×

‘ภาษีประชาชนต้องถึงมือคนที่อยู่ล่างสุด’ บัณฑูร ล่ำซำ ฝากรัฐบาลอย่าทำเงินหล่นหายระหว่างทางซ้ำรอยปี 2540

17.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • บัณฑูร ล่ำซำ แม้จะวางมือจากหัวเรือใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยแล้ว แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านวิกฤตมาหลากหลาย ในวันนี้เขาแบ่งปันมุมมองที่มีต่อวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังคุกคามคนไทยอยู่ในเวลานี้
  • บัณฑูรให้แนะนำรัฐบาลจากบทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้งว่า ควรนำบทเรียนเมื่อ 22 ปีก่อนมาออกแบบมาตรการที่จะทำอย่างไรให้เงินที่อัดฉีดลงไปไม่หล่นหายไประหว่างทาง และไปถึงมือคนที่อยู่ด้านล่างสุดอย่างแท้จริง
  • “สุดท้ายแล้วจะเครียดจากวิกฤตก็ต้องบริหารจิตของตนเองให้แน่ใจว่าฉันยังมีเวลาที่จะพักทั้งร่างกายและพักทั้งสมอง ถ้าต้องทำงานทั้ง 24 ชั่วโมง สักพักผู้นำอย่างนี้ต้องตาย เพราะอยู่ไม่ถึงจนวิกฤตจบก็ตายก่อน เพราะฉะนั้นต้องรักษาสมดุลของชีวิต แต่ต้องทำเต็มที่ ตื่นเช้ามาทำเต็มที่ ก่อนนอนจะได้สบายใจว่าวันนี้ฉันทำเต็มที่ของฉันแล้ว” บัณฑูรฝากคำแนะนำถึงผู้นำในยุคโควิด-19

เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดและกลายเป็นวิกฤตในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นรัฐ ประชาชน หรือภาคธุรกิจ ก็ต้องเร่งปรับตัวตั้งรับกับวิกฤตนี้ 

 

THE STANDARD พูดคุยกับ บัณฑูร ล่ำซำ นายแบงก์ใหญ่ของกสิกรไทยที่วางมือจากการบริหารธนาคารที่ทำมากว่า 40 ปี แต่ยังคงทำงานภายใต้หมวกใบใหม่คือประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งสะท้อนมุมมองที่เขามีต่อวิกฤตโควิด-19 

 

บทเรียนจากวิกฤตปี 2540: รัฐบาลออกมาตรการ แต่เงินต้องไม่หล่นหายระหว่างทาง

เมื่อปี 2540 หรือช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ครั้งนั้นต้นตอของวิกฤตเกิดจากการทำจนเกินตัวแล้วพัง แต่รอบนี้ไม่ใช่ กลายเป็นโรคระบาดที่ทำให้ค้าขายไม่ได้ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อคนและประเทศ ตอนนี้รัฐบาลก็มีมาตรการในหลายด้านที่จะอัดเงินลงไปให้ช่องทางต่างๆ เช่น 5,000 บาทก็ดี หรือจะเป็นเงินกู้ผ่านระบบธนาคารก็ดี 

 

ถ้าจะเอาบทเรียนเมื่อ 22 ปีที่แล้วคือให้มั่นใจว่าเงินที่จะเสียนี้ให้มันไปถึงคนที่ควรจะได้ ไม่ใช่มีใครกั๊กใส่กระเป๋าแล้ววิ่งหนีไประหว่างทาง ซึ่งมันเกิดขึ้นใน 22 ปีที่แล้ว ที่เขาเรียกว่าล้มบนฟูก ที่บริษัทล้ม แต่ส่วนตัวไม่ล้ม เพราะยักย้ายถ่ายเทเงิน เอาเงินออกไปจากบริษัทหมด กลายเป็นว่าความเสียหายนั้นไปเกิดขึ้นกับกระเป๋าใครบางคน รอบนี้ก็เช่นกัน ถ้าระบบติดตามควบคุมไม่ชัดเจน เงินที่อัดลงไปก็มีโอกาสสูงที่จะหล่นหายไประหว่างทาง และคนล่างที่สุดก็จะแห้งตายเหมือนเดิม 

 

รัฐบาลจะอัดฉีดเงินต้องตรงจุด เข้าถึงคนล่างสุด ตรวจสอบได้

ตอนนี้ 3 โจทย์ใหญ่ในวิกฤตโควิด-19 คือ สกัดโรค ประคองชีวิตคนที่อยู่ล่างสุดของระบบ และคิดข้ามช็อตว่าเมื่อโรคหายไปแล้วจะทำมาหากินอะไร ในส่วนของธนาคาร เราเริ่มทำจากโจทย์เล็กๆ เพื่อนำไปสู่โจทย์ใหญ่ที่จะเลี้ยงทั้งประเทศ และหาทางว่าจะช่วยกันอย่างไรได้บ้าง 

 

ดังนั้นเมื่อรัฐออกมาตรการมาก็ต้องบริหารจัดการให้เงินลงไปถึงคนที่ต้องการที่สุด อย่างผู้มีรายได้น้อยที่ไทยมีอยู่สิบกว่าล้านคน มาตรการต้องระบุเป็นรายบุคคลเพื่อให้แน่ใจว่าทุกจุดที่เงินลงไปนั้นถึงพนักงาน แล้วต้องมีบทพิสูจน์ว่าพนักงานพวกนั้นยังมีการจ้างงานอยู่ ซึ่งในโครงการ ‘เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ’ ที่ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับภาคเอกชน เถ้าแก่ใช้บริการระบบเงินเดือนของธนาคาร ธนาคารก็สามารถเช็กได้ พนักงานในบริษัทยังอยู่ครบ เงินไม่สูญ

 

อย่างการอัดฉีดเงินเข้าไปที่เอสเอ็มอี เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินจะลงไปถึงพนักงานที่อยู่ระดับต่ำสุดหรือเขาเอาเงินไปทำอย่างอื่น แบบนั้นพนักงานก็ตายอยู่ดี

 

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย

 

ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ต้องเกิดจากความร่วมมือและรัฐบาลต้องฟัง!

ผมผ่านมาทั้งวิกฤตปี 2540 เจอการ Distruption ตอนนี้มาเจอโรค ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่หนักหนา เพราะเสียหายจริง แต่อย่างน้อยยังมีข้ออ้างอิงในอดีต และเรียนรู้จากความพลาดในอดีต เช่น เงินที่จะใช้แก้ปัญหาหล่นหายระหว่างทาง อันนี้ต้องแก้ให้ได้ มิฉะนั้นจะสูญเปล่า 

 

และในวิกฤตแบบนี้ต้องตั้งโจทย์ให้ชัด มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนเพื่อให้คนสามารถเดินไปด้วยกันได้ แบ่งหน้าที่กันให้ชัด สื่อความให้ดี มิฉะนั้นคนอาจจะทะเลาะกันเอง ไม่ว่าวิกฤตไหนก็ต้องใช้วิธีนี้ด้วยกันทั้งนั้น

 

สำคัญคือต้องฟัง ท่านมีอำนาจอะไรก็ตาม ท่านต้องฟัง เพราะท่านไม่ได้รู้คนเดียวทั้งหมด การฟังคนโน้นคนนี้จะได้ภาพที่กว้างขึ้น แล้วท่านก็ไปตัดสินใจ การไม่ฟังคือการที่ท่านไม่ฉลาด ต้องฟังให้รอบด้านเพื่อประกอบการคิด

 

ขณะเดียวกันวิกฤตนี้กลายเป็นโจทย์ที่ต้องร่วมมือกันจัดการ ถ้ารัฐเข้าใจประเด็นนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์เข้าใจประเด็นนี้ ก็จะสามารถร่วมมือกันจัดการให้มันเกิดขึ้น 

 

ไม่ใช่ว่าอัดเงินเข้าไปแล้วพูดว่าอัดเงินเข้าไปแล้ว อัดให้ใครไม่รู้ มันพูดง่ายว่าอัดเงินเข้าไป แต่ว่ามันถึงหรือเปล่า ใครจะพิสูจน์ให้ดูได้ เพราะเงินนี้ในที่สุดก็เป็นเงินภาษีประชาชนในอนาคตทั้งนั้น

 

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย

 

ฟื้นตัวจากวิกฤต: เพิ่มองค์ความรู้ใหม่ พักผ่อนทั้งร่างกายและสมอง

หลังวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยจะเปลี่ยนไป แต่คนจะเริ่มเรียนรู้ว่าอะไรๆ ก็ไม่แน่นอน อะไรที่เติบโตเฟื่องฟูเพียงข้ามคืนก็อาจจะหายไปได้ ต้องเข้าใจความเปราะบางที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจตอนนี้ 

 

ขณะเดียวกันการฟื้นตัวหลังวิกฤตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแข่งขันสูงขึ้น ดังนั้นต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อทำให้ธุรกิจก้าวหน้ามากกว่าเดิม การหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ต้องเกิดขึ้นและใช้ได้จริง เหมือนทุกวันนี้มีการวิจัยออกมาใช้ได้จริง ไม่ใช่แค่การทำวิจัยเพื่อเลื่อนขั้นเท่านั้น

 

สุดท้ายแล้วจะเครียดจากวิกฤตก็ต้องบริหารจิตของตนเองให้แน่ใจว่าฉันยังมีเวลาที่จะพักทั้งร่างกายและสมอง ถ้าต้องทำงานทั้ง 24 ชั่วโมง สักพักผู้นำอย่างนี้ต้องตาย เพราะอยู่ไม่ถึงจนวิกฤตจบก็ตายก่อน เพราะฉะนั้นต้องรักษาสมดุลของชีวิต ต้องทำเต็มที่ ตื่นเช้ามาทำเต็มที่ ก่อนนอนจะได้สบายใจว่าวันนี้ฉันทำเต็มที่ของฉันแล้ว 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X