×

ไปต่อไม่ไหว! สรุปข้อเสนอช่องทีวีดิจิทัล ‘ขอไม่จ่าย-ช่วยเยียวยา’

โดย THE STANDARD TEAM
18.10.2017
  • LOADING...

     ไม่เหนือความคาดหมาย เมื่อนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) พร้อมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อเสนอปรับโครงสร้างอุตสาหรกรรมทีวีดิจิทัล หลังจากที่ขาดทุนกันถ้วนหน้า

    ซึ่งขณะนี้ผู้ดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมการรับสื่อจากหลากหลายแพลตฟอร์มของผู้บริโภคและความล้มเหลวในการบริหารจัดการของ กสทช. ในการเปลี่ยนผ่านจากทีวีระบบอะนาล็อกเป็นดิจิทัลที่เป็นไปอย่างล่าช้า จะเห็นได้จากกล่อง set top box ที่แจกจ่ายได้เพียง 9 ล้านกล่องจากที่ตั้งเป้า 22 ล้านกล่องเท่านั้น

 

    ทางสมาคมจึงยื่นข้อเสนอต่อ กสทช. ซึ่งพอจะสรุปประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้

    1. ขอไม่จ่ายส่วนที่เหลือ โดยมองว่าเงินค่าใบอนุญาตที่ประมูลไปนั้นชำระให้ กสทช. ถึง 3.4 หมื่นล้านบาทในช่วงกว่า 3 ปีน่าจะเพียงพอแล้ว เมื่อเทียบกับราคาตั้งต้นรวมที่ 1.5 หมื่นล้านบาทและราคาที่ประมูลได้ถึง 5.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจะขอไม่จ่ายส่วนต่างอีก 2 หมื่นล้านบาทที่เหลือ

    2. เสนอทางหารายได้ให้รัฐ เนื่องจากยังมีคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ที่ยังเหลืออยู่นอกเหนือจากทีวีดิจิทัลปัจจุบัน 22 ช่อง ให้เปลี่ยนไปใช้กับกิจการโทรคมนาคม นั่นคือเอาคลื่นไปใช้กับการประมูล 4G หรือ 5G ในอนาคตสำหรับมือถือแทน ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐเพื่อชดเชยกับส่วนที่จะช่วยเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

    3. เปิดทางให้คืนใบอนุญาตได้ สำหรับรายที่ขาดทุนและไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ โดยมองว่าทุกวันนี้จำนวนช่องมีเยอะเกินไป และน่าจะลดลงได้ถึง 1 ใน 3 ของที่มี

    4. ขอลดค่าเช่าโครงข่ายที่จ่ายให้กับ Mux เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง ช่องเอสดีจ่ายปีละ 60 ล้านบาท ช่องเฮชดีจ่ายปีละ 170 ล้านบาท

 

    ทาง กสทช. แจ้งว่าได้หารือกับทางสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) แล้ว และวันนี้ (18 ต.ค.) จะมีประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณาลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยคิดเป็นขั้นบันไดตามฐานรายได้

    ส่วนนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่ กสทช. จะต้องจัดการ ซึ่งต้องพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน

    ขณะที่ ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเจนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ให้ข้อมูลกับทางสำนักข่าว The Standard ว่า เห็นด้วยกับทางผู้ประกอบการที่มองว่าช่องทีวีดิจิตอลมีมากเกินไป แต่ขอไม่แสดงความคิดเห็นถึงกระบวนการในข้อเสนอที่ยื่นต่อสปช.

    หากจำนวนช่องลดลงน่าจะไม่กระทบกับการวางแผนสื่อของมีเดียเอเจซี่ เพราะว่าทุกวันนี้จะนำเสนอการโฆษณาผ่านช่องที่มีเรตติ้ง 5 อันดับแรกอยู่แล้ว และเม็ดเงินส่วนใหญ่จะยังกระจุกอยู่ไม่เกิน 7 ช่องเท่านั้น

    เชื่อว่าในอนาคตจะเหลือทีวีดิจิตอลไม่เกิน 10 ช่องเหมือนในต่างประเทศ ส่วนภาพรวมของเม็ดเงินโฆษณาของอุตสาหกรรมสื่อทั้งหมดน่าจะลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 3 หมื่นล้านบาท เหลืออยู่ที่ 1 แสนล้านบาทสำหรับสื่อทุกประเภท

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X