×

ถอดบทเรียนโลกการทำงานจากรัชกาลที่ 9 (ตอนที่ 1)

18.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • พระองค์ไม่ทรงคิดวิธีการแก้ไขปัญหาจากการทรงงานในห้องสี่เหลี่ยม แต่ทรงใช้วิธีการออกไปทอดพระเนตรให้เห็นถึงสถานที่มีความลำบาก ทรงย่างพระบาทไปให้ถึง ทอดพระเนตรให้เห็น และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนอย่างใกล้ชิด ทรงทำทุกวิถีทางที่จะเข้าใจปัญหาของประชาชนจนมองเห็นปัญหาที่แท้จริง และตกผลึกกลายเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้สำเร็จ
  • ทรงเป็นตัวอย่างของคนที่เปี่ยมด้วยเมตตา เห็นแก่ทุกข์สุขของคนรอบตัวเป็นความสำคัญโดยไม่เลือกฝ่าย เห็นคนเป็นคน เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่เคยคิดร้ายกับคนอื่น แม้กระทั่งกับคนที่อาจจะมีความแตกต่างกับเรา
  • ในการทำงาน เราควรให้ความเมตตากับทุกคน ไม่แบ่งแยกใครจากความแตกต่าง ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยิ่งมีการแบ่งฝ่ายกัน หรือมีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน ก็จะนำไปสู่ปัญหา เราต้องเมตตากับทุกคน ไม่มองว่าใครเป็นศัตรูหรือต้อยต่ำกว่า แต่มองให้เห็นว่าทุกข์ของเขาคืออะไร และมีอะไรที่เราจะช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้บ้าง

     ถอดบทเรียนในโลกของการทำงานในคราวนี้ ผมขอถอดบทเรียนจากคนทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตที่ผมเคยได้เห็นมา บุคคลที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งชีวิต เป็นถึง CEO ขององค์กรใหญ่ระดับประเทศแต่กลับไม่มีวันหยุด ไม่มีโบนัส แต่อุทิศชีวิตเพื่องานที่ตัวเองรัก และทำงานที่รักนั้นให้เกิดประโยชน์สุขกับคนทั้งประเทศ

     ใช่ครับ บุคคลที่ผมกำลังกล่าวถึงอยู่คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชของพวกเราปวงชนชาวไทยนี่แหละครับ  

     เรื่องราวของพระองค์นี้มีให้เล่าไม่รู้จบ ในมุมของการทำงานก็เช่นกันครับ พระองค์ทรงอุทิศตนเป็นตัวอย่าง เป็นผู้มอบบทเรียนในโลกของการทำงานให้เราได้ศึกษาและนำเอาไปใช้ได้เป็นอย่างดี และผมเชื่อเหลือเกินว่า บทเรียนจากการได้เห็นการทรงงานของพระองค์มาตลอดชีวิต จะเป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจสำคัญให้เราอยากเป็นมนุษย์ทำงานที่ดีขึ้น

     และนี่คือการถอดบทเรียนโลกการทำงานจากรัชกาลที่ 9 ครับ

หรือเมื่อมีปัญหาในการทำงาน เราเคยได้เข้าไปขลุกกับมันเพื่อทำความเข้าใจปัญหาจริงๆ หรือเปล่า เหมือนอย่างที่พระองค์ใช้การเข้าไปอยู่กับประชาชนด้วยพระองค์เอง เพื่อหาทางเข้าใจปัญหาแทนที่จะทรงรอรับรายงานแต่ฝ่ายเดียว

1. เอาตัวเข้าไปขลุกกับปัญหาจนเข้าใจและได้วิธีการแก้ปัญหา

     แผ่นดินทุกตารางนิ้วของประเทศไทยคือห้องทรงงานของรัชกาลที่ 9 ทั้งหมด พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จะอยู่อย่างสุขสบายในวังก็ทรงทำได้ ไม่ต้องลำบากเลยทั้งชีวิตก็ยังได้ แต่พระองค์เลือกที่จะทรงงานหนักเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

     ข้อสังเกตก็คือ พระองค์ไม่ทรงคิดวิธีการแก้ไขปัญหาออกมาจากการทรงงานในห้องสี่เหลี่ยม แต่พระองค์ทรงใช้วิธีการออกไปทอดพระเนตรให้เห็นถึงสถานที่มีความลำบาก พระองค์ทรงมีแผนที่ แต่ก็ไม่ทรงเชื่อแผนที่แต่อย่างเดียว ทรงใช้การถามประชาชนในท้องถิ่นเพื่อปรับแผนที่ให้ถูกต้องตามจริง ผมเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริขึ้นมานั้นเกิดจากการที่พระองค์ทรงย่างพระบาทไปให้ถึง ทอดพระเนตรให้เห็น และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนอย่างใกล้ชิด ทรงทำทุกวิถีทางที่จะเข้าใจปัญหาของประชาชนจนมองเห็นปัญหาที่แท้จริง และตกผลึกกลายเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้สำเร็จ

     ในโลกของการทำงาน หลายครั้งด้วยความเร่งรีบและความง่าย เราก็อาจจะใช้วิธีการหาข้อมูลทุกอย่างมาจากอินเทอร์เน็ต ใช้วิธีการนั่งในห้องสี่เหลี่ยมแล้วก็คิดทึกทักเอาเองว่าโลกมันต้องเป็นแบบนั้น เราจะต้องทำแบบนี้ หรือไม่ก็เชื่อทุกอย่างจากรายงานที่คนอื่นเอามาบอก แต่การออกจากห้องสี่เหลี่ยมไปดูโลกบ้าง การเรียนรู้โลกภายนอกที่ไม่เพียงอยู่แค่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ การได้สัมผัสประสบการณ์ชีวิตจริงๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ดูจากสิ่งที่คนอื่นบอกมา สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น มีไอเดียใหม่ๆ มาเป็นต้นทุนในการทำงาน

     หรือเมื่อมีปัญหาในการทำงาน เราเคยได้เข้าไปขลุกกับมันเพื่อทำความเข้าใจปัญหาจริงๆ หรือเปล่า เหมือนอย่างที่พระองค์ใช้การเข้าไปอยู่กับประชาชนด้วยพระองค์เอง เพื่อหาทางเข้าใจปัญหาแทนที่จะทรงรอรับรายงานแต่ฝ่ายเดียว   

     เราอัพเดตความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดโดยไม่เชื่อว่าสิ่งที่มีอยู่จะต้องเป็นแบบนั้นตลอดไปหรือเปล่า เหมือนอย่างที่พระองค์ทรงมีแผนที่อยู่แล้ว แต่ก็ใช้การถามประชาชนในท้องถิ่นเพื่อทำให้แผนที่นั้นมีความถูกต้องมากขึ้น หรือบันทึกสถานที่ใหม่ๆ ที่แผนที่ไม่เคยมีมาก่อนได้

     เรียนรู้จากการลงมือทำ ถามให้มาก ฟังให้เยอะ เอาตัวเองไปอยู่กับปัญหาหรือความรู้ให้มากพอจนเห็นปัญหาและตกผลึกเป็นการแก้ไข

 

2. คนที่ยิ่งใหญ่คือคนที่ทำตัวให้เล็กและเรียบง่ายที่สุด

     ภาพที่ผมประทับใจต่อรัชกาลที่ 9 อยู่เสมอคือ ภาพเวลาที่พระองค์ทรงอยู่กับประชาชน เราจะเห็นว่าพระองค์ทรงประทับลงกับพื้นอย่างใกล้ชิดกับพสกนิกรให้มากที่สุด ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง พระองค์ทรงทราบว่าประชาชนอยากเข้าเฝ้าพระองค์และตั้งใจมารอกันทุกคน เพราะฉะนั้น พระองค์จะทรงใช้เวลากับประชาชนให้มากที่สุด พระเนตรที่มองประชาชนนั้นเราสัมผัสได้ถึงความห่วงใยพสกนิกรอย่างแท้จริง หนทางจะลำบากแค่ไหน พระองค์ก็ทรงเสด็จไปถึง ผมรู้สึกว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน แต่ทรงเข้าถึงประชาชนอย่างใกล้ชิด เราเป็นประชาชนแต่กลับไม่รู้สึกเลยว่าพระองค์อยู่ไกลเกินเอื้อม ยิ่งได้เห็นวิธีการที่พระองค์ทรงงาน วิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อพสกนิกร การที่พระองค์ให้เกียรติข้าราชบริพารที่ถวายงาน ผมยิ่งประทับใจและจดจำเป็นบทเรียน

     ผมรู้สึกว่าตำแหน่งที่พระองค์อยู่นั้นง่ายมากที่จะทำให้ทุกคนกลัวเกรง เข้าไม่ถึง หรือรู้สึกว่าตัวเราเล็กจนใครคงมองไม่เห็น แต่เป็นพระองค์ต่างหากที่เข้าหาประชาชนก่อนด้วยความรัก และทำให้เรารู้สึกว่านี่แหละคือคนที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง ความนอบน้อมนี้เองที่ทำให้คนยิ่งใหญ่ ผมคิดว่าต่อให้เราไม่เคยรู้เลยว่าพระองค์เป็นใคร แต่ถ้าได้มาเห็นวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติ เราก็รู้สึกได้ทันทีว่าคนคนนี้คือคนที่ยิ่งใหญ่ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนถึงรักพระองค์

     ในโลกการทำงาน ยิ่งองค์กรใหญ่โต เชื่อไหมครับว่าคนยิ่งห่างเหินกัน บางทียิ่งตำแหน่งสูงยิ่งห่างเหินกับพนักงาน พนักงานรู้สึกไม่ใกล้ชิด รู้ว่าใครคือเจ้าของบริษัทแต่ไม่เคยรู้อะไรมากกว่านั้น ไม่เคยคุยด้วย บางบริษัทนี่เจ้าของเดินมาทีพนักงานหลบกันหมดเพราะกลัวและเกร็ง เดินมาแล้วมีรังสีอำมหิต คนตำแหน่งใหญ่โตบางคนเองก็ปฏิบัติต่อคนทำงานเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ไม่ให้เกียรติกัน ต้องโชว์พาวเดี๋ยวคนจะไม่รู้ว่ามีอำนาจ ใช้คำต่างๆ มากรีดเชือดเฉือน หรือมีอภินิหารแฟ้มบินได้ ปัดของบนโต๊ะลงพื้นโครม! เล่นใหญ่ทำได้หมด แบบนี้ใครจะอยากทำงานด้วย

     ขึ้นชื่อว่าหัวหน้าหรือเจ้าของบริษัทนี่คนเป็นลูกน้องกลัวกันอยู่แล้วครับ แต่เราจะให้เขาอยู่กับเราเพราะความกลัวหรือความรัก ก็อยู่ที่ว่าเราจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร เวลาเขายกมือไหว้เรา เราอยากให้เขาไหว้ด้วยความจำใจ หรือเขาไหว้ด้วยความเคารพศรัทธาจากใจ เช่นเดียวกัน เวลาเขาทำงานให้เรา เราอยากให้เขาทำงานด้วยความกลัว หรือทำด้วยความรัก ความรู้สึกทุ่มเทเพราะได้ความเชื่อมั่นจากตัวเรา  

     บางทีเจ้าของบริษัทหรือคนตำแหน่งใหญ่โตก็อาจจะคิดไปว่า e-letter ที่เจ้าของบริษัทส่งหาพนักงานทุกคนนั้นจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้พนักงานรู้สึกใกล้ชิดกับเจ้าของ เอาจริงๆ เทคโนโลยีบางอย่างมันขาด human touch นะครับ ผมคิดว่าอะไรเล็กๆ น้อยๆ มันช่วยเติมกำลังใจและทำให้คนทำงานใกล้ชิดกับเราได้เสมอ เช่น การพูดคุยทักทาย การจำชื่อได้ การถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ การจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของแต่ละคนได้ ไปจนถึงการมีน้ำใจให้พนักงาน เชื่อเถอะครับว่า ทำแล้วพนักงานจะชื่นใจและรักคุณมาก

     ผมคิดว่าถ้ามีโอกาสหรือเป็นไปได้ เจ้าของบริษัทน่าจะได้มีโอกาสคุยกับพนักงานทุกคนนะครับ มันใกล้ชิดและจริงใจกว่าการส่งเป็นข้อความอีก e-letter ควรมีครับ แต่อย่าให้มันเป็นช่องทางเดียวในการเชื่อมคุณกับพนักงานไว้ด้วยกัน อย่าลืมนะครับว่าพนักงานเหล่านี้คือคนที่ทำงานให้คุณ เขาทำให้องค์กรของคุณขับเคลื่อนไปได้ เจ้าของบริษัทคนเดียวทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้น ยิ่งต้องทำให้พนักงานรักและศรัทธาคุณ

     การทำตัวให้สูงส่งที่สุดก็คือการอยู่อย่างไรให้เท้ายังคงอยู่ติดดินนี่แหละครับ

เราจะเห็นได้ว่า ทุกสิ่งที่พระองค์มีพระราชดำรัสนำเสนอแนวคิดที่จะเป็นประโยชน์กับคนไทยล้วนเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงลงมือทำเป็นแบบอย่างด้วยพระองค์เองมาตลอด ทำให้คนไทยรักและศรัทธาพระองค์ที่สุดในหัวใจ

3. ทำดีโดยไม่แบ่งแยก

     ตอนหนึ่งในการพระราชทานสัมภาษณ์ให้นักข่าวต่างประเทศระหว่างเสด็จไปเยี่ยมเยือนประชาชน ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่แนวคิดคอมมิวนิสต์ยังมีอยู่ในประเทศไทย และถูกมองว่าเป็นศัตรูของประเทศ นักข่าวถามพระองค์ว่าการสร้างเขื่อนนี้เพื่อเป็นการเอาชนะคอมมิวนิสต์หรือไม่ พระองค์ทรงตรัสว่า “เราเอาชนะความอดอยากหิวโหย นี่คือสิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ต่อสู้กับประชาชน เราต่อสู้กับความอดอยาก เราปรารถนาให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น ถ้าประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ฝ่ายที่ท่านเรียกว่าคอมมิวนิสต์ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ทุกคนก็จะมีความสุขทั้งหมด”

     ว่ากันตามตรง คำตอบของพระองค์ทำให้ผมขนลุก เพราะมันง่ายมากที่มนุษย์จะตัดสินใครจากความแตกต่าง ทำให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรา ทำให้คนอยากจะดีกับเฉพาะคนที่เป็นพวกเรา และบางครั้งอาจจะอยากทำลายคนที่ไม่เป็นพวกเราด้วยซ้ำ ยิ่งมองในบริบททางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นที่มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง มีการประชาสัมพันธ์ว่าคอมมิวนิสต์คือภัยต่อความมั่นคงของประเทศ มีความบิดเบี้ยวทางตรรกะศีลธรรมถึงขนาดที่ว่ามีพระออกมาบอกว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” แต่สิ่งที่พระองค์มองเห็นนั้น พระองค์มองเห็นประชาชนคือประชาชน ไม่ว่าเขาจะมีความคิดอย่างไร พระองค์ไม่เคยมองว่ากำลังต่อสู้กับศัตรู แต่กำลังต่อสู้กับความอดอยาก และทรงเชื่อว่า ถ้าพระองค์ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้แล้ว ไม่ว่าใครก็ได้รับประโยชน์หมด ทุกคนจะมีความสุขกันหมด

     และถ้าเราลองดูสิ่งที่พระองค์ทรงทำตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ เราจะเห็นว่าพระองค์ทรงช่วยเหลือประชาชนโดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ ศาสนา ลำบากแค่ไหนพระองค์ก็ทรงเสด็จไปช่วยเหลือ แม้กระทั่งประชาชนที่เป็นโรคเรื้อนที่แม้แต่หมอเองก็ยังกลัว โดนสังคมในยุคนั้นรังเกียจอีก แต่พระองค์ทรงใช้พระหัตถ์สัมผัสผู้ป่วยอย่างเมตตา มิได้รังเกียจแต่อย่างใด กลับรู้สึกเห็นพระทัยและนำไปสู่การพัฒนาโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนอย่างเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ ทรงอ่านฎีกาทุกฉบับที่ประชาชนถวายด้วยพระองค์เองเพื่อหาทางช่วยเหลือประชาชน ทรงไม่เคยมองข้ามประชาชนแม้เพียงคนเดียว

     สิ่งนี้เป็นตัวอย่างของคนที่มีความเมตตา เห็นแก่ทุกข์สุขของคนรอบตัวเป็นสำคัญโดยไม่เลือกฝ่าย เห็นคนเป็นคน เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่เคยคิดร้ายกับคนอื่น แม้กระทั่งกับคนที่อาจจะมีความต่างกับเรา

     ในการทำงาน เราควรให้ความเมตตากับทุกคน ไม่แบ่งแยกใครจากความแตกต่าง ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก โดยเฉพาะคนเป็นหัวหน้า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะยิ่งมีการแบ่งฝ่ายกัน หรือมีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน ก็จะนำไปสู่ปัญหา การรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการหรือไม่มีใครมองเห็นเป็นความเจ็บปวดเรื้อรัง บางคนอาจไม่พูด แต่ไม่ได้แปลว่าไม่รู้สึก เราจึงยิ่งต้องเมตตากับทุกคน ไม่มองว่าใครเป็นศัตรูหรือมองใครต้อยต่ำกว่า แต่มองให้เห็นว่าทุกข์ของเขาคืออะไร และมีอะไรที่เราจะช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้บ้าง มีความเมตตามากพอที่จะไม่รังเกียจคนอื่นหรือตีตราว่าใครเป็นศัตรู

     ทีนี้คนอาจจะสงสัยว่า แล้วถ้าคนที่คิดไม่ดีกับองค์กรของเราล่ะ คนไม่สุจริตบ้างล่ะ เราจะเมตตาคนเหล่านี้ได้ลงคออย่างไร ถ้ามองกลับไปยังสิ่งที่พระองค์ทรงทำ พระองค์เคยมีพระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2512 ว่า “ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่เป็นการส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” จะเห็นได้ว่า หน้าที่ขององค์กรคือส่งเสริมคนที่ดีให้ได้รับความเจริญก้าวหน้าสมกับที่เขาทำดี ในขณะเดียวกัน องค์กรก็ควรต้องมีโครงสร้างระบบหรือวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ส่งเสริมคนที่ไม่ดีให้ทำสิ่งไม่ดีได้ เช่น มีระบบคัดกรองที่เข้มข้น มีกระบวนการตรวจสอบและพิจารณาลงโทษอย่างเป็นธรรม มีวิธีป้องกัน ตรวจสอบ และปรับปรุงที่ทำให้ที่สุดแล้วคนไม่ดีก็สามารถพัฒนาตัวขึ้นมาใหม่ได้ หรือไม่ก็ไม่สามารถอยู่ในองค์กรได้

     ความเมตตาต่อคนที่คิดไม่ดีกับองค์กรในที่นี้จึงเป็นการเมตตาโดยไม่เปิดโอกาสให้เขาทำไม่ดีได้ เพราะถ้าเรามีช่องโหว่หรือเปิดโอกาส เขาก็จะกลายเป็นคนไม่ดีขึ้นมาได้ แต่ถ้าเรามีวิธีป้องกันอย่างดี มีวิธีตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ มีตัวอย่างของคนที่ทำดีแล้วได้ดี และมีตัวอย่างบทเรียนของคนที่ทำไม่ดีแล้วเป็นอย่างไรให้เห็น ไปจนถึงมีกระบวนการพัฒนาจิตใจให้คนในองค์กรไปด้วย คนที่เคยเป็นคนไม่ดีก็จะไม่มีโอกาสได้เป็นคนไม่ดี หรืออาจจะมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนดีขึ้นมาได้ เพราะเราทำให้สภาพแวดล้อมทุกอย่างเอื้อต่อการบ่มเพาะความดีในตัวเขาขึ้นมาได้ นี่ก็เป็นความเมตตาอีกรูปแบบหนึ่งที่สุดท้ายแล้วจะเกิดประโยชน์กับทุกคนในองค์กรของเรา ไม่ว่าเขาจะเริ่มต้นมาจากการเป็นคนดีหรือไม่ดีก็ตาม

 

4. คำสอนที่ดีที่สุดคือคำสอนจากการลงมือทำให้ดูตลอดชีวิต

     ตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 เราได้เห็นคำสอนมากมายจาก ‘พ่อ’ ที่สอน ‘ลูก’ ทั้งคำสอนที่เป็นคำพูดและคำสอนที่มาจากการลงมือทำเป็นแบบอย่างให้เราได้เรียนรู้

     เมื่อทรงเผยแพร่แนวคิดปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ เราจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงดำเนินชีวิตด้วยหลักความพอเพียงมาโดยตลอด ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สามารถมีชีวิตที่หรูหราเพียงใดก็ได้แต่กลับทรงเลือกมีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ อย่างที่เราได้ทราบกันมาตลอดว่า พระองค์ทรงใช้ของทุกชิ้นอย่างรู้คุณค่า ไม่ฟุ่มเฟือย

     เราคงจำเรื่องราวของยาสีพระทนต์ที่ทรงนำแปรงสีพระทนต์มารีดที่หลอดจนใช้ยาสีพระทนต์หมดหลอดด้วยความรู้คุณค่าของสิ่งที่ใช้ หรือเรื่องเล่าจาก ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ที่เคยเล่าว่า เมื่อครั้งตามเสด็จไปทรงงานที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยข้าราชการหลายคนได้กลับมาจากการทำภารกิจ  และเข้ามาในโรงครัวซึ่งมีเหลือเพียงข้าวผัดแห้งๆ ติดก้นกระทะเย็นชืด แต่มีข้าวผัดอยู่หนึ่งจานถูกวางอยู่และมีคนจะมาหยิบไปกิน ทันใดนั้นก็มีเสียงตะโกนบอกว่า จานนั้นเป็นของพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก พระองค์เป็นถึงพระมหากษัตริย์ จะทรงรับสั่งให้ทำถวายใหม่เท่าใดก็ได้ แต่ทรงรับสั่งแค่ให้ตักเพียงข้าวผัดติดก้นกระทะหนึ่งจานเหมือนอย่างที่ข้าราชการทุกคนรับประทาน ฯลฯ เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่กลายเป็นแรงบันดาลใจของประชาชนให้รู้จักคุณค่าของทุกสิ่งที่เราใช้

     เราจะเห็นได้ว่า ทุกสิ่งที่พระองค์มีพระราชดำรัสนำเสนอแนวคิดที่จะเป็นประโยชน์กับคนไทยล้วนเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงลงมือทำเป็นแบบอย่างด้วยพระองค์เองมาตลอด ทำให้คนไทยรักและศรัทธาพระองค์ที่สุดในหัวใจ

     ในโลกการทำงานของเรา หัวหน้าที่คนให้ความศรัทธานับถือด้วยหัวใจมักเป็นหัวหน้าที่ทำในสิ่งที่เขาพูด ทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่าง แต่หัวหน้าที่ดีแต่พูดหรือพร่ำสอนในสิ่งที่แม้แต่ตัวเองก็ทำไม่ได้ จะไม่มีทางได้รับความศรัทธาจากหัวใจของคนในองค์กรได้ คำพูดของหัวหน้าจะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่การกระทำของหัวหน้าว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกับคำพูดหรือสวนทางกับคำพูดตัวเอง การที่หัวหน้าลงมือทำด้วยตัวเองมาก่อน จะทำให้เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีหรือไม่ดีและจะสามารถนำไปถ่ายทอดให้ลูกน้องในองค์กรได้ ทำให้หัวหน้าเป็นคนที่รู้จริงและลงมือทำจริง เมื่อมาสอนหรือแนะนำคนอื่น คนก็จะเชื่อถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะแม้แต่หัวหน้าเองก็ยังทำได้

     ที่สำคัญ การลงมือทำให้ดูเป็นตัวอย่างมีพลังมากกว่าคำพูด บางครั้งไม่จำเป็นต้องสอนเป็นคำพูดออกมา แต่เราทำให้เห็นเป็นตัวอย่างจนคนรอบข้างเรียนรู้ได้ว่านี่คือสิ่งที่ดี หรือเห็นผลจากการที่เราลงมือทำแล้วการทำงานดีขึ้นอย่างไรบ้าง ก็จะยึดวิธีการทำงานแบบที่เราทำเป็นแนวทางที่ดีที่ควรทำตามได้เอง

     หัวใจสำคัญของการเป็นตัวอย่างที่ดีคือความสม่ำเสมอ เราจะเห็นได้ว่า ความพอเพียงที่พระองค์ทรงดำรินั้น พระองค์ทรงดำเนินชีวิตเช่นนั้นมาตลอดพระชนม์ชีพ ความสม่ำเสมอนี้ทำให้คนศรัทธาในพระองค์ หัวหน้าในองค์กรก็เหมือนกันครับ เวลาเราออกนโยบายอะไรมาใหม่ๆ หลายครั้งเราจะทำแค่ประเดี๋ยวประด๋าว ทำพอเป็นพิธี สักพักหัวหน้าเองก็ทำไม่ได้แล้ว แบบนี้จะบอกจะสอนลูกน้องก็คงไม่มีใครฟัง หรือบางคนอาจจะได้รับความนับถือในความดี แต่ปรากฏว่าตอนหลังมาดีแตก ซึ่งจริงๆ ก่อนหน้านั้นเขาอาจจะทำดีมาตลอดนะครับ เพิ่งมาทำไม่ดีไม่กี่ครั้ง แต่นั่นแหละครับ ความผิดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ความดีที่ผ่านมาพังทลายหมดเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ดี เรานี่แหละครับที่จะต้องทำสิ่งนั้นให้เป็นตัวอย่างให้คนอื่นเห็นอย่างสม่ำเสมอ ทำดีทั้งต่อหน้าคนอื่นและต่อให้ไม่มีใครเห็นเลยก็ตาม แต่ขอให้ตัวเรารู้ว่าเรายังคงทำดีในสิ่งที่เราเชื่ออยู่เสมอ

     อย่าคิดว่าการเป็นตัวอย่างที่ดีนี้มีแต่คนที่เป็นหัวหน้าที่ต้องทำนะครับ หัวหน้าควรจะต้องเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว แต่ต่อให้เราไม่ได้เป็นหัวหน้า เราก็สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนร่วมงาน รุ่นน้อง หรือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหัวหน้าหรือผู้ที่อาวุโสกว่าได้เช่นกัน เพราะขึ้นชื่อว่าทำสิ่งที่ดีแล้ว ใครเป็นคนทำก็ดีหมด และสิ่งที่เราทำอาจจะสร้างผลกระทบในทางที่ดีกับคนอื่นๆ รอบตัวไปด้วยก็ได้ครับ

     ยึดมั่นในสิ่งที่ดี ทำสิ่งนั้นให้ยาวนานสม่ำเสมอ จนสิ่งที่ดีที่เราทำนั้นกลายเป็นตัวอย่าง และส่งแรงกระเพื่อมไปสู่คนอื่นให้อยากทำสิ่งที่ดีนั้นตามไปด้วย เหมือนดังเช่นที่รัชกาลที่ 9 ของเราทรงอุทิศตนกระทำให้ดูเป็นแบบอย่าง

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X