ลาจอไปกับภาพจำของฉากที่ คริส หอวัง ในบท ‘เข็มเพชร’ นั่งโซ้ยบะหมี่ด้วยสายตาหวาดระแวง แววตาที่เลื่อนลอยแต่แฝงไปด้วยความกลัว ก่อนจะเดินระหกระเหินหายไป นี่คือจุดจบของตัวละครที่เคยอยู่บนบัลลังก์สวยๆ เป็นเจ้าของร้านเพชร เป็นไฮโซชื่อดัง แต่ด้วยสภาพจิตใจและสังคมที่หล่อหลอมเธอมาทำให้เธอต้องกลายเป็นแบบนี้ แต่นั่นก็ถือว่าขัดใจผู้ชมพอสมควรสำหรับทางลงของตัวละครนี้
แม้ละครเรื่อง ‘เนื้อใน’ จะไม่ได้มอบตอนจบในแบบที่ผู้ชมคาดคิดที่อยากให้ตัวละครอย่าง ‘เข็มเพชร’ ต้องได้รับผลกรรมตามสูตรของตัวร้ายละครไทยที่อาจจะต้องเป็นบ้า ฆ่าตัวตาย หรือว่าโดนจับ แต่ผลตอบรับที่ผู้ชมทั้งทางโทรทัศน์และออนไลน์ก็พร้อมใจกันชม เนื้อใน จนทำให้ได้เรตติ้งตอนจบที่สูงถึง 2.9 ซึ่งค่อนข้างน่ายินดีเมื่อเทียบกับฐานแฟนของช่อง
แต่ถ้ามองเฉพาะในส่วนของออนไลน์ที่ถูกตัดมาเป็นไฮไลต์ในเฟซบุ๊กหรือยูทูบที่มีตัวเลขที่สูงสุดในระดับ 14 ล้านครั้ง ก็ถือเป็นเครื่องหมายที่ดีที่บ่งบอกว่า เนื้อใน เป็นละครที่ประสบความสำเร็จมากๆ จากบ้าน GMM 25
เนื้อใน อาจถูกฉาบภาพของความเป็นละครไทยๆ ที่ดูจำเจ แต่หากมองลึกลงไปและคุณพอจะหยิบจับอะไรได้ เราก็พบว่ามันก็พอมีประเด็นที่แข็งแรงอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว หรือประเด็นอย่าง Toxic Masculinity จากตัวละครผู้ชายทั้ง สกุล และราเชน แต่ทั้งหมดทั้งมวลกลับถูกกลบบังไปด้วยสถานการณ์อื่นๆ ที่ตัวละครพยายามจะร้ายใส่ ชิงดีชิงเด่นกัน จนทำให้ผู้ชมอย่างเราเผลอลืมไปว่าเนื้อของละครมีดีอยู่ข้างในจริงๆ
สิ่งที่แรกเราต้องชื่นชมคือ เนื้อใน ค่อนข้างมีสูตรที่ถูกต้องที่จะเป็นละครที่คนดูสนุกได้ ทั้งการมีตัวละครนางเอกแสนดีอย่าง ปลี (รับบทโดย รถเมล์-คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์) ตัวละครประเภท ‘ดูไปด่าไป’ ว่าทำไมคนเรามันถึงได้ดีแสนดีขนาดนี้ ทั้งยังโง่แสนโง่จนรู้สึกหงุดหงิดใจ แต่นี่แหละคือไม้เด็ดของละครที่ต้องพูดถึง เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ผู้ชมอยากเห็นที่สุดคือการลุกขึ้นมาสู้ของตัวละครที่ถูกมองว่าอ่อนแอ ด้อยกว่า หรือมีอำนาจและปากเสียงน้อยกว่า วันหนึ่งที่ปลีลุกขึ้นมาสู้กลับและทวงสิทธิ์ของตัวเองบ้าง ผู้ชมก็ต่างชอบใจ เป็นเครื่องหมายที่ว่าความดีก็ต้องชนะความชั่วอยู่วันยันค่ำ ซึ่งย่ำอยู่ในสูตรเดิมของงานบันเทิงไทย แต่ก็มิวายออกปากว่า เออ มันยังได้ผลอยู่จริงๆ!
ตัวละครปลีที่ถูกถอดมาจากบทประพันธ์นั้นคือตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกกดขี่จากความเป็นเพศ เป็นผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลัง ไม่มีปากมีเสียง และอยู่ใต้โอวาทของผัวเท่านั้น ซึ่งในบทนี้รถเมล์นำเสนอปลีออกมาเช่นนั้น แต่พ่วงความร่วมสมัยเข้าไปในความคิดความอ่านของเธอที่มีปากมีเสียงบ้าง และดูมีวุฒิภาวะมากกว่าจะดูเป็นคนโง่อย่างที่ผู้ชมกล่าวถึง แม้ว่าหลายๆ ประเด็นในเรื่องที่ปลีตัดสินใจจะล้วนขัดใจผู้ชมมากๆ ก็ตาม
เราอยากชื่นชม รถเมล์ คะนึงนิจ ในบทนี้มากๆ ที่เธอสามารถทำให้ปลีมีเลือดเนื้อและมีแววตาของความอมทุกข์อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะหงุดหงิดกับบท แต่รถเมล์ก็ทำให้เราเกลียดตัวละครนี้ไม่ลง แล้วก็อยากเอาใจช่วยให้เธอไปให้พ้นๆ จากเรื่องราวเหล่านี้สักที
ส่วนเข็มเพชรที่รับบทโดย คริส หอวัง อย่างที่เราเคยบอกคุณไปว่าเหมือนเรากำลังรับชมตัวละคร เหมยลี่ จากภาพยนตร์เรื่อง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ ในเวอร์ชันปากกัดตีนถีบ และเมื่อชมจนจบมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะเธอคือลูกสาวในตระกูลคนจีนที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ทั้งยังไม่ได้รับความรักจากครอบครัว ซึ่งตรงนี้คือประเด็นสำคัญที่สุดที่ส่งผลให้ตัวละครเข็มเพชรหลุดพ้นจากสติสัมปชัญญะในท้ายที่สุด
แม้ปมหลักของตัวละครจะดูแข็งแรง แต่เบี้ยบ้ายรายทางที่เรื่องดำเนินไป เราก็เผลอลืมไปแล้วว่าเข็มเพชรเป็นคนแบบนี้เพราะอะไร กลายเป็นว่าผู้ชมหลงลืมรากเหง้าของตัวละครไปเลย และจดจำได้แค่ว่าเข็มเพชรมันเป็นคนขี้อิจฉา เห็นคนอื่นได้ดีกว่าไม่ได้ และหันไปสนใจบทร้ายๆ แรงๆ ของเหล่าตัวละครในเรื่องที่ฟาดฟันกันไปมา แทนที่จะมองว่าเข็มเพชรคือผลผลิตของครอบครัวที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ และสิ่งที่ตามมาคือความผิดปกติทางความคิดและสภาวะทางจิตใจที่ทำให้เธอกลายเป็นคนแบบนี้ ซึ่งหากให้เวลากับเรื่องราวตรงนี้มากขึ้น ทีท่าของผู้ชมที่มีต่อตัวละครเข็มเพชรอาจไปในทิศทางบวก เพิ่มความเห็นอกเห็นใจ และมองเธอเป็นมนุษย์คนหนึ่งมากกว่านี้
แต่ท้ายที่สุดละครก็เลือกจะสื่อสารกับผู้ชมอย่างตรงไปตรงมาแบบที่ไม่ต้องคิดเองหรือย้อนกลับไปดูตอนเก่าๆ ให้เหนื่อย คือการใช้ตัวละครอื่นๆ มาเล่าบทสรุปแบบวอยซ์โอเวอร์ที่เถรตรง บอกโต้งๆ ว่าตัวละครเข็มเพชรเป็นแบบนี้เพราะอะไร และทำพฤติกรรมไปด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งถามว่ามันชัดเจนดีไหม ก็ถือว่าย่อยง่าย แต่เราคาดหวังว่าน้ำหนักของบทตรงนี้จะช่วยให้เรารู้สึกเห็นใจตัวละครเข็มเพชรมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเธออาจจะเป็นผู้หญิงที่น่าสงสารที่สุดในเรื่องนี้มากกว่าปลีด้วยซ้ำ ฉะนั้นฉากที่เธอโพล่งความในใจออกมาเป็นชุดใหญ่ในตอนจบนี้ เราเสียดายน้ำหนักความนึกคิดของตัวละครมากๆ
สิ่งที่ต้องชื่นชมจริงๆ คือการที่ GMM 25 และ CHANGE2561 ตัดสินใจหยิบบทประพันธ์นี้ขึ้นมาดัดแปลงเป็นละครแล้วส่งลงมาในสนามแข่งขัน นับว่าเป็นผู้เข้าแข่งขันที่น่าสนใจที่อาจไม่ได้คว้าตำแหน่งชนะเลิศ แต่อย่างน้อยๆ ก็ได้ใจกรรมการ กับโจทย์ยากที่หยิบเอาบทประพันธ์นี้ของ กฤษณา อโศกสิน ขึ้นมาเล่าด้วยความร่วมสมัย หยิบงานที่อาจจะถูกหลงลืมไปแล้วให้กลับมาโลดแล่นบนจอโทรทัศน์ และใช้สูตรความดีความชั่วมานำเสนอชัดๆ แบบละครน้ำเน่าได้ตรงไปตรงมาอย่างที่บทประพันธ์ต้องการจะสื่อสารความ ‘ดีสุดขั้ว ชั่วสุดขีด’ เช่นที่เจ้าของบทประพันธ์เคยกล่าวไว้
ก่อนจะพาไปถึงบทสรุปที่ปล่อยให้ผู้ชมได้ตัดสินเอาเองว่า แท้จริงแล้วอะไรกันแน่ที่ว่าปลอม ที่ว่าชั่ว และอาจสร้างความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นขึ้นมาได้ในท้ายที่สุด และภาพรวมทั้งหมดก็แสนจะเป็นลายเซ็นที่ชัดเจนในแบบที่ค่ายนี้เคยทำได้กับ ใบไม้ที่ปลิดปลิว หรือ ทะเลแปร ด้วยวิธีการนำเสนอ โปรดักชัน หรือจังหวะของการแสดงที่ล้วนเป็นสูตรสำเร็จจากเรื่องก่อนๆ ที่ได้ใจทั้งผู้ชม ได้ทั้งเรตติ้ง แม้เราจะรู้สึกอิ่มๆ เลี่ยนๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าผู้ชมส่วนใหญ่ชื่นชอบละครแบบนี้
อ่านเรื่อง ‘เนื้อใน’ ละครกะเทาะเปลือกสวยหรูเพื่อดูธาตุแท้ข้างใน นี่มนุษย์หรือปีศาจเดินเท้า’ ได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์