วันนี้ (21 เมษายน) คณะก้าวหน้า นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วยภาคเอกชน บริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมแพทย์ ได้ร่วมกันผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มอบแก่โรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเป็นจำนวนมาก รวมถึงในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้อุปกรณ์ต่างๆ ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ คณะก้าวหน้าและภาคเอกชนตระหนักถึงปัญหานี้ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ไขปัญหาให้กับสังคมไทย ในฐานะองค์กรเอกชน ที่มีศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์ที่เป็นที่ต้องการทางการแพทย์ จึงเริ่มระดมสมอง วางแผน กางข้อมูล เริ่มโครงการผลิตและมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่น วัณโรค โดยรายละเอียดอุปกรณ์ทั้ง 2 รายการ มีดังนี้
1) Modular ARI Clinic: ห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการแรงดันบวก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด้านหนึ่ง และห้องความดันลบสำหรับผู้เสี่ยงติดเชื้อ/ผู้ถูกตรวจอีกด้านหนึ่ง ในรูปแบบที่ยกมาติดตั้งและถอดออกได้อย่างสะดวก
2) Patient Transportation Chamber: อุปกรณ์ติดเสริมเตียงเคลื่อนย้าย ด้วยระบบแรงดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ในระหว่างเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง
อุปกรณ์ทั้ง 2 รายการ ได้ใช้ข้อมูลจากเพจ OpenSource COVID Thailand และคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เปิดให้สาธารณะผลิตและออกแบบ โดยมีบริษัทเอกชนที่ร่วมสนับสนุนในการผลิตได้แก่ บริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด, และกลุ่มบริษัท โอ.อี.ไอ พาร์ท จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการอุตสาหกรรมระดับโลก ทั้งนี้อุปกรณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาล
อุปกรณ์ทั้ง 2 รายการมีเป้าหมายในการช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในพื้นที่โรงพยาบาล และในระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับญาติมิตร ผู้เดินทางสัญจรทั่วไป ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ รวมถึงเพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวยังมีความแข็งแรง สามารถติดตั้งถาวร เพื่อรับรองการรักษาโรคอื่นๆ ที่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคโควิด-19, วัณโรค เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะก้าวหน้าและทีมผู้ผลิตจะส่งมอบ Modular ARI Clinic จำนวน 11 ชุด และ Patient Transportation Chamber จำนวน 18 ชุด ให้กับโรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน และวันที่ 2 และ 3 พฤษภาคม 2563
สำหรับรายชื่อ 12 โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ
- โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี
- โรงพยาบาลชลบุรี
- โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
- โรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
- โรงพยาบาลสนามศูนย์โควิด 19 จังหวัดเชียงใหม่ (ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่)
- โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
- โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
- โรงพยาบาลยะลา
- โรงพยาบาลยะรัง จังหวัดปัตตานี
- โรงพยาบาลสงขลา
- โรงพยาบาลคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
- โรงพยาบาลกงหรา จังหวัดพัทลุง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์