อแพร่กระจายผ่านละอองสารคัดหลั่ง อย่างน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และการสัมผัสละอองเหล่านั้นแล้วนำมาสัมผัสบริเวณตา จมูก และปาก ดังนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ก็น่าจะลดลงตามไปด้วย

 

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ ที่น่ากลัวไม่แพ้โควิด-19 

ในแต่ละปีประเทศไทยจะมีคลื่นไข้หวัดใหญ่ 2 ลูก (แผนภูมิที่ 1) โดยลูกแรกจะซัดเข้ามาตั้งแต่ต้นปีในเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งตรงกับฤดูหนาว และลูกที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งตรงกับฤดูฝน 

 

แต่ส่วนใหญ่คลื่นลูกที่ 2 จะใหญ่กว่าลูกแรก เป็นที่มาของการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้านั้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ในขณะที่ปีนี้จะฉีดเร็วขึ้นเป็นเดือนพฤษภาคม เพื่อป้องกันคลื่นใต้น้ำขึ้นมาแทรกซ้ำซ้อนกับสถานการณ์โควิด-19

 

 

จะสังเกตว่าปี 2562 คลื่นไข้หวัดใหญ่มีขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับค่ามัธยฐาน 10 ปีย้อนหลัง ก็ทำให้ปีที่ผ่านมากลายเป็นคลื่นสึนามิเลยทีเดียว ซึ่งมีหลายสมมติฐาน เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ B ซึ่งต่างจากปีก่อนที่เป็นสายพันธุ์ A (H1N1) และยังเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในวัคซีนที่ฉีดในปี 2561 (ป้องกันฤดูหนาว 2562) และปี 2562 (ป้องกันฤดูฝน 2562) ด้วย

 

สำหรับปี 2563 คลื่นลูกแรกตั้งต้นใหญ่กว่าปีที่แล้ว (แผนภูมิที่ 2) แต่ก็ยุบตัวลงอย่างรวดเร็วในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม จนกระทั่งลดต่ำกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีในเดือนเมษายน เป็นคลื่นหน้าตาแปลกประหลาดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา เป็นช่วงที่มีการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นอานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน

 

 

อย่างไรก็ตาม ต้องแปลผลแผนภูมินี้อย่างระมัดระวัง เพราะ 

 

  1. จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรก อาจเป็นผลมาจากการที่มีผู้ป่วยมารับการตรวจมากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 หรือ 

 

  1. ผู้ป่วยส่วนหนึ่งในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์อาจติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ 

 

และ 3. จำนวนผู้ป่วยที่ลดลงในเวลาต่อมาอาจเกิดจากแพทย์ให้ความสำคัญกับโควิด-19 จึงไม่ได้ส่งตรวจหาเชื้อหรือลงรหัสการวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

 

ทั้งนี้ แนวโน้มสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ลดลงเหมือนกันทั่วโลก เช่น ประเทศทางซีกโลกเหนือ ซึ่งมีรูปแบบการระบาดของไข้หวัดใหญ่เป็นคลื่นลูกเดียว ตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายน อย่างประเทศญี่ปุ่นและฝั่งยุโรป (แผนภูมิที่ 3) มีจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมและปลายเดือนมีนาคมตามลำดับ ในขณะที่ประเทศเขตร้อนในทุกทวีปก็มีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่น้อยเช่นเดียวกัน

 

 

การป้องกันไข้หวัดใหญ่

สำหรับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยปีนี้ หากแบ่งกลุ่มตามสายพันธุ์ที่ถูกบรรจุในวัคซีนคือ

  1. สายพันธุ์ A (H1N1) ได้แก่ A/Brisbane/02/2018 (H1N1) pdm09 100%
  2. สายพันธุ์ A (H3N2) ได้แก่ A/South Australia/34/2019 (H3N2) 100%

และ 3. สายพันธุ์ B ได้แก่ B/Washington/02/2019 (3 aa deletion in HA) 100% 

 

ซึ่งนับว่าโชคดีมากที่ทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ถูกบรรจุอยู่ในวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ที่กำลังรณรงค์อยู่ในขณะนี้

 

ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรง 7 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป, เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, โรคอ้วน, ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้, โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ, และผู้มีโรคเรื้อรัง (ถุงลมโป่งพอง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) ควรได้รับการฉีดวัคซีน

 

แต่เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์ได้ง่าย และประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 40-60% การป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านทางเดินหายใจจึงต้องปฏิบัติเหมือนกับการป้องกันโควิด-19 เพราะฉะนั้นถ้าหากเรายังสามารถคงความปกติใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่แน่ว่าปีนี้คลื่นลูกที่สองของทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่อาจกลายเป็นแค่คลื่นที่ถูกลมทะเลพัดเบาๆ เข้าหาฝั่งก็เป็นได้

 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X