การระบาดหนักของโควิด-19 ได้ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศส่วนใหญ่มีอันต้องชะงักลงกลางคัน ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์และ Social Distancing เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวงกว้าง
เมื่อวานนี้ (13 เมษายน) กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงข้อมูลผลสำรวจจากสมาชิกหอการค้าไทยทั่วประเทศ ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
โดยพบว่าจากการสำรวจจากสมาชิกของหอการค้าไทยทั่วประเทศ ประเมินจากจำนวนแรงงานทั้งหมดของประเทศจำนวน 38,557,037 คน คาดว่าจะมีคนตกงาน 7,130,200 คน หรือคิดเป็น 18.5% ของแรงงานทั้งหมด ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่กว่า 95% เป็นแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท
ซึ่งจากการสำรวจส่วนใหญ่พบว่า ‘ภาคบริการ’ จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด รองลงมาคือ ‘ธุรกิจก่อสร้าง’ และ ‘ธุรกิจสิ่งทอ’ ส่วนใหญ่เริ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เช่น ประเด็นการท่องเที่ยวที่แผ่วลงอย่างต่อเนื่อง ประเด็นการจ้างงานหรือส่งมอบงานที่มีน้อยลงจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น
แต่การประเมินครั้งนี้เป็นการประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น ตัวเลขการตกงานจะมากหรือน้อยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง
สำหรับการประเมินในกลุ่มที่จะเกิดการเลิกจ้าง เบื้องต้นพบว่ากลุ่มธุรกิจบันเทิงคาดว่าจะเลิกจ้าง 60,000 คน, ธุรกิจร้านอาหาร 250,000 คน, ธุรกิจสปาและร้านนวดในระบบ 39,600 คน, ธุรกิจสปาและร้านนวดนอกระบบ 200,000 คน, ธุรกิจโรงแรม 978,000 คน, ธุรกิจศูนย์การค้าและค้าปลีก 4,200,000 คน
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แบ่งเป็นพนักงานในสำนักงาน 22,000 คน พนักงานภาคสนาม 55,600 คน จากจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 22,480 คน, ธุรกิจสิ่งทอ 200,000 คน และธุรกิจก่อสร้าง 1,000,000 คน
ทั้งนี้ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าภาคเอกชนได้เสนอแนวทางที่ต้องการจะให้ภาครัฐช่วยเหลือไปแล้ว อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน อาจจะส่งผลให้มีจำนวนแรงงานในประเทศตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์