×

วิกฤตโควิด-19 เส้นทางสู่ทำเนียบขาว 2020 และภูมิทัศน์การเมืองสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไป

13.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปีนี้ ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเพราะวิกฤตโควิด-19 การระบาดของไวรัสโคโรนา ไม่เพียงทำให้โรคระบาดกลายมาเป็นประเด็นการเมืองในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งด้วย เพราะพรรคการเมืองของผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่สามารถจัดกิจกรรมใหญ่ที่ให้ประชาชนจำนวนมากเข้ามาร่วมหรือฟังการปราศรัยได้
  • ในช่วงเวลาที่โรคระบาดยังดำเนินไป ประชาชนอยู่กับบ้าน สนามแข่งขันรณรงค์หาเสียงของรีพับลิกันและเดโมแครตจึงย้ายมาอยู่บนอินเทอร์เน็ตแทน
  • สองแนวทางที่มีการพิจารณากัน หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังแย่ลงเรื่อยๆ และไม่สามารถควบคุมได้จนถึงวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดี ก็คือการเปลี่ยนไปใช้วิธีลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ทั่วประเทศแทน หรืออาจให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป

ในช่วงเวลาปกติของปีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในทุก 4 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่แต่ละพรรคการเมืองมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์หาเสียงกันอย่างคึกคัก การหาเสียงในรูปแบบของชาวอเมริกันเพื่อเสนอนโยบายของผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นเป็นการแข่งขันกันอย่างร้อนแรง แต่มีสีสัน น่าติดตาม การเดินทางไปปราศรัยในมลรัฐต่างๆ การเข้าถึงกลุ่มประชาชนอย่างใกล้ชิดเพื่อเรียกคะแนนความนิยม รวมถึงการดีเบต เป็นภาพเกิดขึ้นก่อนถึงช่วงการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งชาวอเมริกันและผู้ที่สนใจการเมืองสหรัฐอเมริกาจะติดตามการหาเสียงอย่างสนุกสนาน วิพากษ์วิจารณ์ราวกับกำลังดูภาพยนตร์ซีรีส์ยาวเรื่อง เส้นทางสู่ทำเนียบขาว ที่ 4 ปี จะได้ดูครั้งหนึ่งเท่านั้น

 

แต่การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปีนี้ ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเพราะวิกฤตโควิด-19 การระบาดของไวรัสโคโรนาไม่เพียงทำให้การระบาดของโรคกลายมาเป็นประเด็นการเมืองในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ได้กระทบถึงการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งด้วย เพราะพรรคการเมืองของผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่สามารถจัดกิจกรรมใหญ่ที่ให้ประชาชนจำนวนมากเข้ามาร่วมหรือฟังการปราศรัยได้

 

การมีนโยบาย Social Distancing ส่งผลให้ผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่สามารถเข้าถึงประชาชนอย่างใกล้ชิดได้เหมือนที่เคยเป็นมา พวกเขาจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัส การกอด จับมือกับผู้สนับสนุนของตน การเดินทางไปหาเสียงในเมืองต่างๆ ก็อาจจะทำได้ยากลำบากเช่นเดียวกัน และหากนับจากวันนี้จนถึงเดือนพฤศจิกายนยังไม่สามารถควบคุมวิกฤตการณ์นี้ได้ แน่นอนว่า จะส่งผลกระทบถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนจะต้องออกมารวมตัวกันเพื่อลงคะแนน การที่ผู้คนต่างพากันออกมาลงคะแนน ต่อแถวยาวภายในหน่วยการเลือกตั้งที่อยู่ตามโบสถ์ โรงเรียน โรงยิม จะปลอดภัยหรือไม่ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้

 

การรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งในช่วงสถานการณ์โรคระบาดนี้ สำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ แม้จะยกเลิกการเดินทางไปหาเสียงบ้างแล้ว แต่เขาก็ได้รับผลกระทบน้อยกว่าคู่แข่งอย่างแน่นอน เพราะการที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีทำให้ภาพของเขาที่ยืนแถลงการณ์อยู่ที่โพเดียมภายในทำเนียบขาว เพื่อสื่อสารไปยังประชาชนชาวอเมริกันปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ ทุกวัน เนื้อหาสาระของแถลงการณ์ยังเปิดโอกาสให้เขาได้หาเสียงเรียกความนิยมไปในตัว โดยเน้นย้ำถึงความเป็นผู้นำ โดยในช่วงเวลานี้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งตัวเองให้เป็น ‘Wartime President’ หรือผู้นำที่อยู่ในยามสงครามที่สู้รบกับการระบาดของโรคโควิด-19 และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวอเมริกันว่าจะต้องชนะศึกนี้อย่างแน่นอน นอกจากนั้นทรัมป์ยังใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการส่งผ่านข้อมูล นโยบาย และการหาเสียง เช่น เฟซบุ๊ก จนถึงเวลานี้มีผู้ติดตามเป็นจำนวนถึง 28 ล้านคน และเขายังใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือสื่อสารกับประชาชนผู้ที่สนับสนุนเขา อีกทั้งยังมีผู้คนจากทั่วโลกติดตามเป็นจำนวนมาก

 

ในขณะที่ โจ ไบเดน ตัวแทนของพรรคเดโมแครตที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นนักการเมืองที่ใกล้ชิดประชาชน และใช้วิธีการเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรูปแบบการจับมือ การกอด การถ่ายรูปเซลฟีด้วย หรือการใช้สายตาแววตาในการพูดคุย พบปะประชาชนในการหาเสียง แต่ตอนนี้เขาไม่สามารถใช้วิธีเดิมได้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้น จึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การหาเสียงมาเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น 

 

แม้ว่าเขาจะมียอดผู้ติดตามในเฟซบุ๊กน้อยกว่าทรัมป์ แต่ทีมงานของไบเดนใช้กลยุทธ์การหาเสียงใหม่ทันทีหลังเกิดสถานการณ์โรคระบาด โดยใช้ช่องทางทางอินเทอร์เน็ตและโทรทัศน์มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และล่าสุด ไบเดนใช้วิธีจัดรายการ Here’s the deal ใน Podcast เพื่อรณรงค์หาเสียง มีการเชิญแขกพิเศษมาร่วมพูดคุยในรายการของเขา ในการจัดรายการตอนแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา เขาได้เชิญแขกรับเชิญมาพูดคุย วิเคราะห์นโยบายการจัดการปัญหาโรคโควิด-19 ของประธานาธิบดีทรัมป์ และให้ความเห็นว่า เขามีมาตรการที่แตกต่างอย่างไร และจะดำเนินนโยบายไปในทิศทางใดต่อไป 

 

ดังนั้น จะเห็นว่าในช่วงเวลาที่โรคระบาดยังดำเนินไป ประชาชนอยู่กับบ้าน สนามการแข่งขันการรณรงค์หาเสียงของทั้งสองฝ่ายจึงได้ย้ายมาอยู่บนอินเทอร์เน็ตแทน

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งเป็นเรื่องที่คนสงสัยกันว่า หากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ยังแย่ลงไปเรื่อยๆ และไม่สามารถควบคุมได้จนถึงวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีจำนวนมากจะทำอย่างไร ในขณะนี้ได้มีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอยู่ 2 ทาง คือ การลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ทั่วประเทศแทน กับการพิจารณาให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป 

 

สำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ เป็นวิธีการลงคะแนนเสียงโดยไม่ต้องไปที่หน่วยเลือกตั้ง (Absentee Voting) ในกรณีที่มีสถานการณ์ที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปสถานที่เลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้ เช่น ผู้มีสิทธิลงคะแนนที่อยู่ต่างแดน ต่างพื้นที่ หรือรับราชการทหาร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนแล้วจะได้รับอนุญาตให้ลงคะแนนเสียงโดยส่งบัตรเลือกตั้งมาทางไปรษณีย์ได้ ซึ่งวิธีการนี้มีการนำมาใช้นานแล้ว แต่แนวคิดเริ่มแรกคือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่อยู่ต่างแดนมากกว่าจะนำมาใช้ลงคะแนนในกรณีทั่วๆ ไปสำหรับคนที่อยู่ในประเทศ

 

ทรัมป์ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยที่จะสนับสนุนให้มีการส่งบัตรเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ เพราะอาจมีการโกงการเลือกตั้งได้ และก็ยังไม่ชัดเจนด้วยว่าทั้ง 50 รัฐ จะเห็นด้วยทั้งหมดกับวิธีการที่จะให้มีการลงคะแนนเสียงผ่านทางไปรษณีย์หรือไม่

 

ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดให้พิจารณาถึงอีกแนวทางหนึ่งคือ การเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป สำหรับประเด็นนี้ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกายังไม่เคยมีธรรมเนียมการเลื่อนวันเลือกตั้งให้ช้าออกไปเลย แม้แต่ในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา (American Civil War) ก็มีการจัดเลือกตั้งตามปกติ เช่นเดียวกับในปี 1918 ในช่วงระหว่างที่มีการระบาดทั่ว (Pandemic) ของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาก็ยังจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างหวาดกลัวภัยจากทั้งโรคระบาดและสงคราม อย่างไรก็ดี หากดูตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ว่า ประธานาธิบดีมีวาระในการดำรงตำแหน่งได้ 4 ปี ซึ่งในวันที่ 20 มกราคม 2021 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี ดังนั้น หากมีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปคงจะได้ไม่เกินวันดังกล่าว ในทางกฎหมายประธานาธิบดีไม่สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งด้วยตัวเองได้ แต่สภาคองเกรสอาจจะใช้อำนาจเลื่อนได้ ซึ่งกรณีนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน

 

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อาจเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปี 2020 นี้ นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างมาก ในวันที่การลงพื้นที่หาเสียงทำไม่ได้อีกต่อไป ใครหาวิธีการเข้าถึงประชาชนกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เร็ว ทั่วถึง สามารถสื่อสารเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนทุกวัยและกลุ่มที่เป็นฐานเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อน ก็จะเป็นผู้ได้เปรียบที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X