×

‘ดีพอ’ หรือ ‘พอดี’

19.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การออกแบบที่ดีคือการแก้ปัญหาด้วยปัญญา และจวบจนทุกวันนี้ ไม่ว่าหลายสิ่งเปลี่ยนไป แต่ ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ยังคงรูปลักษณ์เดิม คือรูปลักษณ์ที่เหมาะสมกับการทำงาน และยังเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่คุ้มค่าที่สุดไม่เปลี่ยนแปลง

     ผมเชื่อว่าในยุคนี้เวลาจะซื้อจะหาของสิ่งไหนมาใช้กัน นอกจากเรื่องการใช้งาน (function) คงมองกันที่เรื่องของการออกแบบ (design) ด้วยใช่ไหมครับ ไม่ได้ว่าอะไรนะครับ เพราะผมเองก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน ยิ่งถ้าอยู่ในวงการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม ด้านโปรดักต์ดีไซน์ ยิ่งถ้าเป็นพวกร้านค้าออนไลน์ ถ้าหากว่าเราเลือกของเก๋ๆ โดนๆ มาขายได้ก็ยิ่งทำให้เราสามารถอัพราคาให้สูงขึ้นได้มากตามไปด้วย

     ยิ่งช่วงนี้ถ้าใครอยากอนุรักษ์ความเป็นไทย ผมก็เห็นเว็บไซต์เก๋ๆ อย่าง VTThai ที่นำเอาเรื่องงานฝีมือของชุมชนต่างๆ มาออกแบบด้วยฝีมือดีไซเนอร์ไทย ซึ่งสร้างมูลค่าแบบคูณสิบ งานดีก็ต้องชื่นชม เพียงแต่พอมองไปรอบๆ แล้วบังเอิญได้เห็นงานออกแบบตั้งแต่สิ่งของชิ้นเล็กๆ อย่างถาดใส่ที่หนีบกระดาษไปจนถึงตึกรามบ้านช่องขนาดใหญ่ ไม่รู้ว่าเพื่อนๆ รู้สึกแบบผมไหมว่าบางทีพอมองของที่มีไอเดียมากมายรอบๆ ตัว แต่มันกลับไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตของเรามีความหมายขึ้นเลย ถ้าให้เปรียบก็คงคล้ายๆ เราสวมแว่นกันแดดเดินในห้าง นุ่งผ้าเช็ดตัวลงไปว่ายน้ำ ซื้อร่มแบรนด์เนมมาใช้ แต่ไม่เคยกางตอนฝนตก ไม่รู้ว่าผมคิดไปเองหรือเปล่า… หรือผมเริ่มที่จะลืมแก่นแท้ของการทำงานออกแบบไปเสียแล้ว

 

 

     ‘แก่น’ ที่ว่าคืออะไรเหรอครับ ผมจะเท้าความให้ฟัง ตอนผมเรียนปริญญาตรีเรื่องการออกแบบบ้านแถวสยาม อาจารย์มักจะพร่ำสอนและพูดอยู่บ่อยๆ ว่า การออกแบบที่ดีคือการแก้ปัญหาด้วยปัญญา ไม่ใช่การโรยหน้าด้วยผักชี (อาจารย์พูดประมาณนี้มั้ง อ้างอาจารย์แล้วกัน ฮ่าๆ)

     การออกแบบที่ดี อืม…การออกแบบที่ดีคืออะไร? ก็อย่างออกแบบบ้านที่พอสร้างเสร็จแล้วเจ้าของบ้านได้ใช้พื้นที่แทบจะทุกตารางนิ้ว ไม่ใช่บ้านบางหลังในปัจจุบันที่บางห้องเจ้าของบ้านแทบไม่เคยเข้าไป ‘นั่ง’ เลยด้วยซ้ำ หรือถ้าใกล้ตัวหน่อยก็ที่หลายๆ คนกำลังอ่านรีวิวมือถือรุ่นใหม่ๆ ที่ราคาเหยียบแสน ทั้งที่บางแอปฯ ในเครื่องเดิมยังใช้ไม่ครบเลย (อย่าคิดมาก ผมเองก็มีเผลอๆ กดดูเหมือนกัน)

     หรือถ้าใครยังนึกไม่ออกว่าการออกแบบที่ดีนั้นคืออะไร ผมขอชวนทุกคนลองออกไอเดียในการออกแบบกันหน่อยได้ไหมครับ

     วันก่อนผมเดินผ่านบ่อน้ำแห่งหนึ่ง กลิ่นกำลังได้ที่เลยครับ อะไรมันจะเน่าได้ขนาดนี้ (ขอไม่บอกแหล่งนะครับ เดี๋ยวโดนเรียกไปปรับทัศนคติ) โจทย์คือให้ออกแบบเครื่องมือในการเปลี่ยนน้ำที่กำลังเน่าในบ่อให้สะอาดขึ้น โดยวิธีการที่ง่ายที่สุดและประหยัดที่สุด เอ้า เสนอไอเดียกันมาได้เลยครับ

     อย่าบอกนะครับว่าพอหลับตาลงแล้วทุกคนนึกภาพเดียวกับผม… นั่นคือภาพของเครื่องกลสีเทาๆ เงินๆ กำลังลอยอยู่บนทุ่นที่ขนาบข้างทั้งสอง ไม่มีการประดับอะไรที่มันเกินจำเป็น ตรงกลางของเครื่องจะมีรูปร่างคล้ายกับกังหันที่ตักน้ำวนขึ้น-ลงเป็นวงกลม…

 

 

     ถ้าใช่ล่ะก็ เรากำลังนึกถึงภาพเดียวกันอยู่ ภาพของเครื่องกลเติมอากาศ หรือที่เราคุ้นชื่อที่ว่า ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่ายและผลิตได้เองในประเทศ ซึ่งมีรูปแบบ ‘ไทยทำไทยใช้’ โดยทรงได้แนวทางจาก ‘หลุก’ (ไม่แน่ใจว่าเพื่อนๆ จะนึกภาพออกไหม ลองนึกถึงชิงช้าสวรรค์ที่เราเห็นตามงานวัดก็ได้)

     ‘หลุก’ เป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่ ใช้เป็นเหมือนตัววิดน้ำ หรือระหัดทดน้ำเพื่อการเพาะปลูกอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของพวกเราชาวไทยนี่เอง ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดคิดค้นเบื้องต้น โดยพระองค์ทรงมุ่งหวังที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการบรรเทาน้ำเน่าเสียอีกทางหนึ่ง จากนั้นก็พัฒนาต่อมาเป็นเวลา 4-5 ปี เรียกกันแบบภาษาชาวบ้านว่า ‘กังหันน้ำสูบน้ำทุ่นลอย’ ก่อนที่จะถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’

     ระหว่างนั้นก็มีการทดลองติดตั้งเพื่อใช้บำบัดน้ำเสียที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ผ่านมานับได้ 28 ปีพอดี… ซึ่งถ้าหากเราลองนึกภาพย้อนกลับไป 28 ปีก่อน ปีที่โทรศัพท์ยังคงใช้แบบแป้นหมุน ปีที่สตีฟ จ็อบส์ ยังไม่ได้ขายมือถือ ปีที่กำแพงเบอร์ลินเพิ่งถูกเปิดออก ปีที่เราส่งยานอวกาศลำแรกไปสำรวจดาวพฤหัสบดี หรือเป็นปีที่ร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ของไทยเพิ่งเปิดสาขาแรกแถวบางรัก ฯลฯ

 

 

     จวบจนทุกวันนี้ มานึกๆ ดู หลายสิ่งเปลี่ยนไป แต่ ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ยังคงรูปลักษณ์เดิม คือรูปลักษณ์ที่เหมาะสมกับการทำงาน และยังเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่คุ้มค่าที่สุดไม่เปลี่ยนแปลง

     เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่บอกว่าสิ่งของที่ดีและตอบโจทย์ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปไปตามกาลเวลา ไม่ต้องเพิ่ม เสริม หรือเติมแต่งสิ่งฟุ่มเฟือยใดๆ ให้มัน ‘เกินพอดี’

     ตัวผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการออกแบบที่ดีควรเป็นอย่างไรอย่างแน่แท้ แต่ผมกลับตามหา ‘การออกแบบที่ยั่งยืน’ เพื่อจะนำมาใช้กับชีวิตอย่าง ‘พอเพียง’ ตามคำที่ ‘พ่อสอน’ ตลอดไป

 

     ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

     ข้าพระพุทธเจ้า นายพิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์ ผู้เขียน

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X