เมื่อวานนี้ (7 เมษายน) ทางเพจเฟซบุ๊ก ‘วช. 5G’ เปิดเผยข้อมูลจำนวนการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการประมวลข้อมูลโดย ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านวิจัยและวิชาการ (RKEOC), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
จากชุดข้อมูลทำให้พบว่าตอนนี้ประเทศได้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรคโควิด-19 ไปแล้ว 71,860 ตัวอย่าง คิดเป็น 1,079 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน โดยมีห้องปฏิบัติการตรวจที่ผ่านการรับรองแล้ว 80 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่สัดส่วนจำนวนตรวจทางห้องปฏิบัติการในต่างประเทศบางส่วนมีรายงานดังนี้
- อิตาลี มีการตรวจเชื้อแล้ว 691,455 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อ 128,948 ราย คิดเป็น 11,429 ตัวอย่างต่อประชากร 1ล้านคน
- เกาหลีใต้ มีการตรวจเชื้อแล้ว 466,779 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อ 10,237 ราย คิดเป็น 9,099 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน
- สหรัฐอเมริกา มีการตรวจเชื้อแล้ว 1,783,980 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อ 337,310 ราย คิดเป็น 5,406 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน
- ฝรั่งเศส มีการตรวจเชื้อแล้ว 218,224 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อ 93,780 ราย คิดเป็น 3,347 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน
- สหราชอาณาจักร มีการตรวจเชื้อแล้ว 195,535 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อ 48,440 ราย คิดเป็น 2,884 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของห้องปฏิบัติการตรวจที่ล่าสุดในไทยมีเพียง 80 แห่ง ทำให้หลายฝ่ายมองว่าน้อยเกินไปในการตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งไม่สอดรับกับสถานการณ์แบบนี้
โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ระบุถึงเรื่องดังกล่าวในวันเดียวกัน (7 เมษายน) โดยกล่าวว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เร่งทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 เพิ่มขึ้นอีก 30 แห่งทั่วประเทศ
เมื่อรวมกับห้องปฏิบัติการเดิมที่ผ่านการรับรองแล้วจำนวน 80 แห่ง ทำให้ในเดือนเมษายนนี้จะมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 รวม 110 แห่ง ครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ รองรับความสามารถในการตรวจสูงสุดถึง 20,000 ตัวอย่างต่อวัน คือในกรุงเทพฯ 10,000 ตัวอย่าง และในภูมิภาค 10,000 ตัวอย่างต่อวัน (ภูมิภาค 835 ตัวอย่าง/เขตสุขภาพ)
ภาพ: วช. 5G
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์