×

5 วิกฤตของไทยหลังโควิด-19 ผ่านไป ไทยต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
15.04.2020
  • LOADING...

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงสถานการณ์หลังไทยผ่านวิกฤตโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤตที่จะตามมาอย่างน้อย 5 เรื่อง และโจทย์ใหญ่หลังวิกฤตคือการฟื้นฟูประเทศ ซึ่งคำถามคือรัฐมีวิสัยทัศน์และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่เชื่อว่าเราจะได้เห็นคนชั้นล่างออกมาชุมนุมเรียกร้องเพื่อปากท้องและวิกฤตชีวิตของตนมากขึ้น

 

สุรชาติกล่าวว่า ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวิกฤต ซึ่งองค์กรสำคัญสุดท้ายคือรัฐบาล ไม่ใช่สังคม ต้องยอมรับว่าในการบริหารวิกฤต รัฐเป็นองค์กรนำและเป็นองค์กรหลัก เมื่อเป็นอย่างนี้มันอาจจะต้องคิดโจทย์ในทางรัฐศาสตร์ว่า เมื่ออำนาจรัฐที่กำลังถูกสร้างมีมากขึ้น เมื่อวิกฤตผ่านไป แล้วตกลงผู้นำรัฐจะแสดงอะไรต่อ เพราะหลังจากวิกฤต โจทย์ใหญ่คือวิสัยทัศน์ในการฟื้นประเทศ ทั่วโลกจะเผชิญโจทย์เดียวกัน และต้องการประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพื่อฟื้นประเทศ

 

วิสัยทัศน์และขีดความสามารถในการบริหารจัดการทั้งหมดพัวพันกับโจทย์เดียวคือฟื้นประเทศ 

 

เพราะฉะนั้นผู้นำเชิงอำนาจนิยมอาจจะรู้สึกว่าโควิด-19 เป็นเหมือนตั๋วพิเศษ ซึ่งรัฐสภาไม่ต้องเปิด แต่สุดท้ายก็ต้องเปิด และเมื่อเปิดแล้วตนคิดว่าการตรวจสอบภาครัฐจะเข้มข้น อีกมุมหนึ่งก็จะเห็นการเมืองที่มาจากภาคประชาสังคมหรือฐานรากของคนจะมีแรงที่มากขึ้น

 

วันนี้เห็นชัดเจนว่าพี่น้องในสังคมไทย ตนว่าไม่ใช่ Passive เราชอบพูดในวิชาสังคมวิทยาในอดีตว่าสังคมชนบทคนไทยเป็นคน Passive ใช้ภาษาหนักนิดหนึ่งคือเป็นคนซื่อๆ เชื่องๆ ไม่ค่อยสู้กับรัฐ แต่ตนคิดว่าภาพที่กระทรวงการคลังเริ่มส่งสัญญาณว่าวันนี้คนชั้นล่างกล้าเดินออกมาเรียกร้อง ตนเชื่อว่าหลายสังคม และพูดได้เลยว่าโดยเฉพาะในไทย หลังจากนี้คุณจะเจอม็อบที่มากขึ้นและหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดในหลายรูปแบบจะเป็นม็อบที่พัวพันอยู่กับปัญหาชีวิตและเศรษฐกิจในประเทศ

 

หลังวิกฤตโควิด-19 โจทย์ด้านความมั่นคงต้องเปลี่ยน

สุรชาติกล่าวว่า “หลังวิกฤต เมื่อการฟื้นประเทศเป็นโจทย์ใหญ่ ผมคิดว่าโจทย์ความมั่นคงเดิมมันควรจะถูกลด ใครที่อ่านข้อเสนอของผมช่วงต้นวิกฤต ข้อเสนอของผมตรงไปตรงมาที่สุด ก่อนกู้เงิน ขอเลิกซื้ออาวุธได้ไหม ผมอยากเห็นรัฐบาลแสดงความจริงใจว่าไม่ใช่เพียงลดงบของทุกกระทรวง เกลี่ยแบบเอาไม้บรรทัดปัก 10-15% แต่ผมคิดว่าถ้าโจทย์ความมั่นคงเปลี่ยน การจัดซื้อยุทโธปกรณ์คือตัวอย่าง จากงบประมาณผูกพันที่ปรากฏในปีงบประมาณ 2563 ตก 6 หมื่นกว่าล้านบาท เราสามารถจะยกเลิกบางเรื่อง เพราะของที่ซื้อมันไม่มีคำตอบ เช่น เรือดำน้ำ รถถัง ผมไม่ได้ต่อต้านทหารจนสุดโต่ง แต่คิดว่าของพวกนี้เริ่มไม่ตอบโจทย์ในอนาคตสำหรับประเทศไทย”

 

สำหรับ 5 วิกฤตที่ไทยต้องเผชิญหลังผ่านโควิด-19 คือ

  1. วิกฤตการเมือง 
  2. วิกฤตเศรษฐกิจ 
  3. วิกฤตสังคมจากคนจน 
  4. วิกฤตทับซ้อนที่ยังไม่จบ คือไฟป่าและฝุ่นพิษ 
  5. วิกฤตอีกชุดที่ยังไม่มีคำตอบ คือปัญหาภัยแล้งในชนบทไทย

 

5 โจทย์ที่เปิดประเด็น ใครเป็นรัฐบาลหลังจากนี้ลำบาก แต่ไม่ได้บอกว่าไม่มีคนอยากเป็นรัฐบาล

 

เสนอยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

สุรชาติกล่าวด้วยว่า วิกฤตทั้งหมดมันขมวดปมอยู่เรื่องเดียวว่าถึงเวลาทบทวนตัวเองของประเทศไทย

 

“ผมพูดข้อเรียกร้องผ่าน THE STANDARD เลย ยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี ต้องเลิกแล้ว ยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ทำทั้งหมดมันไม่มีอะไรเลยในยุทธศาสตร์ของรัฐราชการ โดยข้าราชการเขียน แล้วก็เขียนด้วยความฝันของราชการ และไม่มีคำตอบว่าจะบรรลุยุทธศาสตร์และบรรลุความฝันนั้นจริงๆ ได้อย่างไร เป็นเหมือนการขายฝันผ่านตัวหนังสือ

 

“โควิด-19 มามันเปลี่ยนเงื่อนไขประเทศไทยทั้งหมด มันเท่ากับตอบเราว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมันล้าหลังแล้ว พูดง่ายๆ อะไรที่เป็น Pre-COVID มันตกยุค ทุกอย่างที่พูดมันต้อง Post-COVID 

 

“และหนึ่งใน Pre-COVID ที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมว่าวันนี้ข้อเรียกร้องตรงๆ คือเลิกเถอะ 

 

“แล้วเตรียมที่จะคิด ผมว่าการปฏิรูปทางการเมืองต้องมาแล้ว รวมถึงการปฏิรูปกองทัพเพื่อหวังว่าระบบการเมืองจะเป็นฐานรองรับวิกฤต เพราะวิกฤตไม่ได้จบรอบเดียว วันนี้เรามีวิกฤตโรคระบาด เรามีวิกฤตฝุ่น-ภัยแล้ง วิกฤตไฟป่า 3 วิกฤตซ้อนกัน แต่เราพูดกันในมิติเดียวเอง เรายังไม่ได้พูดเลยว่าพี่น้องภาคเหนือ ภาคอีสาน ตกลงเกษตรกรจะมีชีวิตอย่างไร”

 

ไทยควรมียุทธศาสตร์ชาติอีกหรือไม่ แต่ย่นระยะเวลาลงเหมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

สุรชาติตอบว่า “ถ้าเราไม่ต้องมียุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ของรัฐไทยมันไปปรากฏชัดอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเราทำอย่างนั้นมาตั้งแต่ยุคจอมพล สฤษดิ์ คือแผนที่ 1

 

“แต่พอมาถึงยุคนี้ เรามีจินตนาการเลิศขึ้น โดยคิดเหมือนกับตอนเรียน วปอ. คือมองประเทศไทยเหมือนเป็นห้องเรียน วปอ. แล้วเอายุทธศาสตร์ที่พวกทหารถกกับพลเรือนใน วปอ. มาสวมประเทศไทย ซึ่งผมเชื่อว่าข้อถกเถียงหลายอย่างใน วปอ. ไม่กว้างขวางพอ 

 

“สิ่งที่เห็นชัดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคือแผนพัฒนาชุดนั้นแหละ ก็ทำไมไม่ใช้แผนนั้นเหมือนเดิม บอกไม่เอาเพราะมันไม่บรรเจิดเหมือนวันนี้เราเอาแผน วปอ. มาสวม บังเอิญว่าผู้นำเราหรือผู้นำหลายคนที่เป็นสายทหารจบ วปอ. แล้วก็คิดว่าเอาโมเดล วปอ. คลุมประเทศไทย

 

“แล้วในการคลุม บังเอิญมันล้าหลังเกินสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลทักษิณไม่เคยใช้ยุทธศาสตร์ที่ภาครัฐเขียน เพราะรัฐบาลคิดยุทธศาสตร์เอง ก็แปลว่าพอภาคการเมืองคิดยุทธศาสตร์เอง มันเป็นทิศทางใหญ่เพราะโยงกับนโยบายที่ประกาศตอนหาเสียงแล้วแปลงออกมาเป็นนโยบาย นั่นแหละผมว่าคือยุทธศาสตร์ เพียงแต่ความยั่งยืนของทิศทางนโยบายการเมืองไทยมันไม่ตลอด เพราะไปสะดุดการรัฐประหาร ไม่เหมือนในหลายๆ ประเทศ พอไม่มีรัฐประหารมันมีความต่อเนื่อง”

 

เมื่อยุทธศาสตร์กลายเป็นกฎหมายที่แก้ไขไม่ได้ สิ่งที่รออยู่คือหายนะ

“ถามว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ไหม มี แต่ไม่ใช่อย่างนี้ และยุทธศาสตร์อันนี้ไม่ได้ออกแบบเป็นยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ แต่ออกแบบเพื่อเป็นเครื่องมือในการพันธนาการฝ่ายค้านและผู้เห็นต่าง

 

“ว่าเมื่อไรก็ตามที่คุณเป็นรัฐบาล คุณต้องทำตามสิ่งที่ฉันเขียนไว้ก่อน เพราะรัฐบาลปัจจุบันก็ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะได้เป็นรัฐบาลไหม

 

“รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลพูดชัด ใครไม่ทำตามยุทธศาสตร์ก็ติดคุก แปลว่าเรากำลังบอกว่าตกลงยุทธศาสตร์เป็นกฎหมาย ถ้ายุทธศาสตร์เป็นกฎหมาย มันแก้ไขไม่ได้ เพราะกระบวนการในการแก้ไขกฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

 

“แต่ยุทธศาสตร์ต้องการความยืดหยุ่น ต้องการการปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ใหม่ ยุทธศาสตร์ต้องการความเปลี่ยนแปลง เพราะโจทย์ของประเทศเปลี่ยน เมื่อไรที่ยุทธศาสตร์เป็นกฎหมายแล้วเปลี่ยนไม่ได้ ผมว่าสิ่งที่รออยู่ข้างหน้ามีอย่างเดียวคือหายนะ เพราะเท่ากับเรากำลังผูกประเทศไว้กับชุดความคิดที่เก่าที่สุด”

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X