เกิดอะไรขึ้น:
วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดเผยรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในช่วงโควิด-19
โดยมาตรการนี้ กสทช. ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 ราย (AIS, True, dtac, TOT และ CAT) ในการเปิดให้บริการโทรฟรีทุกเครือข่าย 100 นาที ระยะเวลา 45 วัน แก่ประชาชนคนไทยทุกคน คนละ 1 สิทธิ์ต่อ 1 ค่าย โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2563 เบื้องต้น กสทช. คาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์จากมาตรการนี้ 50 ล้านเลขหมาย
กระทบอย่างไร:
หลังจากที่ กสทช. แถลงรายละเอียดมาตรการดังกล่าวในวันจันทร์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารไม่ตอบสนองต่อประเด็นนี้มากนัก เนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า กสทช. ได้เปิดเผยว่ากำลังหารือร่วมกับผู้ให้บริการฯ ทั้ง 5 รายในการออกมาตรการฯ ทำให้ราคาหุ้นได้ตอบรับต่อประเด็นนี้มาก่อนแล้ว
โดยในวันจันทร์ที่ผ่านมา
- ราคาหุ้น บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ปรับลง 0.26%DoD สู่ระดับ 194.50 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ปรับขึ้น 0.62%DoD สู่ระดับ 40.50 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ปรับขึ้น 0.61%DoD สู่ระดับ 3.32 บาท
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่ามาตรการนี้มีผลกระทบทั้งทางบวกและลบ โดยรายได้จากการให้บริการเสียงของผู้ประกอบการกลุ่มสื่อสารจะลดลงเนื่องจากผู้ใช้บริการอาจจะเติมเงินค่าโทรน้อยลง ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าโทรอยู่ที่ประมาณ 0.5 บาทต่อนาที รวมถึงยังทำให้ต้นทุนการเชื่อมโยงเครือข่าย (Interconnection Charge: IC) เพิ่มขึ้นหากผู้ใช้บริการโทรออกไปยังเครือข่ายอื่น แต่จะถูกชดเชยด้วยรายได้ IC จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการโทรเข้ามาจากเครือข่ายอื่น
SCBS ได้ประเมินผลกระทบกรณีเลวร้ายสุดบนสมมติฐานว่า
- มี 50 ล้านเลขหมายที่จะได้รับสิทธิ์
- ผลกระทบต่อรายได้อยู่ที่ 50 บาทต่อเลขหมาย อิงจากอัตราค่าโทร 0.5 บาทต่อนาที
- ไม่มีรายได้ IC จากการวิเคราะห์พบว่า มาตรการนี้จะส่งผลให้ประมาณการกำไรปี 2563 ของ ADVANC ลดลง 3.3% จากประมาณการเดิมที่ 2.5 พันล้านบาท, DTAC ประมาณการการกำไรสุทธิปี 63 จะลดลง 10.3% จากประมาณการเดิมที่ 1.28 พันล้านบาท ขณะที่ TRUE จะมีผลขาดทุนสุทธิในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 1.6 พันล้านบาท (จากประมาณการเดิมขาดทุน 754 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่แท้จริงอาจน้อยกว่าที่ประเมินไว้ นักลงทุนต้องติดตามจำนวนเลขหมายที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ในช่วงวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2563
มุมมองระยะยาว:
SCBS มองว่าทิศทางผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการกลุ่มสื่อสารจะยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อไป โดยรายได้ค่าบริการโรมมิ่งและยอดขายซิมท่องเที่ยวจะลดลงตามทิศทางนักท่องเที่ยวต่างชาติ
สำหรับการให้บริการ 5G SCBS ยังมีความกังวลต่อ DTAC เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ไม่มีบริการ 5G บนคลื่น 2600 MHz ซึ่งอาจทำให้ DTAC เริ่มสูญเสียลูกค้าในปี 2564 สำหรับคลื่น 3500 MHz และ 28 GHz ซึ่งเป็นคลื่นที่ DTAC รอการประมูลนั้น ยังไม่มีกำหนดการจาก กสทช. ที่ชัดเจน ทั้งนี้ต้องติดตามว่า DTAC จะใช้กลยุทธ์ใดในการรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ท่ามกลางการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม:
%DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า