×

ยกเลิกล็อกดาวน์ควรทำตอนไหน และยกเลิกอย่างไรให้โควิด-19 ไม่กลับมาระบาดซ้ำ

โดย SCB WEALTH
16.04.2020
  • LOADING...

หลังจากทั่วโลกเริ่มใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยใช้วิธีการล็อกดาวน์เมืองหรือกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มต้นกันในช่วงเดือนมีนาคมมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามาตรการนี้ได้สร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก 

 

ล่าสุด IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2020 นี้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (-3% จากปี 2019) ถึงขั้นรุนแรงสุดนับตั้งแต่ยุค Great Depression ในช่วงปี 1930 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง โดยเรียกวิกฤติรอบนี้ว่าเป็นยุค ‘Great Lockdown’

 

สำหรับในระยะสั้น ผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกกำลังกระทบกับภาคธุรกิจและประชาชนที่ไม่มีงานและรายได้ อันเนื่องมาจากกิจการถูกสั่งให้หยุดดำเนินการอย่างรุนแรงมาก มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นมาก แม้รัฐบาลทั่วโลกกำลังออกมาตรการเพื่อช่วยลดผลกระทบ แต่ก็คงไม่สามารถทำได้นาน เนื่องจาก ข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ

 

ทั้งนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนมีนาคมที่เพิ่งเปิดเผยออกมา สะท้อนให้เห็นภาพว่าผลกระทบของการล็อกดาวน์แย่กว่าคาด เช่น ตัวเลขค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือนมีนาคมลดลงจากเดือนก่อนหน้าในระดับต่ำสุด ย้อนไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย ล่าสุดพบว่าตัวเลขการใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเดือนมีนาคมลดลงถึง 45% YoY เป็นต้น

 

 

 

จากผลกระทบที่รุนแรงมากข้างต้นส่งผลให้หลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยเริ่มพิจารณาหาแนวทางในการยกเลิกล็อกดาวน์ว่าควรจะทำได้เมื่อไร และทำอย่างไรจึงจะให้มั่นใจได้ว่าการแพร่ระบาดรอบใหม่จะไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งถือว่าโชคดีที่เรามีตัวอย่างของประเทศจีนที่เริ่มยกเลิกล็อกดาวน์แล้วมาใช้เป็นกรณีศึกษา

 

ภาพรวมของประเทศที่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์

การล็อกดาวน์ได้เริ่มต้นจากประเทศจีนประกาศตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม (และเป็นประเทศแรกที่ยกเลิกล็อกดาวน์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน) ตามมาด้วยกลุ่มประเทศในยุโรป เริ่มจาก 

  • ประเทศอิตาลี เริ่มให้คนอยู่บ้านวันที่ 9 มีนาคม 
  • ประเทศสเปน ที่ออกมาตรการตามอิตาลี วันที่ 14 มีนาคม ถึง 26 เมษายน
  • ประเทศฝรั่งเศส เริ่มวันที่ 16 มีนาคม ถึง 11 พฤษภาคม 
  • ประเทศอังกฤษ เริ่มต้นประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 23 มีนาคม 
  • ประเทศเยอรมนี เริ่มวันที่ 2 เมษายน สิ้นสุดวันที่ 19 เมษายน และ 
  • ประเทศรัสเซีย ประกาศให้คนอยู่บ้านวันที่ 30 มีนาคม

 

ด้านสหรัฐฯ ซึ่งกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลก เริ่มประกาศภาวะฉุกเฉินวันที่ 13 มีนาคม โดยเมืองนิวยอร์กเริ่มล็อกดาวน์วันที่ 22 มีนาคม ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเตรียมเปิดเผยแนวทางการยกเลิกล็อกดาวน์หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัว คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้

 

สำหรับประเทศอื่นๆ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลางประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม โดย

  • เมืองดูไบประกาศล็อกดาวน์วันที่ 4 เมษายน 
  • ประเทศซาอุดีอาระเบียเริ่มต้นบางเมืองวันที่ 25 มีนาคม ก่อนปิดหมดวันที่ 6 เมษายน

 

กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ เช่น 

  • ประเทศอาร์เจนตินา เริ่มประกาศวันที่ 21 มีนาคม ถึง 26 เมษายน ซึ่งเลื่อนการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นจากเดิม 
  • ประเทศโคลัมเบีย เริ่มประกาศวันที่ 24 มีนาคม และได้ขยายเวลาไปถึง 27 เมษายน
  • ประเทศออสเตรเลีย เริ่มบังคับจริงจังวันที่ 30 มีนาคม 
  • ประเทศนิวซีแลนด์ เริ่มประกาศวันที่ 25 มีนาคม 
  • ประเทศแอฟริกาใต้ ประกาศวันที่ 26 มีนาคม โดยได้ขยายเวลาไปถึงสิ้นเดือน เมษายน

 

ทางฝั่งประเทศเอเชีย 

  • ประเทศอินเดีย เริ่มประกาศวันที่ 24 มีนาคม และเลื่อนยกเลิกไปถึง 3 พฤษภาคม

 

สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน 

  • ประเทศมาเลเซีย เริ่มประกาศวันที่ 16 มีนาคม สิ้นสุด 28 เมษายน
  • ประเทศสิงคโปร์ที่เริ่มมีการระบาดรอบใหม่เพิ่งประกาศวันที่ 7 เมษายน
  • ประเทศไทยเองมีการประกาศปิดร้านค้า ยกเว้นอาหาร ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม และประกาศใช้เคอร์ฟิววันที่ 3 เมษายน ล่าสุดก็มีแนวคิดที่จะยกเลิกการล็อกดาวน์บางส่วน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน

 

เมื่อไรเหมาะสมที่จะยกเลิกการล็อกดาวน์

สำหรับการยกเลิกล็อกดาวน์นั้น ควรพิจารณาจาก 3 เกณฑ์

  1. จำนวนผู้ติดเชื้อผ่านช่วงเลวร้ายที่สุดหรือยัง โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เคยสูงสุด และจำนวนผู้ที่ป่วยจริงเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรวม
  2. ความพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อเพียงพอหรือไม่ โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ป่วยใหม่สุทธิรายวัน (ผู้ที่หายป่วยรายวันหักผู้ป่วยใหม่รายวัน)
  3. ทรัพยากรการแพทย์เพียงพอหรือไม่ เช่น จำนวนเตียงต่อประชากร และ จำนวนแพทย์ต่อประชากร เพียงพอที่จะรับมือกับการระบาดในระยะต่อไปหรือไม่

 

ทั้งนี้ จากทั้ง 3 เกณฑ์นั้น ถือว่าเกณฑ์ที่ 1 และ 2 เป็นการประเมินโอกาสในการยกเลิกล็อกดาวน์แบบไม่ 100% เพียงแต่เป็นการประเมินความพร้อมในการรับมือโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลสถิติที่ผ่านมาประกอบการพิจารณาเท่านั้น ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มียารักษาหรือป้องกัน ความเสี่ยงที่การล็อกดาวน์จะกลับมาอีกก็จะยังไม่หมดไป 

 

ในขณะที่การจะยกเลิกล็อกดาวน์แบบสมบูรณ์ในระยะยาว ต้องคำนึงถึงเกณฑ์ที่ 3 ประกอบ เพราะถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 โดยใช้การแพทย์และสาธารณสุข ไม่ใช่การใช้ภาคเศรษฐกิจโดยการล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์จึงเปรียบเสมือนการซื้อเวลา เพื่อให้มีการลงทุนในทรัพยากรการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น รวมถึงการค้นคว้าหายารักษา เพื่อให้สามารถรองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นเป็นปกติเหมือนกันโรคอื่นๆ โดยไม่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจมากเกินไป

 

จากการศึกษาของ SCBS ล่าสุด พบว่ามีบางประเทศเริ่มมีโอกาส เช่น จีน เยอรมนี ไทย และอิหร่าน ที่เข้าเกณฑ์ที่ 1 และ 2 โดยฝรั่งเศสและสเปนอาจเป็นลำดับถัดไป หลังจากเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่ประเทศดังกล่าวจะเริ่มพิจารณาการยกเลิกล็อกดาวน์บางส่วนในเดือนพฤษภาคมนี้

 

และส่วนที่ถือว่ามีความพร้อมในเรื่องทรัพยากรการแพทย์ คือ ยุโรป และญี่ปุ่น ตามด้วยสหรัฐฯ ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ประเทศดังกล่าวอาจจะสามารถยกเลิกการล็อกดาวน์ หรือการกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าประเทศอื่น หลังจากที่อาจจะเริ่มต้นรับมือได้ไม่ดีนัก ทำให้จำนวนผู้ป่วยพุ่งขึ้นเร็วเกินกว่าจะรับมือได้ทันในระยะสั้น แต่หากหลังจากนี้เริ่มสามารถควบคุมระดับของผู้ป่วยใหม่ได้ดีขึ้น ก็จะทำให้มีโอกาสกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น 

 

ทั้งนี้ แม้กระทั่งประเทศจีนเอง ก็ยังถือว่าไม่มีความพร้อมในด้านทรัพยากรทางการแพทย์ ทั้งจำนวนแพทย์และจำนวนเตียง ดังจะเห็นได้จากที่บุคลากรทางการแพทย์ของจีนที่ต้องทำงานหนักมากในช่วงที่มีการระบาดเกิดขึ้นรวดเร็ว รวมถึงต้องมีการสร้างโรงพยาบาลภาคสนามเพื่อมารองรับผู้ป่วยถึงจะสามารถควบคุมการระบาดได้ จากบทเรียนดังกล่าว ส่งผลให้จีนมีแผนที่จะลงทุนในภาคการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงเทคโนโลยีด้านการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีการคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า

 

ยกเลิกล็อกดาวน์อย่างไรไม่เสี่ยง

SCBS เห็นว่าการยกเลิกการล็อกดาวน์มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน รวมถึงภาระงบประมาณและหนี้ของภาครัฐบาลที่กำลังเพิ่มขึ้น ยิ่งการล็อกดาวน์ดำเนินไปนานแค่ไหนก็จะยิ่งสร้างผลกระทบต่ออัตราการชะลอตัวของเศรษฐกิจให้ลึกลงไปมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อกลับไปที่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น

 

ทั้งนี้ SCBS คิดว่าการยกเลิกล็อกดาวน์ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยดูอัตราการกลับมาแพร่ระบาดว่ายังคงเข้าเกณฑ์ที่ 1 และ 2 หรือไม่ หากเข้าเกณฑ์ก็สามารถทยอยปลดล็อกไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นสัญญาณว่าจะรับมือไม่ได้แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการกลับไปล็อกดาวน์รอบใหม่

 

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเปลี่ยนพฤติกรรมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอยู่ในระดับที่การแพทย์รับมือได้ เช่น การทำ Social Distancing ยังจำเป็นต่อไป การรักษาสุขอนามัยทั้งส่วนรวมและส่วนบุคคล และที่สำคัญที่สุด คือการสร้างฐานข้อมูลของประชาชนเกี่ยวกับโอกาสที่จะติดเชื้อ เพื่อให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากขึ้น เป็นต้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X