×

‘สมคิด’ เผย ครม. นัดพิเศษเคาะแผนเยียวยาเศรษฐกิจเฟส 3 ใช้เงิน 10% ของ GDP

โดย efinanceThai
03.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (3 เมษายน) สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษในวันนี้ ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุม ครม. นัดพิเศษ มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 วงเงินดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 10% ของ GDP ภายใต้การออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก. ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2 ฉบับ และ พ.ร.ก. กู้เงินของกระทรวงการคลัง 1 ฉบับ



ทั้งนี้การออก พ.ร.ก. กู้เงินของกระทรวงการคลังจะเป็นเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดงบประมาณของแต่ละกระทรวงว่าจะได้ทั้งหมดเท่าไร ขณะเดียวกันนอกจากการกู้เงิน การตัดงบที่ไม่จำเป็นจากกระทรวงต่างๆ 10% แล้ว ยังมาจากส่วนของงบประมาณด้วย โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่าจะเสนอให้ ครม. อนุมัติได้ทันภายในวันที่ 7 เมษายนนี้



มาตรการดังกล่าวนั้นเพื่อต้องการเยียวยาดูแลประชาชนและภาคธุรกิจในส่วนที่ยังขาด เพื่อให้ครอบคลุมครบถ้วน รวมถึงมาตรการที่จะไปดูให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า



“เรื่องการดำเนินมาตรการทั้งหมดนั้น จะต้องกู้เงินถึง 1 ล้านล้านบาท ไปเอาข่าวมาจากไหน เพราะเบื้องต้นคือเราจะใกล้เคียงที่ประเทศอื่นทำ หรือใกล้เคียง 10% ของ GDP อาจมากหรือน้อยกว่านั้น แต่วงเงินมาจากหลายส่วน ทั้งมาจากงบประมาณ  บางส่วนเป็นงบที่ใช้ไปแล้ว และจะมาจากการกู้ยืม การกู้ยืมนั้นจะกู้โดยกระทรวงการคลัง” สมคิด กล่าว



อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากต้องรอ ครม. พิจารณาอนุมัติก่อน โดยเชื่อว่ามาตรการดังกล่าว จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ และเชื่อว่าเราจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปได้



ด้าน อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มที่จะเข้าไปดำเนินการ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย



1. ดูแลภาคประชาชน กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม และลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ โดยการลดภาระผ่อนสินเชื่อเพิ่มเติมของกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากใช้บริการ รวมถึงขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินกลุ่มดังกล่าว โดยหวังผลให้ประโยชน์สุดท้ายถึงประชาชน



2. การดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ในการต่อสู้โควิด-19 ด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกลุ่มภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม การดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ หรือ Local Economy ที่จะต้องดูแล เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานกลับสู่พื้นที่ และเมื่อเหตุการณ์ดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจ การทำธุรกิจอาจเปลี่ยนไป รวมถึงอาจมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการรองรับเพื่อดำเนินการได้ทัน



รวมถึงการดูแล การลงทุนภาครัฐ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ทั่วประเทศคือ กลุ่มมาตรการภายใต้การดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม



3. กลุ่มผู้ประกอบการ ในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีภาระการกู้ยืม หรือการต้องการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง



“ในการกู้เงินนั้น เป็นการกู้เพิ่มเติม ตัวเลข 10% ของ GDP ไม่ใช่ว่าเราจะกู้ทั้งหมด เพราะขณะนี้เราได้ประสานกับสำนักงบประมาณแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อใช้ในการดูแลเศรษฐกิจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19” อุตตม กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

รายงาน ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์  

เรียบเรียง สุรเมธี มณีสุโข

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X