ก.ล.ต. อนุมัติ SSF (พิเศษ) 17 กองทุน เน้นลงทุนในหุ้น ด้าน 13 บลจ. เตรียมเปิดขาย 1 เมษายนนี้ หวังได้เม็ดเงินราว 6 หมื่นล้านบาท ช่วยประคอง SET ด้านคลังจ่อออกมาตรการเยียวยาโควิด-19 เฟส 3 คาดมีวงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ปัดข่าวถังแตก ยืนยันการคลังไทยเข้มแข็ง ไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินกู้ IMF
ในที่สุดก็คลอดออกมาแล้ว สำหรับกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า SSF (พิเศษ) หรือ SSFX
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุน SSF (พิเศษ) ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด แต่ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี
อนึ่ง SSF (พิเศษ) เป็นหนึ่งในมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทย เฟส 1 ซึ่งจะช่วยเหลือประชาชนในทางอ้อม ด้วยการเพิ่มสิทธิในการหักลดหย่อนภาษี
ก.ล.ต. อนุมัติแล้ว SSF(พิเศษ) 17 กองทุน
รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังจาก ก.ล.ต. ออกประกาศเรื่องรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออมที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียน (กองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ล่าสุด ณ วันที่ 30 มีนาคม 2563 ก.ล.ต. ได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียนไปแล้ว 17 กองทุน จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 13 แห่ง
“ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้พิจารณาและอนุมัติการจัดตั้งกองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียนโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนพร้อมเสนอขายแก่ผู้ลงทุนทั่วไปในวันที่ 1 เมษายน 2563” รื่นวดี กล่าว
บลจ. พร้อมขาย SSF (พิเศษ) วันที่ 1 เมษายนนี้ เม็ดเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท วศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า บริษัทสมาชิก 13 แห่งเตรียมเสนอขายกองทุนรวมเพื่อการออม (SFF) กองพิเศษ รวม 20 กองทุน มูลค่ารวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มขายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ คาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยเพิ่มแรงซื้อให้กับตลาดหุ้นไทย เนื่องจากกองทุน SFF (พิเศษ) ต้องมีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% แต่จะมีนัยสำคัญต่อดัชนีฯ มากน้อยแค่ไหนประเมินได้ยาก ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินจริงที่เข้ามาในกองทุนว่ามีมากน้อยเพียงใด
“ยังไม่อยากให้เอาตัวเลขเป้าหมายต่างๆ มาเป็นที่ตั้ง เพราะมันจะผิดจังหวะไปหน่อย ตอนนี้ความสำคัญอันดับแรกคือการรักษาสุขภาพ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนต้องมีความพร้อมด้านสภาพคล่อง เพราะเงินที่ซื้อกองทุนนี้จะต้องถือครองถึง 10 ปี ซึ่งต้องประเมินสภาวะการเงินของตนให้รอบคอบ ในภาวะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แม้ด้าน Valuation หุ้นไทยเริ่มดูน่าสนใจ แต่ตลาดก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง ดูสถานการณ์ไปก่อน ไม่ต้องรีบลงทุน เพราะมีเวลาให้ตัดสินใจถึง 3 เดือน” วศิน กล่าว
ทั้งนี้ การปิดขายหน่วยลงทุน 4 กองทุนตราสารหนี้ก่อน อาจจะกระทบจิตวิทยาในการลงทุนกองทุนรวมบ้าง แต่แค่ระยะสั้นเท่านั้น โดยคาดว่าจะไม่ส่งผลต่อกองทุน SSF (พิเศษ) เนื่องจากลักษณะการลงทุนต่างกัน
ส่วนการต่ออายุกองทุน SSF (พิเศษ) มากกว่า 3 เดือน หากได้รับความนิยมจากผู้ลงทุน ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม มองว่ากองทุน SSF (พิเศษ) ถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนระยะยาว เพราะจากสถิติการลงทุน 10 ปี ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนสูงสุด ประกอบกับจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีก 200,000 บาท เพิ่มจาก SSF แบบปกติ
สำหรับ 13 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่พร้อมจะเสนอขายกองทุน SSF (พิเศษ) ประกอบด้วย 1. บลจ. กรุงไทย 2. บลจ. กรุงศรี 3. บลจ. กสิกรไทย 4. บลจ. ทิสโก้ 5. บลจ. ไทยพาณิชย์ 6. บลจ. ธนชาต 7. บลจ. บัวหลวง 8. บลจ. พรินซิเพิล 9. บลจ. ภัทร 10. บลจ. ยูโอบี 11. บลจ. แอล เอช ฟันด์ 12. บลจ. เอ็มเอฟซี 13. บลจ. แอสเซท พลัส
คลัง เล็งกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 อีกกว่า 4 แสนล้านบาท
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาชุดมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ (เฟส 3) โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่ามาตรการชุดที่ 1 และชุดที่ 2 หรือมากกว่า 400,000 ล้านบาท ผ่านนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อพิเศษ
ทั้งนี้ สาเหตุที่จำเป็นต้องออกชุดมาตรการชุดที่ 3 เนื่องจากขณะนี้พบว่าสถานการณ์โควิด-19 กระทบรุนแรง กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน โดยมาตรการชุดล่าสุดนั้น จะดูแลทั้งประชาชน ผู้ประกอบการรายกลาง และรายเล็กที่ได้รับผลกระทบ
“วันนี้รายได้หายไป ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากขึ้น เรากำลังดูมาตรการอยู่ โดยให้ยึดโยงไปถึงมิติพื้นที่ แรงงานที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีจำนวนมาก สถานประกอบการที่ถูกปิด แรงงานได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการนี้จะเข้าไปดูแลตรงนั้น และสร้างความเข้มแข็งต่อเนื่องให้เศรษฐกิจฐานราก” อุตตม กล่าว
อุตตม กล่าวว่า มาตรการชุดนี้จะดูแลเศรษฐกิจทั้งระบบ และมีขนาดที่เหมาะสม โดยขณะนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมาคมธนาคารไทย ร่วมกันคิด โดยจะดูแลครอบคลุมในทุกมิติ และถือเป็นงานเร่งด่วนของกระทรวงการคลัง
ยันไม่ถังแตก ไม่กู้ IMF
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังถังแตก และจำเป็นต้องกู้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นั้น ยืนยันว่า กระทรวงการคลังไม่ได้ถังแตก และไม่ต้องกู้จาก IMF แน่นอน โดยการจัดสรรงบประมาณนั้น สำนักงบประมาณดูแลอย่างรอบคอบและรัดกุม ส่วนแหล่งเงินที่จะใช้นั้น จะมีทั้งงบประมาณและส่วนอื่นที่กำลังพิจารณามาเสริมกัน
ด้านการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง ที่จะต้องรักษาไว้ในระดับไม่เกิน 60% นั้น ยืนยันว่า ขณะนี้การคลังของไทยเข้มแข็ง และจะรักษากรอบวินัยการเงินการคลังไว้ไม่เกิน 60% ได้แน่นอน และขอให้มั่นใจ
“การโยก พ.ร.บ. งบประมาณ หรือการออก พ.ร.ก. กู้เงินนั้น อย่าไปคิดว่าจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อทดแทน แต่เรากำลังเปิดดูทุกทางเลือกที่เรามี โดยขณะนี้สำนักงบประมาณกำลังพิจารณาอยู่” อุตตม กล่าว
กลุ่มสายการบิน ยังไม่ต้องออกมามาตรการใหม่เสริม-มีซอฟต์โลนแบงก์ออมสิน
อุตตม กล่าวว่า กรณีที่สายการบินของไทยเตรียมขอกระทรวงการคลัง พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงิน 16,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตได้เข้าไปดำเนินการแล้ว คือการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน
ส่วนมาตรการอื่น เช่น การเสริมสภาพคล่อง ขณะนี้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน วงเงิน 150,000 ล้านบาท ขอให้ภาคการบิน ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมาใช้ได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่เข้าไปเสริม
ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ติดลบ 5.3% มองว่า ไม่มีใครรู้ว่าผลกระทบไวรัสดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่อไร สิ่งที่ ธปท. ประเมินเป็นตัวเลขหนึ่งเท่านั้น แต่ตัวเลขที่แท้จริงจะเท่าไรไม่มีใครตอบได้
รับเงิน 5,000 วันที่ 30 มีนาคม มีผู้ลงทะเบียน 19.8 ล้านคน
อุตตม กล่าวถึงการลงทะเบียนเพื่อรับเงิน 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนนั้น ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปิดลงทะเบียน สามารถลงได้ทุกคน แต่จะได้รับเงินช่วยเหลือหรือไม่นั้น มีคุณสมบัติที่กำหนดไว้สำหรับการคัดกรอง
ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ณ เวลา 14.00 น. ของวันที่ 30 มีนาคมนี้ พบว่า มีผู้ลงทะเบียน 19.8 ล้านคน โดยยืนยันว่า ผู้ที่มาลงทะเบียนนั้นมีเกณฑ์หลักในการพิจารณา 3 ด้าน คือ ต้องเป็นแรงงาน ลูกจ้าง ประกอบอาชีพอิสระ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ ค้าขาย กลุ่มประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบ
เกณฑ์ที่สอง คือ ต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ถ้าระบบประกันสังคมเยียวยาแล้ว ขอให้ระบบนั้นดูแล และด้านที่สาม คือ ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไร ซึ่งจะต้องเป็นผลกระทบต่อรายได้ที่เป็นตัวเงิน
เรียบเรียง: ประน้อม บุญร่วม
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์