×

แต่งตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่งจริงหรือ? ผลการศึกษาชี้ คนแต่งตัวเนี้ยบปั่นเงินได้สูงกว่า

19.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การศึกษาของมหาวิทยาลัยเยล ที่วิเคราะห์กับผู้ชายจำนวน 128 คน อายุตั้งแต่ 18-32 ปี พบว่าคนที่แต่งตัวเนี้ยบกว่าสามารถเจรจาต่อรองและทำเงินได้สูงกว่า เนื่องจากความรู้สึกมีอำนาจและมั่นคง

     ได้ยินกันมาว่าคนเราไม่ควรมองกันแต่เปลือกนอก แต่ก่อนจะสาวเท้าออกจากบ้านไปสมัครงานหรือไปเดตแรก ไฉนเราจึงต้องพิถีพิถันทุกกระเบียดนิ้วเพื่อความประทับใจแรกกัน กระนั้นคำกล่าวที่ว่า ‘แต่งตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่ง’ แท้จริงแล้วจริงแท้เพียงใด?

     หลังจากหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ตีพิมพ์บทความที่บอกว่าการแต่งกายดีนั้นเป็นมากกว่าเพื่อให้ได้งานไปไม่นานก็มีข้อพิสูจน์ล่าสุดออกมาแล้วว่า ‘การแต่งกายเพื่อความสำเร็จ’ นั้นเป็นมากกว่าวลียอดฮิต แถมยังชี้ให้เห็นอีกว่าการสวมใส่อาภรณ์ที่ดูดีในสถานที่ทำงานสามารถปรับภาพลักษณ์ที่คนรอบตัวมอง ปรับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใส่ ไปจนถึงช่วยให้คิดอย่างมีขั้นตอนมากขึ้นอีกด้วย

     จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเยลในปี 2014 ที่ทำการวิเคราะห์ผู้ชายจำนวน 128 คน อายุตั้งแต่ 18-32 ปี โดยให้พวกเขามีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองในการซื้อขาย ซึ่งทำให้พบว่าคนที่แต่งตัวปอนๆ (เช่น ใส่กางเกงวอร์มและรองเท้าแตะ) สามารถทำเงินได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 680,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 22,500,000 บาท) ขณะที่กลุ่มที่ใส่สูททำเงินอยู่ที่ 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 69,700,000 บาท) ส่วนกลุ่มที่แต่งตัวกลางๆ ไม่แย่หรือสบายเกินไป ทำเงินที่ 1.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 52,370,000 บาท) โดยผู้ร่วมเขียนงานวิจัยนี้มองว่าคนที่ใส่สูทเนี้ยบจะรู้สึกมั่นคงและช่วยบั่นทอนความรู้สึกด้อยที่พวกเขาอาจมี

 

แบรด พิตต์ ชายหนุ่มผู้ขึ้นชื่อว่าแต่งตัวเนี้ยบคนหนึ่งประจำฮอลลีวูด

 

     ในขณะที่ผลศึกษาอีกชิ้นเผยให้เห็นว่า ผู้ที่แต่งตัวมากกว่ามีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารองค์กรหรือมีส่วนร่วมในการดูภาพรวมของบริษัทเฉกเช่นซีอีโอ ในขณะที่คนที่แต่งตัวน้อยกว่ามีแนวโน้มจะได้รับหน้าที่ดูแลรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่า

     ไมเคิล สเลเปียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Columbia Business School ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย เผยกับ The Wall Street Journal ว่า “คนที่สวมเสื้อผ้าที่แลดูมีอำนาจก็จะรู้สึกว่าตนมีอำนาจนั้นตามไปด้วย และเมื่อรู้สึกเช่นนั้นก็มักจะเน้นการมองในรายละเอียดน้อยลง”

     แล้วเหตุใดมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และมนุษย์ค่อนซิลิคอน วัลเลย์ จึงไม่ทำเช่นนั้น? เพราะหลายคนก็มองว่าเมื่อใส่ใจการแต่งตัวให้น้อยลง เราจะมีเวลาไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น

     ทั้งนี้ ฐาดิณี รัชชระเสวี สไตลิสต์ อดีตบรรณาธิการแฟชั่น และผู้จัดคลาสสอนการแต่งกายทั้งแบบส่วนตัวและองค์กรมองว่า “การแต่งตัวเป็นใบเบิกทางให้คนที่มองเราเปิดใจ โดยเป็นความประทับใจแรกที่คนจะจดจำไม่ต่างจากแพ็กเกจจิ้งสวยๆ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามักเลือกจากภายนอกก่อน อย่างน้อยก็ต้องเป็นแบบที่เราชอบ เพราะฉะนั้นในส่วนของการทำงานก็เช่นกัน การแต่งตัวจึงเป็นก้าวแรกที่จะทำให้คน ‘ซื้อ’ หรือ ‘ไม่ซื้อ’ ก่อนจะมาฟังเรื่องความสามารถของเรา”

     ส่วนการแต่งตัวตามสบายโดยเน้นไปที่ผลงานนั้น ฐาดิณีเสริมว่า “ขึ้นอยู่กับสายงานที่ทำและวัฒนธรรมองค์กร แต่คนส่วนมากมักมองว่าการใส่สูทหรือการแต่งตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะสื่อถึงภาพลักษณ์แห่งความเป็นมืออาชีพ และยังให้คะแนนกับความพยายามสร้างความประทับใจ ส่วนการแต่งกายสบายๆ จนเกินไปนั้นอาจบ่งบอกถึงทัศนคติต่อเรื่องอื่นๆ ได้เช่นกัน ส่วนผู้นำบางแบรนด์ที่ดูสบายๆ แท้จริงแล้วอาจผ่านกระบวนการคิดมาแล้วว่าการแต่งตัวนั้นนำเสนอตัวผลงานของเขา แต่หากคุณคิดว่าสิ่งที่สวมใส่นำเสนอผลงานของคุณอยู่แล้ว คุณจะใส่อะไรก็ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วการลุกขึ้นมาแต่งตัวให้ถูกกาลเทศะในสายงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญเสมอ”

     เว็บไซต์ Business Insider แนะให้คุณผู้ชายแต่งกายโดยใช้สูตร ‘บวก 1 หรือลบ 1’ เสมอในที่ทำงาน เช่น หากคนในองค์กรส่วนมากติดกระดุมเม็ดบนที่เสื้อ คุณอาจจะเลือกสวมเบลเซอร์เพื่อเติมความโดดเด่นอย่างแนบเนียน หรือหากคนโดยมากสวมเบลเซอร์ คุณอาจจะหยิบสูทมาใส่ และข้อแนะนำสุดท้ายคือขอแค่อย่าแต่งตัวเกินหน้าเจ้านายเป็นพอ… คุณเห็นด้วยไหม?

 

อ้างอิง:

FYI
  • ฐาดิณีเสริมว่า “งานวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ชี้ว่า คนจะตัดสินกันภายใน 7 วินาทีหรือน้อยกว่านั้น สมองของเราจะวิเคราะห์พิจารณาถึงแบ็กกราวด์ของบุคคลนั้นภายใน 7 วินาทีนั่นเอง
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X