ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ออกประกาศและส่งหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับที่มิใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง และบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง เพื่อผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ของ ธปท. ในช่วงการระบาดของโควิด-19
สำหรับสาเหตุที่ ธปท. ต้องออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มลุกลามและส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจ ประชาชนทั่วไป รวมถึงส่งผลกระทบต่อการให้บริการของสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานหรือให้บริการได้ตามปกติ และไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ในบางเรื่องได้
ดังนั้น ธปท. จึงได้ผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ เพิ่มเติม โดยให้ปฏิบัติตามที่ประกาศจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่า ธปท. จะแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ เกณฑ์ที่ผ่อนผันประกอบด้วย 17 ด้าน ดังนี้
1. กรณีที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบการธุรกิจไม่สามารถแจ้ง ธปท. หรือแจ้งผู้ใช้บริการล่วงหน้าได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในหลักเกณฑ์ กรณีหยุดให้บริการในบางช่องทาง การย้ายสถานที่ทำการ การเปลี่ยนแปลงวันและเวลาทำการ โดยให้ผ่อนผัน โดยให้สถาบันการเงินผู้ประกอบธุรกิจแจ้งผู้ใช้บริการให้เร็วที่สุด ผ่านช่องทางต่างๆ ตามความเหมาะสม รวมทั้งให้แจ้งการกลับมาให้บริการตามเดิมในโอกาสแรกที่ทำได้
ขณะเดียวกันต้องมีช่องทางให้ผู้ใช้บริการติดต่อสอบถาม แจ้งปัญหา หรือร้องเรียนได้ และต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงการให้บริการที่กระทบผู้ใช้บริการในวงกว้างแก่ ธปท. โดยเร็ว ผ่านช่องทาง E-Application
2. การรายงานแผนกลยุทธ์ของช่องทางต่อ ธปท. (รายงานการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญรายไตรมาส) โดยให้ผ่อนผัน ให้สถาบันการเงินรายงาน ธปท. โดยเร็ว เมื่อเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
3. การจัดสรรกำไรครึ่งหลังของปี 2562 เป็นเงินกองทุนตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของสถาบันการเงินในระหว่างที่ยังไม่มีมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี โดยให้ผ่อนผันโดยให้นำกำไรที่ผ่านมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดสรรเข้ากองทุนได้ และเมื่อสถาบันการเงินสามารถจัดการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีได้ ให้การนับเงินกองทุนเป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
4. การใช้คณะกรรมการสถาบันการเงินชุดเดิมรักษาการ จนกว่าจะสามารถขอมติแต่งตั้งกรรมการผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ โดยผ่อนผันจนกว่าจะได้มติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น
5. การเสนองบการเงินต่อ ธปท. ภายใน 4 เดือน จากวันสิ้นปีบัญชี ไม่สามารถดำเนิการได้ทัน ให้ผ่อนผันโดยให้ปฏิบัติตามเกณฑ์โดยเร็ว เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
6. การขอความเห็นชอบผู้สอบบัญชีต่อ ธปท. ภายใน 30 วัน ก่อนเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น และเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปีแล้ว ให้สถาบันการเงินแจ้งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวให้ ธปท. ทราบภายใน 30 วัน ให้ผ่อนผันโดยให้รับแจ้ง ธปท. ในโอกาสแรกที่ทำได้
7. สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการธุรกิจไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงผู้ร้องเรียนได้ทันภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับข้อร้องเรียน ให้ผ่อนผันโดยให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงผู้ร้องเรียนช้ากว่า 7 วันได้ โดยควรแจ้งเบื้องต้นให้ผู้ร้องเรียนรับทราบว่าได้รับเรื่องแล้ว และให้ดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียนนั้นให้แล้วเสร็จ และแจ้งผลให้ทราบโดยเร็วแก่ผู้ร้องเรียน
8. การจัดส่งใบแจ้งหนี้แก่ผู้ใช้บริการล่าช้า (ล่วงหน้าน้อยกว่า 10 วัน ก่อนวันถึงกำหนดชำระหรือหักบัญชี) โดยผ่อนผันให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจสามารถจัดส่งใบแจ้งหนี้น้อยกว่า 10 วันได้ โดยให้ผู้ใช้บริการได้รับทราบล่วงหน้าก่อนถึงวันครบกำหนดชำระ และมีระยะเวลาเพียงพอให้ผู้ใช้บริการตรวจสอบและโต้แย้งรายการได้ หากมีกรณีที่ทำให้ผู้ใช้บริการทราบการแจ้งหนี้ช้า และส่งผลทำให้ชำระหนี้หลังจากวันที่ครบกำหนด สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจากการชำระหนี้ล่าช้าในหนี้ที่ค้างชำระนั้น
9. การไม่สามารถดำเนินนโยบายการประกอบธุรกิจ IT Ralated Services ตามแนวทางและระบบเวลาที่หลักเกณฑ์กำหนด โดยผ่อนผันให้ธนาคารพาณิชย์กำหนดนโยบายดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เมื่อเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
10. การทบทวนความเหมาะสมของลูกค้าสำหรับการทำธุรกรรมอนุพันธ์ (Client Suitability Assessment) สำหรับลูกค้าปัจจุบันหรือกลุ่มที่เคยเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดให้ต้องทบทวนเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมีอุปสรรคในการติดต่อและขอข้อมูลจากลูกค้าในช่วงนี้ โดยให้ผ่อนผันสำหรับลูกค้าปัจจุบันของธนาคารพาณิชย์ แต่สำหรับกลุ่มลูกค้าเดิมให้ธนาคารพาณิชย์ปรับเปลี่ยนแนวทางการพิจารณาความเหมาะสมได้ตามสถานการณ์ โดยให้คำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย
11. การขอต่ออายุสัญญาธุรกรรมอนุพันธ์ที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในลักษณะ HRR (Historical Rate Rollover) สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางการค้า เช่น ลูกค้าที่ไม่สามารถนำเข้า/ส่งออกได้ตามปกติ โดยอาจต้องขอต่อสัญญา HRR หลายครั้ง หรือต่อสัญญาที่มีระยะนานกว่า 3 เดือน ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถพิจารณาต่ออายุสัญญาได้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบตามความจำเป็นและเหมาะสม
12. การนับพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เป็นสินทรัพย์ตามมาตรา 32 สำหรับสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ผ่อนผันให้สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ สามารถนับตราสารดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ตามมาตรา 32 โดยกรรมสิทธิ์ในตราสารยังคงเป็นของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศและตราสารดังกล่าวยังเก็บอยู่กับนายทะเบียน
13. สถาบันการเงินไม่สามารถประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้และหลักประกันได้ตามเวลาที่ ธปท. กำหนด โดยผ่อนผันให้ไม่ต้องกันสำรองเพิ่มเติม และให้สถาบันการเงินประเมินราคาทรัพย์สินดังกล่าวให้แล้วเสร็จ เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
14. การให้สำนักงานใหญ่ / สาขา / บริษัทในกลุ่มในต่างประเทศ ปฏิบัติงานแทนสำหรับงานที่มีความสำคัญต่อธุรกิจสถาบันการเงิน (เกณฑ์ต้องให้ขออนุญาตการ Outsource งานที่มีความสำคัญไปต่างประเทศ) ผ่อนผันโดยให้สถาบันการเงิน Outsource งานไปยังสำนักงานใหญ่ / สาขา / บริษัทในกลุ่มในต่างประเทศ ดำเนินการแทนได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ธปท. และให้สถาบันการเงินดูแลความเสี่ยงและความปลอดภัยของข้อมูลอย่างเหมาะสม
15. การไม่สามารถทดสอบแผนฉุกเฉินการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและแผนฉุกเฉินด้าน IT รายปีได้ โดยผ่อนผันให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามเกณฑ์โดยเร็ว เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
16. การเปิดเผยข้อมูล Pillar 3 ช้ากว่ากำหนด ผ่อนผันโดยให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลโดยเร็ว เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
17. การบันทึกเสียงสนทนาการเสนอขายผลิตภัณฑ์ผ่านโทรศัพท์มือถืออาจไม่สามารถบันทึกเสียงได้ ผ่อนผันโดยสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจต้องมีกระบวนการที่ให้มั่นใจว่า การเสนอขายไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของลูกค้า และมีกระบวนการจัดการกรณีมีเรื่องร้องเรียนจากการเสนอขายผลิตภัณฑ์
รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล