วันนี้ (27 เมษายน) รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อพิจารณาผลกระทบ กรณีประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลและพิจารณากันหลายประเด็นที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศ และการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสมุนไพรในประเทศ
ภายหลังการประชุม อนุทินได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากประเทศไทยตัดสินใจเป็นสมาชิกของ CPTPP โดยให้มีการระบุให้ชัดว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP
“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และจะนำเสนอข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเต็มไปด้วยข้อห่วงใยและความกังวลที่จะมีผลกระทบต่อระบบการผลิตยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะต้องนำมาใช้ดูแลรักษาชีวิตและสุขภาพของคนไทย ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 เมษายนทราบ แต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาตัดสินใจอย่างไร แต่ข้อห่วงใยและความกังวลใจของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเรื่องผลกระทบต่อการผลิตยา ซึ่งเป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขไทย น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญ สำหรับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี” รายงานข่าวอ้างคำพูดอนุทิน
รายงานแจ้งด้วยว่า อนุทินกล่าวในที่ประชุมด้วยว่า การจะแลกมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางการค้า การส่งออก กับความมั่นคงของระบบสาธารณสุขไทย เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าการเข้าร่วมในข้อตกลง CPTPP ประเทศไทย จะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์
อีกทั้งขณะนี้มีเพียง 11 ประเทศเท่านั้นที่เป็นสมาชิก และส่วนใหญ่ไม่ใช่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของเรา ประกอบกับมิติการค้าระหว่างประเทศอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 และหลังการระบาดจบลง ยังไม่มีข้อมูลว่าเหตุใดจึงต้องรีบเร่งพิจารณาในช่วงนี้
ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อเสนอขององค์การเภสัชกรรมที่ได้นำเสนอ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนได้ยากขึ้น และทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ 3 ด้าน ได้แก่
- ด้านสิทธิบัตรและยา การใช้สิทธิบัตร CL มีขอบเขตลดลง สุ่มเสี่ยงถูกฟ้องกระทบการเข้าถึงยาของประชาชน, ไทยไม่ได้ประโยชน์ด้านราคายาที่ลดลง, ไทยต้องนำเข้ายา และไม่สามารถพึ่งตนเองด้านยาได้เมื่อเกิดวิกฤตด้านสาธารณสุข
- ด้านการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เกิดการผูกขาดสายพันธุ์พืชเป็น 20-25 ปี ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ และการต่อยอดค้นคว้าวิจัย กระทบต่อกลไกลการแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งในเรื่องทรัพยากรจุลชีพและการคุ้มครองพืชท้องถิ่นในประเทศไทย
- ด้านจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ไทยไม่สามารถกำหนดมูลค่าและจะผ่อนผันได้หรือไม่ เนื่องจากไทยเข้าร่วมภายหลัง หลัง 11 ประเทศ ตกลงกันไปหมดแล้ว อีกทั้งยังกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจขององค์การเภสัชกรรมไม่สามารถดำเนินการเชิงสังคมในการรอรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน ที่จำเป็นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ เช่น การเกิดโรคระบาดโควิด-19
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล