×

รัชกาลที่ 9 กับ 14 ตุลาคม 2516 บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร

โดย
14.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ปาฐกถาพิเศษถ่ายทอดเรื่องราวจากความทรงจำของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ผู้มีบทบาทสำคัญในการประสานระหว่างราชสำนักและผู้แทนนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

     พ.ศ. 2560 ครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีพิธีรำลึกถึงวีรชนคนเดือนตุลาที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณแยกคอกวัวทุกปี

     แต่ปีนี้พิเศษตรงที่เป็นครั้งแรกที่ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ซึ่งในเวลานั้นทำหน้าที่สำคัญในการติดต่อประสานเจรจากับผู้นำนิสิตนักศึกษา และเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาอ่านต่อผู้ชุมนุมในเวลา 5.30 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2516

     พล.ต.อ.วสิษฐ คือหนึ่งในบุคคลที่เชื่อกันว่าเป็นผู้กุมความลับของเหตุการณ์ 14 ตุลา และนี่คือคำต่อคำจากปากของ พล.ต.อ. วสิษฐ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น

 

ความจำเป็นในการรับรองรัฐบาลเผด็จการของรัชกาลที่ 9

     วันที่ 14 ตุลา 2516 ผมมีตำแหน่งเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ หน้าที่ของผมไม่ได้เกี่ยวกับการบ้านการเมือง แต่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมพระราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์

     แต่ท่านก็คงจะทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเลี่ยงการเมืองไม่พ้น เพราะเหตุว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ และเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามปกติ บังคับหลีกเลี่ยงไม่ได้

     ท่านผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยคงจะจำได้ว่า บ้านเรานั้นแม้จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็มีอุบัติเหตุการเมือง เกิดรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนมากรัฐประหารก็ทำโดยผู้ถืออาวุธคือทหาร ทหารผลัดกันขึ้นมาปกครองบ้านเมือง จนกระทั่งแทนที่จะเจริญก้าวหน้า บ้านเมืองก็ย่อยยับลงครั้งแล้วครั้งเล่า

     แต่ละครั้งที่เกิดการรัฐประหารขึ้น เพื่อที่จะให้ผู้ยึดอำนาจได้นั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เป็นรัฐบาลที่ถูกกฎหมาย ก็จะต้องวิ่งไปหาพระมหากษัตริย์ และในที่นี้ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ต้องเป็นผู้ที่ทำให้รัฐบาลนั้นถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมาโดยไม่มีทางเลือก

     มักจะมีผู้ที่ไม่เข้าใจและแสดงความข้องใจอยู่เสมอๆ ว่าเมื่อรัฐบาลยึดอำนาจวิ่งเข้าไปหา หากว่าพระองค์ไม่พระราชทานความถูกต้องให้กับรัฐบาล รัฐบาลนั้นก็เจ๊งใช่หรือเปล่า

     มันไม่ง่ายอย่างนั้นนะครับ เพราะคนที่วิ่งเข้าไปขอพระราชทานความถูกต้องของรัฐบาลเป็นคนถืออาวุธ ถ้าหากว่าพระองค์ปฏิเสธ ก็แน่นอนเหลือเกินว่ามันจะต้องเกิดการต่อสู้ปะทะกันขึ้น เขาชนะอยู่แล้ว เพราะยึดอำนาจไปเรียบร้อยแล้ว ใครจะไปต่อสู้กับเขาอีก นอกจากพระองค์เองซึ่งไม่มีทหาร ไม่มีกองทัพ พระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นตำแหน่งที่ถือเป็นเกียรติเฉยๆ อำนาจในการบังคับบัญชาไม่มี นี่คือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารจึงเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเสมอมา

     เมื่อเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลก็ค่อนข้างที่จะตึงเครียด

     รัฐบาลทหารช่วงต้นๆ เมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็เกือบจะไม่เห็นความสำคัญของพระมหากษัตริย์เลย ตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจ แม้จะให้ความเคารพก็เป็นเรื่องที่เคารพแต่ปาก ในทางปฏิบัตินั้นปรากฏว่ามีการกระทบกระทั่งขัดแย้งกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล

     แล้วมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัฐบาลเริ่มจะฟังพระเจ้าแผ่นดินมากขึ้น และรัชกาลที่ 9 เป็นผู้ที่ทรงเห็นการณ์ไกล พระองค์สามารถที่จะประนีประนอมกับรัฐบาล และในขณะเดียวกันก็เข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามมากขึ้นๆ จนกระทั่งบัดนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า 70 ปีของการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นมหาราชพระองค์หนึ่งที่ทำความเจริญมั่นคงให้แก่บ้านเมือง และทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างที่ได้เห็นกันในปัจจุบัน

 

จุดเริ่มต้นการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา

     ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นเดือนวิกฤตของคนไทย ในขณะนั้นนอกจากปัญหาการเมืองภายในแล้ว ยังมีปัญหาภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ที่กระทำต่อหลายประเทศ รวมทั้งเมืองไทยด้วย

     สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ที่ทำให้เกิดคอมมิวนิสต์ขึ้นในเมืองไทย ถ้าลำพังแต่ในเมืองไทยเอง คอมมิวนิสต์อาจจะไม่มีเลยก็ได้ แต่เพราะเหตุว่าสหรัฐฯ เป็นศัตรูกับสหภาพโซเวียตและจีน ซึ่งเป็นสองประเทศใหญ่ที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ระบอบคอมมิวนิสต์จึงทำท่าว่าจะขยายไปยังประเทศต่างๆ

     สหรัฐฯ ก็กลัวว่าตัวเองจะเสียโลกให้แก่ค่ายคอมมิวนิสต์ อเมริกาจึงดำเนินนโนบายเป็นปฏิปักษ์กับคอมมิวนิสต์ นโยบายนี้เองที่รัฐบาลเล็กๆ น้อยๆ รับเอามา หรือถูกบังคับให้รับเอามาเพื่อเป็นฝ่ายอเมริกาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

     รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยนั้นเกือบทุกรัฐบาลรับนโยบายปฏิปักษ์ต่อคอมมิวนิสต์นี้มาทั้งสิ้น รวมทั้งเมืองไทยด้วย

     ไทยเริ่มปราบคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ช่วงต้นๆ เลย เรามีกฎหมายที่ว่าด้วยคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ

     ยิ่งเมื่อเป็นรัฐบาลเผด็จการ การปราบปรามผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็ทำด้วยความรุนแรง มีการจับนักการเมืองที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนไม่น้อย

     ใน พ.ศ. 2516 นั้นมีผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์อยู่เป็นจำนวนมาก แม้จะเป็นการออกเอกสารหรือพูดวิจารณ์เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล รัฐบาลก็จะเหมาว่าเป็นการกระทำของคอมมิวนิสต์

 

     ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล แถลงการณ์ฉบับนั้นที่สำคัญที่สุดก็เป็นการประณามรัฐบาลที่ยึดอำนาจอยู่โดยไม่ยอมคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน พูดง่ายๆ ว่าเป็นเอกสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

     รัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้จับนิสิตนักศึกษาและผู้ที่ร่วมเรียกร้อง แต่ข้อหาที่ตั้งคือกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ถ้าจำไม่ผิดคือจับไปทั้งหมด 13 คน

     พอถูกจับไปแล้ว ปฏิกิริยาของนิสิตนักศึกษาก็เริ่มขึ้น เริ่มมีการชุมนุมโดยนิสิตจุฬาฯ และนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย รวมไปถึงนักเรียนอาชีวะ โดยการนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)

     นิสิตนักศึกษาเริ่มชุมนุมกันตั้งแต่จำนวนพันไปถึงจำนวนหมื่น การชุมนุมเริ่มมีมากขึ้นๆ จนเป็นจำนวนแสนคน

     แทนที่รัฐบาลจะรู้สึกว่ากำลังจะเป็นสิ่งที่ระงับไม่ได้ แต่รัฐบาลกลับใช้ไม้แข็งในการเตรียมจะปราบนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมกัน

     ก่อนวันเกิดเหตุผมไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ หนึ่งสัปดาห์ก่อนเกิดเหตุ พระองค์รับสั่งให้ผมไปเยี่ยมประชาชนในภาคอีสาน ผมไปโดยเครื่องบิน ผมเดินทางกลับมาในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 พอมาถึงผมก็รู้ว่ามีการชุมนุมและทำท่าว่าเหตุการณ์จะบานปลาย

     ตัวผมพร้อมด้วยนายทหารตำรวจจากในวังจำนวนหนึ่งก็ออกไปดูเหตุการณ์ โดยมีผู้แทนนิสิตนักศึกษาพาไป ในขณะนั้นการชุมนุมเคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงลานพระราชวังดุสิต หรือลานพระบรมรูปทรงม้า

     เมื่อตอนเข้าไปดูก็ยังรู้สึกว่าเหตุการณ์จะไม่หนักหนาอะไร ก็ยังสังเกตว่าผู้ชุมนุมชุมนุมอย่างสงบ จะมีทำให้ไม่สบายใจอยู่บ้างก็เห็นมีนักเรียนอาชีวศึกษา มีไม้บ้าง เหล็กบ้าง วางไว้ข้างๆ ตัว

 

ผู้แทนนิสิตนักศึกษาเข้าเฝ้าในหลวง แต่ขาด ‘เสกสรรค์’

     เมื่อดูเสร็จแล้วผมก็กลับเข้าไปในวังสวนจิตรลดา ตอนเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม ผมได้รับคำสั่งให้ไปคอยรับผู้แทนของนิสิตนักศึกษาที่จะเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว ผมเพิ่งรู้ตอนนั้นว่าพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฝ้าฯ

     ผมก็ไปคอยรับผู้แทนนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ที่ประตูพระวรุณอยู่เจน ผมคอยอยู่ตั้งแต่เที่ยงจนบ่ายสองโมงจึงมีผู้แทนนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งมาถึงที่ประตู แต่ปรากฏว่ามายังไม่ครบ ต้องรอจนถึงบ่ายสี่โมงถึงได้มากันครบ แต่ขาดไปคนหนึ่ง ที่ขาดไปคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

     ผมก็นำผู้ที่มาแล้วไปที่ศาลาดุสิดาลัย คอยอยู่จนกระทั่ง 17.30 น. พระเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จฯ ลง ตอนเสด็จฯ ลงผมไม่ได้อยู่ที่ศาลาดุสิดาลัยด้วย ผมจึงไม่ทราบว่ารับสั่งว่าอะไรบ้าง แต่มารู้ทีหลังว่าเขาเฝ้าฯ กันอยู่จนเกือบสองทุ่มจึงกลับออกมา แต่ระหว่างที่อยู่ในวังกำลังจะออกจากสวนจิตรลดานั้น ผมก็ได้ยินผู้แทนนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในวังปรารภขึ้นบอกว่า เราถูกหักหลังเสียแล้ว

     ผมก็ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า?

     เขาก็บอกว่าคุณเสกสรรค์ซึ่งไม่ได้เข้าประชุมด้วย แล้วเป็นผู้ที่คุมการชุมนุมอยู่ข้างนอกได้ทำผิดข้อตกลงที่จะไม่เคลื่อนกำลังจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาที่ลานพระราชวังดุสิต เพราะกังวลว่าถ้ามาถึงตรงนั้นแล้วอาจจะเลยมาถึงวังสวนจิตรลดา ซึ่งเขาไม่ต้องการจะให้เกิดขึ้น

     เมื่อพูดกันไม่รู้เรื่องและทำท่าว่าเหตุการณ์เริ่มไม่สงบ ผู้แทนนิสิตนักศึกษาก็ไม่ยอมออกจากวัง ผมก็ต้องรับหน้าที่ออกไปตามหาตัวคุณเสกสรรค์ให้เข้ามาในวัง

เนื่องจากมันนานมาแล้ว อาจจะนึกไม่ออก แต่ผมจำได้ว่าผมใช้รถตำรวจของกองปราบปราม แล้วพาผู้แทนนิสิตนักศึกษาขึ้นรถโฟล์กตู้เพื่อจะไปรับคุณเสกสรรค์ ที่หมายของเราคือลานพระราชวังดุสิต หวังว่าจะไปเจอคุณเสกสรรค์ที่นั่น

     ไปถึงแล้วขบวนรถหลุด ตามกันไม่ทัน คนมันเยอะเหลือเกิน รถตำรวจที่ผมนั่งอยู่ไม่ทันรถตู้ที่ผู้แทนนิสิตนักศึกษานั่งมาด้วย เมื่อก่อนไม่มีโทรศัพท์มือถือ การติดต่อลำบากมาก วิธีการหาตัวคุณเสกสรรค์คือต้องไปหาโทรศัพท์บ้านที่อยู่ใกล้เคียงหรือในวัด แล้วโทรไปอีกเครื่องที่เดาว่าอยู่ใกล้ตัวคุณเสกสรรค์ ลงท้ายหลังจากที่ทุลักทุเลกันอยู่เราก็ได้ตัวคุณเสกสรรค์เข้ามาในวัง

 

     คุณเสกสรรค์ในขณะนั้นเนื่องจากพูดปราศรัยติดต่อกันมา 7 วัน 7 คืน พูดเกือบไม่รู้เรื่อง เข้ามาถึงในวังแล้วเขาก็พบกันกับคุณธีรยุทธ บุญมี ซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายที่เข้าใจกันผิด ทั้งสองคนเถียงกันโดยมีผมคอยตะแคงหูฟังว่าเขาพูดอะไรกัน

     เมื่อรู้ว่าเขาเข้าใจผิดเรื่องไหน เราซึ่งรู้เหตุการณ์ที่แท้จริงก็เป็นคนชี้แจงให้เข้าใจ คุณเสกสรรค์ป่วยมากถึงขนาดต้องให้หมอหลวงมาดูอาการ แล้วฉีดยาให้ ลงท้ายเขาก็พูดกันรู้เรื่อง แต่ในขณะที่เขาพูดกันรู้เรื่อง ข้างนอกไม่รู้เรื่อง

 

ข่าวลือสะพัด! ผู้ชุมนุมเคลื่อนปิดหน้าประตูวัง

     มีคนไปกระซิบบอกผู้แทนนิสิตนักศึกษาข้างนอกว่า “ม่องหมดแล้วพวกในวัง”

     นิสิตที่อยู่ข้างนอกที่มีคนมากระซิบว่าเขาจัดการคน (นิสิตนักศึกษา) ในวังหมดแล้วคือคุณพีรพล ตริยะเกษม

     เพราะข่าวนี้เองทำให้คนที่ชุมนุมกันอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเคลื่อนมาที่หน้าประตูพระวรุณอยู่เจนที่สวนจิตรลดา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนแสนมาชุมนุมกันอยู่ที่หน้าวัง

     พอเป็นอย่างนั้นผมก็ขอร้องพวกที่อยู่ในวังที่พูดกันรู้เรื่องแล้วให้ไปเจรจากับคนที่อยู่ข้างนอกหน่อยว่าบัดนี้อะไรๆ ก็เรียบร้อยหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่ารัฐบาลยอมปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนแล้ว แล้วก็ปล่อยตัวแล้ว นอกจากจะปล่อยแล้วยังมีข้อตกลงระว่างฝ่ายรัฐบาลกับผู้แทนนักศึกษาในวังเป็นลายลักษณ์อักษร และจะขอพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 20 เดือน แทนที่จะเป็น 3 ปีตามที่รัฐบาลเคยบอก

     เมื่อขอร้องให้ผู้แทนนิสิตไปชี้แจง ผู้แทนนิสิตบอกว่าเดี๋ยวเขาไม่เชื่อ อยากได้คนในวังไปด้วย ตอนนั้นคนในวังที่เป็นผู้ใหญ่มี 3 คน คนหนึ่งคือหม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ อีกคนคือพันเอก เทียนชัย จั่นมุกดา (ยศในเวลานั้น) แล้วก็มีผม

     เราก็ถามว่ามี 3 คน เลือกเอาว่าจะเอาใครไป

     คุณเสกสรรค์ชี้ว่าเอาพี่ ก็คือผม ที่เอาผมก็เพราะผมเคยเป็นนิสิตจุฬาฯ และผมเขียนหนังสือขาย เป็นดาราทีวีด้วย เขาขอให้ผมไป ผมก็ยอม แต่ผมเห็นว่าอยู่ระหว่างหน้าสิ่วหน้าขวาน ข้างนอกวังมีแต่คนชุมนุมซึ่งมองตำรวจอย่างเป็นปฏิปักษ์ ถ้าผมออกไปอย่างตำรวจ ดีไม่ดีผมอาจไม่ได้กลับเข้ามาก็ได้

     ผมก็ทิ้งปืน ทิ้งวิทยุไว้ในวัง ออกไปแต่ตัว คนที่พาผมออกไปยังที่ชุมนุมก็คืออาจารย์สมบัติ ธํารงธัญวงศ์

 

     เวทีที่ใช้ปราศรัยหน้าวังเป็นรถสองแถวคันไม่ใหญ่นัก ใช้หลังคาเป็นที่ยืนพูด ผมก็ปีนขึ้นไปบนหลังคารถกับอาจารย์สมบัติ พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ผมก็อัญเชิญพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่สำนักพระราชวังเขาบันทึกไว้ แล้วขึ้นไปอ่านให้ที่ชุมนุมฟัง

     ผมก็ขึ้นไปอ่านพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว รายละเอียดเรื่องทั้งหมดอยู่ในหนังสือชื่อ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2516

     ผมก็อ่านสำเนาพระราชดำรัสและแถมท้ายว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแบบนี้ เหตุการณ์ยุติลงแล้ว ผมเห็นว่าพวกเราสมควรยุติการชุมนุมและกลับบ้านกันได้

     ผมบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวของท่านทั้งหลายไม่ได้บรรทมมา 7 วัน 7 คืนแล้ว เพราะเป็นห่วง รอฟังสถานการณ์บ้านเมือง พอผมพูดจบ ที่ประชุมก็ปรบมือกัน ใครก็ไม่ทราบเป็นต้นเสียงให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมๆ กัน คนแสนคนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกระหึ่มหันหน้าไปทางพระตำหนักจิตลดารโหฐาน ผมคุกเข่าลงร้องไห้ด้วยความปีติ

 

จงใจหรืออุบัติเหตุ? ชนวนเหตุความวิปโยค

     จากความปีติอยู่ได้ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ผมกำลังปีนกลับลงจากหลังคารถสองแถว ได้ยินเสียงระเบิดตูมขึ้นทีหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นนักเรียนอาชีวะคนหนึ่งพกระเบิดขวดในกระเป๋าแล้วระเบิดโดยอุบัติเหตุ ทีแรกได้ยินเสียงระเบิดก็ใจหายเลย นึกว่าจะเป็นสมรภูมิที่หน้าวัง แต่พอรู้ว่าเป็นแค่นั้นก็คิดว่าคงไม่มีอะไรมากกว่านั้น

     แต่ต่อมาอีกสักประเดี๋ยวเดียวก็ได้ยินเสียงตูม ตูม คราวนี้ไม่ใช่ระเบิดขวด แต่เป็นเสียงระเบิดแก๊สน้ำตา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนผู้ชุมนุมกำลังจะกลับโดยแยกย้ายกันเดินออกไปทุกทิศ

     ผู้ที่ประสบเหตุปะทะกับตำรวจนั้นคือผู้ที่เดินกลับจากวังไปทางถนนราชวิถี

     ผมมาทราบทีหลังว่าที่เกิดปะทะกันขึ้น เพราะตำรวจได้รับคำสั่งว่าให้ปิดทางไม่ให้ประชาชนผ่านทางนั้น

     ผู้ที่สั่งไม่ให้ประชาชนกลับบ้านจนเป็นเหตุให้ปะทะกันขึ้นคือ พล.ต.อ. ประจวบ สุนทรางกูร ขณะนั้นท่านเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้รับคำสั่งคือ พ.ต.ท. มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น  (ยศในเวลานั้น) ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต่อมาท่านได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ

     คุณมนต์ชัยรับคำสั่งจากคุณประจวบให้สกัดเอาไว้ ลงท้ายเลยปะทะกัน ตำรวจใช้กระบองกับแก๊สน้ำตา เกิดการตีกันขึ้นที่หน้าวัง

     พอเกิดการตีกันขึ้นก็เกิดข่าวปากต่อปากแจ้งว่าตำรวจฆ่านิสิตนักศึกษาที่หน้าวัง เท่านั้นเองการจราจลก็กระจายออกไปทั่วกรุงเทพฯ นี่คือที่มาของมหาวิปโยคที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

 

นิสิตนักศึกษาหนีทะลักเข้าไปในวัง

     เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผมอยู่ในวังด้านประตูพระวรุณอยู่เจนแล้วก็วิ่งไปที่ถนนราชวิถีที่ตำรวจขวางทางอยู่ ยังไปไม่ถึงเลยผมก็มองอะไรแทบไม่เห็นแล้ว เพราะมีแต่แก๊สน้ำตา

     ผมก็เอาผ้าเช็ดหน้าอุดจมูกวิ่งสวนตำรวจเข้าไป พอถึงนายตำรวจที่ควบคุมอยู่เขาก็ทำท่าจะไม่ให้ผมผ่าน ผมก็แสดงตัวว่าเป็นใคร และขอร้องให้ยุติและชี้แจงว่าเกิดความเข้าใจผิด แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ นายตำรวจคนนั้นมียศพันตำรวจเอกเท่าผม เขาทำแค่พยักหน้าเฉยๆ แต่ไม่เกิดอะไรขึ้น

     การปะทะกันที่หน้าสวนจิตรลดาเป็นไปอย่างรุนแรง มีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งวิ่งมาที่ประตูวังและขอให้เปิดประตูรับ แต่นายทหารไม่กล้าเปิด

     ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้เปิดประตูเข้ามา นิสิตนักศึกษาที่ทะลักเข้ามาในวังมีประมาณ 2,000 คน ผมก็ยืนรับอยู่ที่นั่น บางคนเข้ามาถึงก็มาต่อว่าผมว่าหลอกให้ไปถูกตี ผมบอกว่าไม่รู้เรื่องเลย ผมก็อยู่กับพวกคุณนี่แหละ  

     พอพระองค์ทรงทราบว่านิสิตนักศึกษาเข้ามาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมพระราชินีนาถ ก็ทรงมาเยี่ยมคนที่เข้าไปในวัง

     ในเวลาเดียวกันข้างนอกก็มีการปะทะต่อสู้ คนที่บาดเจ็บก็เป็นประชาชน มีตำรวจเจ็บบ้าง

 

มีพระราชดำรัสออกโทรทัศน์ เหตุการณ์จึงคลี่คลาย

     เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราก็ให้ฝ่ายทหารเป็นผู้ที่พยายามระงับเหตุภายนอก แล้วก็เป็นที่สังเกตว่าทหารไม่เต็มใจจะทำหน้าที่นั้น

     ผู้แทนนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งรับอาสาไปกับทหารเพื่อชี้แจงกับผู้ชุมนุมว่าบัดนี้อะไรต่ออะไรมันยุติลงแล้ว

     ปรากฏว่าที่ไปกันนี่ผู้แทนนิสิตนักศึกษาบอกว่าทหารไม่เต็มใจจะทำ แต่ก็พยายามทำ แล้วก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

     ในที่สุดการจราจลดำเนินไปจนถึงรุ่งเช้าจึงค่อยๆ ซาลง

     ด้วยสาเหตุว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์เอาเครื่องเข้าไปในวังเลย โดยพระองค์ชี้แจงให้คนฟังทราบว่าเหตุการณ์ยุติแล้ว

     คนที่ดูรายการโทรทัศน์วันนั้นจะเห็นว่าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเศร้าหมองอย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ผมเพิ่งเข้าไปอยู่ในวังได้ 3 ปี ไม่เคยเห็นพระพักตร์ของพระองค์เศร้าแบบนี้มาก่อน

     หลังจากที่รับสั่งแล้ว ผู้ที่ได้พูดกับประชาชนต่อมาคือสมเด็จพระบรมราชชนนี (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ผมเชื่อว่าการออกโทรทัศน์ของพระองค์เอง ทำให้สถานการณ์คลี่คลายสงบลงในที่สุด ยังเหลืออยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ ในเช้าวันที่ 15 ตุลาคม

 

ในความชุลมุนมักเต็มไปด้วยข่าวลือ

     ในบรรดานิสิตนักศึกษาที่อยู่ในวัง ทางวังได้จัดรถส่งตามจุดที่ต้องการ พร้อมหาอาหารใส่รถไปด้วย

     แต่ก็มีข่าวลือแปลกๆ เรื่อยๆ วันนั้นผู้นำนักศึกษาหญิงคือคุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ ซึ่งเข้าไปอยู่ในวังและขึ้นรถออกมาด้วยมีข่าวปล่อยว่าถูกยิงตาย แต่ผมตามออกไปดูเองก็เห็นคุณเสาวนีย์อยู่ในรถปกติเรียบร้อยดี

     พอนิสิตนักศึกษาออกจากวังหมดแล้ว เหตุการณ์เริ่มสงบ แต่หน้าที่ของผมยังไม่จบ นิสิตนักศึกษายังขอให้ผมอยู่ด้วยเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างทหารกับในวัง

     การเจรจาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาไม่เชื่อ แม้ว่าจะบอกว่ามาจากในวังเขาก็ไม่เชื่อ แต่ลงท้ายมันก็ค่อยๆ คลี่คลายสงบลง

 

     กรุงเทพฯ สงบแล้ว แต่ต่างจังหวัดยังไม่สงบ เช้าวันที่ 15 ตุลาคมนั้นเอง ได้รับข่าวทางวิทยุว่ามีนักเรียนมัธยมโรงเรียนประจำจังหวัดไปล้อมบังคับจะยึดโรงพักปากน้ำ สมุทรปราการ แล้วถูกตำรวจยิงได้รับบาดเจ็บ 2-3 คน คนก็ลุกฮือไปล้อมโรงพัก

     เขาก็ขอให้ผู้แทนนิสิตนักศึกษาจากกรุงเทพฯ เดินทางไปถึงปากน้ำ ทีแรกเข้าไปก็พูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะผู้แทนนิสิตนักศึกษาก็ไม่รู้จักกับนักเรียนจังหวัดสมุทรปราการ ถึงผมจะไปด้วยก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

     แต่สุดท้ายเราก็เอาแผ่นบันทึกเสียงข่าวและภาพที่พระองค์ทรงปราศรัยไปเปิดให้นักเรียนสมุทรปราการฟัง เหตุการณ์จึงสงบลงจนเด็ดขาด เหตุการณ์ที่ยังเหลืออยู่ เป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งผมนึกว่าจะไม่เกี่ยวแล้ว แต่ลงท้ายก็ไม่พ้น

 

ต้นกำเนิดนายกฯ พระราชทาน มาตรา 7

     หลังเหตุการณ์ จอมพล ถนอม กิตติขจร หนีไปต่างประเทศพร้อมจอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร มันก็กลายเป็นเมืองไทยว่าง รัฐบาล รัฐสภาก็ไม่มี

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

     เบื้องต้นทีเดียวอาจารย์สัญญาต้องทำความเข้าใจกับผู้แทนนิสิตนักศึกษาก่อน มีการตกลงกันหลายประการ เช่น เรื่องอภัยโทษ ค่าความเสียจากการได้รับบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งรัฐบาลก็รับหมด ผมเองเป็นคนกลางจึงต้องทำหน้าที่นั่นอยู่จนเหตุการณ์ต่างๆ ก็ยุติลง

     ช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลจอมพล ถนอม กับอาจารย์สัญญามีเหตุการณ์ที่น่าขบขันนิดหน่อยคือตำรวจไม่กล้าทำงาน กลัวนิสิตนักศึกษา ทาง ศนท. เลยตั้งเจ้าหน้าที่ติดต่อประจำทุกโรงพักสำหรับเป็นหน้าม้าให้สามารถเข้ากันได้กับชาวบ้าน

     คนสำคัญคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้จัดคนไปอยู่ตามโรงพักคือคุณกนก วงษ์ตระหง่าน ตอนนั้นเป็นนิสิตจุฬาฯ ออกทีวีใช้คำแรงไปหน่อยว่าบัดนี้ได้ส่งผู้แทนนิสิตนักศึกษาไปคุมโรงพักแล้ว คนก็ตกใจกันใหญ่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ถึงกับเขียนบทความประณามว่าไปยึดโรงพักได้อย่างไร

     พวกเราตอนนั้นก็ล้อเลียนคุณกนกว่า อธิบดีกนก

 

     “นี่คือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” พล.ต.อ. วสิษฐ ทิ้งท้าย

 

—————-

     อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ทำท่าจะจบลงด้วยดีแล้วนั้นเกิดจากความตั้งใจของฝ่ายใด หรือเป็นอุบัติเหตุ

     คำถามนี้ยังคงเป็นปริศนาต่อไป แต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้เปลี่ยนการเมืองไทย สถาปนาความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แม้หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เมืองไทยยังคงเกิดการรัฐประหารปกครองโดยทหารอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีคณะทหารใดจะคงอยู่ได้ยาวนานโดยไม่อ้างถึงหลักประชาธิปไตยและการคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้อีกเลย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising